ผู้ตายไม่มีหลักฐานว่าชื่อใดแต่ญาติยืนยันชื่อ: จะทำอย่างไรดีในขณะชันสูตรพลิกศพ

ผู้ตายไม่มีหลักฐานว่าชื่อใดแต่ญาติยืนยันชื่อ: จะทำอย่างไรดีในขณะชันสูตรพลิกศพ

Deceased Without Any Definite Name Document But Confirmed By Relatives: How Could Be Done During Post-Mortem Inquest

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์* *รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การที่แพทย์ต้องออกชันสูตรพลิกศพ ณ ที่ที่พบศพตามหน้าที่ที่ถูกมอบหมายให้กระทำนั้น โดยทั่วไปเป็นหน้าที่ของแพทย์ตามกฎหมาย1 ซึ่งให้จังหวัดที่ใหญ่และมีแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์แล้ว แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์จะทำหน้าที่นี้ แต่ในต่างจังหวัดนั้นมักจะเป็นไปตามภาระหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้จากทาง “โรงพยาบาล” ที่แพทย์ดังกล่าวสังกัดอยู่ในท้องที่ที่มีการตายเกิดขึ้น และแน่นอนที่สุดว่าต้องถือว่าแพทย์ดังกล่าวเป็น “เจ้าพนักงาน”1 ด้วย โดยภาระหน้าที่ที่แพทย์ต้องกระทำก็คือ “การชันสูตรพลิกศพ” เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย (มาตรา 154) นั่นเอง1 และโดยทั่วไปอีกนั้นเองที่แพทย์สามารถทำการชันสูตรพลิกศพได้โดยง่ายเพราะแพทย์ได้ผ่านการเรียนรู้งานด้านนิติเวชศาสตร์ในขณะศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ในโรงเรียนแพทย์แล้ว โดยหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตต้องเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานฯ2 และเกณฑ์ความรู้ฯ3 ที่แพทยสภาอันเป็นองค์กรวิชาชีพที่กฎหมายกำหนดไว้4 ซึ่งแพทย์สามารถทำได้อย่างถูกต้องไม่ว่าจะเป็นการทำเอกสารในการชันสูตรพลิกศพ การเก็บพยานหลักฐาน (รวมถึงภาพถ่ายของศพ) และอื่น ๆ

แต่แล้วปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพโดยที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็คือ การที่แพทย์ไปทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายที่บ้านหรือที่รโหฐานซึ่งเป็นที่พำนักของผู้ตายนั้น โดยมีญาติจำนวนมากอยู่ด้วย แต่ผู้ตายไม่มีหลักฐานใด ๆ เลยที่ระบุว่าผู้ตายชื่อใด แต่ญาติทั้งหลาย “ยืนยัน” อย่างมั่นเหมาะว่า “ผู้ตายชื่อดังกล่าว” เช่นนี้แพทย์จะดำเนินการอย่างไรดี

…………..หากพนักงานสอบสวนยืนยันว่า “ผู้ตายมีชื่อดังกล่าว” แพทย์ย่อมสามารถระบุชื่อผู้ตายว่าชื่อดังกล่าวได้ (แต่มิใช่ระบุชื่ออย่างลอย ๆ) ให้แพทย์ระบุไว้ถึงเหตุที่แพทย์ให้ชื่อผู้ตายว่า “เป็นชื่อดังกล่าว” นั้นเป็นเพราะ “พนักงานสอบสวนยืนยันว่าผู้ตายมีชื่อดังกล่าว” ในที่นี้ใช้หลักฐานคือ รายงานชันสูตรพลิกศพของพนักงานสอบสวน (ใบร่วมชันสูตร) โดยให้แพทย์เขียนข้อความประการหนึ่งประการใดไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อแสดงว่ามิใช่แพทย์ให้ชื่อดังกล่าวตามอำเภอใจ…………………….ฯลฯ

 

อุทาหรณ์ (รายงานผู้ตาย 1 ราย) (ภาพที่ 1)

ผู้ตายเป็นชายชรา ญาติแจ้งว่าพบว่าผู้ตายนอนตายบนเตียงในบ้านเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. จึงได้แจ้งพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) และพนักงานสอบสวนได้แจ้งแก่แพทย์ผู้มีหน้าที่ (แพทย์ทางด้านนิติเวชศาสตร์) มาร่วมชันสูตรพลิกศพ ณ ที่ที่พบศพผู้ตาย (ที่บ้าน)

เมื่อแพทย์ผู้มีหน้าที่ได้รับแจ้งเพื่อการชันสูตรพลิกศพ ทีมแพทย์ดังกล่าวจึงออกไปเพื่อการชันสูตรพลิกศพ ณ ที่บ้านที่พบศพผู้ตาย เมื่อเวลา 14.40 น. พร้อมกับพนักงานสอบสวนผู้มีหน้าที่

การชันสูตรพลิกศพ:

- ศพชายอายุประมาณ 80 ปี รูปร่างท้วม ตัวยาวประมาณ 170 เซนติเมตร มีผมขาวโพลน ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร (ภาพที่ 2)

- ผู้ตายมีรอยสักที่บริเวณต้นแขนซ้าย

- ผู้ตายนอนบนเตียงเตี้ย มีฟูกรอง หนุนด้วยหมอน และคลุมด้วยผ้าคลุมสีน้ำเงิน (ภาพที่ 1)

- ผู้ตายสวมเสื้อแขนสั้นสีฟ้า

- ศพแข็งตัวปานกลาง พบเลือดตกลงสู่เบื้องต่ำภายหลังเสียชีวิตที่หลังได้ปานกลาง

- ศพค่อนข้างซีด แต่ไม่เขียวทั้งที่ปลายมือและที่ริมฝีปาก

- แขนและขาอยู่ในสภาพเหยียด (ไม่หัก) แต่มีสภาพแขนขวาลีบ งอที่ศอกติดเกร็ง แสดงถึงสภาพอัมพาต และขาขวาลีบ

- คอ รอบคอ ไม่พบบาดแผล หรือรอยกดรัด

- ไม่พบเลือดออกที่เยื่อบุตา แขน ขา ลำตัว

- พบบาดแผลกดทับที่บริเวณก้นกบเล็กน้อย

- พบสายปัสสาวะจากการเปิดที่หน้าท้องไว้เนื่องจากผู้ป่วยมีต่อมลูกหมากโต (ภาพที่ 3)

- ด้านหลังของร่างกายปกติ (ภาพที่ 4)

สาเหตุที่ตาย

ชราภาพ

พฤติการณ์ที่ตาย

จากโรค (สภาพ) ธรรมชาติ

วิเคราะห์และวิจารณ์

ประการที่ 1: การชันสูตรพลิกศพของแพทย์ตามหน้าที่

แพทย์ย่อมต้องมีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย1 อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ กรณีที่มีการตายผิดธรรมชาติและแพทย์ดังกล่าวเป็นแพทย์ในลำดับหนึ่งลำดับใดในกฎหมาย และถูกจัดให้ต้องอยู่ปฏิบัติงานตามหน้าที่

มาตรา 1481 เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย

การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ

() ฆ่าตัวตาย

() ถูกผู้อื่นทำให้ตาย

() ถูกสัตว์ทำร้ายตาย

() ตายโดยอุบัติเหตุ

() ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ”

มาตรา 150 ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทำการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา……………ฯลฯ”

 

ประการที่ 2: เอกสารที่แพทย์ต้องกระทำในขณะที่ทำการชันสูตรพลิกศพ

เมื่อแพทย์ร่วมทำการชันสูตรพลิกศพกับเจ้าพนักงานอื่นตามหน้าที่แล้ว แพทย์จะต้องทำเอกสารตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามเวลาที่ถูกกำหนดไว้ด้วย

1. บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ (ภาพที่ 5)

เอกสารนี้เป็นเอกสารที่แพทย์กระทำขึ้น โดยแพทย์ต้องทำทันทีภายหลังจากการชันสูตรพลิกศพ ณ ที่ที่ศพอยู่ และให้มีการลงนามโดยเจ้าพนักงานอื่นที่ร่วมในการชันสูตรพลิกศพด้วย

ก. หากเป็น 2 ฝ่ายจะลงนามร่วมโดยพนักงานสอบสวน

ข. หากเป็น 4 ฝ่ายจะลงนามร่วมโดยพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครอง

หมายเหตุ:

1. บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพนี้แท้ที่จริงก็คือ “รายงานการชันสูตรพลิกศพที่แพทย์เป็นผู้ดำเนินการนั่นเอง” แต่กฎหมายบัญญัติให้เรียกเอกสารนี้ว่า “บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ” แทนการเรียกชื่อว่า “รายงานการชันสูตรพลิกศพ หรือบันทึกการชันสูตรพลิกศพ”1

2. รายงานแนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพนั้น แพทย์ยังไม่มีความจำเป็นต้องกระทำ ณ ที่ที่พบศพหรือชันสูตรพลิกศพ (ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมาย)1 เพราะหากแพทย์ประสงค์จะทำย่อมสามารถทำได้ภายใน 7 วันข้างหน้า

2. รายงานชันสูตรพลิกศพ (ใบร่วมชันสูตรพลิกศพ) (ภาพที่ 6)

เป็นเอกสารที่พนักงานสอบสวนเป็นผู้ดำเนินการทำขึ้น และให้แพทย์เข้าร่วมในการลงนามในฐานะที่ “ร่วมกันชันสูตรพลิกศพ” ซึ่งแบบฟอร์มดังกล่าวนี้เป็นแบบฟอร์มของพนักงานสอบสวน

เมื่อทำการชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้ว การชันสูตรพลิกศพนั้นอาจสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพก็ได้ ทั้งนี้

. หากสมบูรณ์ หมายถึง การที่แพทย์ได้ทราบหรือพึงพอใจในการชันสูตรพลิกศพ และบรรลุวัตถุประสงค์แห่งการชันสูตรพลิกศพ (มาตรา 154) แล้ว แพทย์ย่อมสามารถ (จำเป็นต้องออกเอกสาร) ออกเอกสารคือ “ใบรับแจ้งการตาย” หรือ ทร.4 (ตอนหน้า) ซึ่งด้านหลังคือ “ข้อสันนิษฐานสาเหตุการตายโดยแพทย์” เพื่อใช้ในการทำมรณบัตรต่อไป5

. หากไม่สมบูรณ์ หมายถึง แพทย์ยังคงไม่ทราบหรือไม่บรรลุถึงวัตถุประสงค์แห่งการชันสูตรพลิกศพในประการหนึ่งประการใดแล้ว จำเป็นที่แพทย์จะต้องให้มีการส่งศพเพื่อการตรวจต่อ (มาตรา 151 และมาตรา 152)1 และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว แพทย์จะออกเอกสารให้คือ “หนังสือรับรองการตาย (ทร.4/1)” นั่นเอง ซึ่งนำไปประกอบเพื่อทำ “มรณบัตร”5 ต่อไป

หมายเหตุ:

เอกสารที่แพทย์ต้องดำเนินการทำขึ้นนั้นจะต้องทราบถึงชื่อของผู้ตาย (ผู้เสียชีวิต) อย่างแท้จริงโดยมีเอกสารกำกับหรือพิสูจน์ได้ หากยังไม่มีเอกสารพิสูจน์แล้วแพทย์ย่อมระบุชื่อได้แต่เพียง “ไม่ทราบชื่อ เช่น ชายไม่ทราบชื่อ” เป็นต้น

 

ประการที่ 3: การที่แพทย์ต้องทำเอกสารโดยไม่ทราบชื่อผู้ตาย

การที่แพทย์ได้ทำการชันสูตรพลิกศพจนสามารถทราบถึงสาเหตุที่ตาย และ/หรือพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเป็นพฤติการณ์แห่งการตายอย่างแท้จริงแล้ว แต่ติดขัดด้วย “ชื่อของผู้ตาย” กล่าวคือ ผู้ตายไม่มีเอกสารใด ๆ ที่ระบุยืนยันถึงตัวตนเอง (ผู้ตาย) ไม่ว่าจะเป็นบัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ หรือเอกสารอื่นใดที่ทางราชการออกให้เพื่อยืนยันว่าผู้ตายคือใคร อีกทั้งในทะเบียนบ้านที่เป็นชื่อของลูกก็ยังมิได้มีการระบุว่าผู้ตายคือบิดา (ซึ่งน่าแปลกใจยิ่งนัก) เสมือนกับว่า “ผู้ตายไม่มีตัวตนเช่นนั้น” และประการในเรื่องผู้ตายคือใคร (ชื่อใดนี้) ต้องถือว่าเป็นประการสำคัญประการหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 154 ด้วย1 เช่นนี้แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพจะกระทำอย่างไร

หมายเหตุ:

การไม่ปรากฏชื่อของผู้ตาย (ศพ) ที่แพทย์ไปชันสูตรพลิกศพนั้น พบได้ไม่มากแต่ยังคงพบได้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันนี้ที่มีบุคคลที่อยู่ในประเทศรอบ ๆ ประเทศไทยแอบหนี (ลักลอบ) เข้ามาในประเทศไทยเพื่อหางานทำโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ เลย

แนวทางปฏิบัติโดยทั่วไป

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายโดยไม่ทราบว่าผู้ตายชื่อใด สิ่งที่แพทย์พึงกระทำในเอกสารการชันสูตรพลิกศพ (บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ) ก็คือ ระบุว่า “ผู้ตายไม่ทราบชื่อ เช่น ชายไทยไม่ทราบชื่อ” และให้พนักงานสอบสวนนำศพดังกล่าว (ที่ไม่ทราบชื่อนั้น) เข้ามาทำการตรวจต่อ ณ โรงพยาบาลหรือสถานที่ที่สามารถทำการตรวจศพได้ (ตามมาตรา 151 และมาตรา 152)1 จะถือว่าเป็นการปลอดภัยที่สุดสำหรับแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ โดยพนักงานสอบสวนจะต้องเขียนเอกสารนำส่งศพ (ใบนำส่งผู้บาดเจ็บหรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตร) มาพร้อมกับศพเสมอ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการชันสูตรพลิกศพที่บ้านของผู้ตายซึ่งมีทายาทอยู่จำนวนมากและทายาทเหล่านั้นให้การยืนยันว่า “ผู้ตายชื่อหนึ่งชื่อใด” แล้ว หากแพทย์ยังคงระบุไปว่า “ผู้ตายไม่ทราบชื่อแล้ว” ย่อมจะทำให้เกิดปัญหากับทายาททันที ทั้งนี้เพราะเอกสารดังกล่าวเมื่อไม่ได้ระบุชื่อผู้ตายไว้จะเป็นผลให้การออกเอกสารต่อมาไม่สามารถดำเนินการได้ด้วย ไมว่าจะเป็น ใบรับแจ้งการตาย (ทร.4 ตอนหน้า) หรือหนังสือรับรองการตาย (ทร.4/1) ซึ่งเป็นเอกสารที่มีความจำเป็นในการใช้แสดงต่อนายทะเบียนท้องที่ (เขต/อำเภอ) เพื่อให้นายทะเบียนออกเอกสารคือ “มรณบัตร” ตามกฎหมาย5 และหากเป็นกรณีดังกล่าวนี้อาจเกิดการพิพาทขึ้นระหว่างแพทย์กับ “บรรดาญาติของผู้ตาย” ณ ที่ที่ทำการชันสูตรพลิกศพได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อแพทย์อย่างแน่นอน แพทย์ย่อมต้องหาทางออกให้เหมาะสมได้โดยให้พนักงานสอบสวนยืนยันชื่อดังกล่าว (เป็นการอ้างอิงพนักงานสอบสวน) นั่นเอง

หมายเหตุ:

กรณีที่แพทย์ระบุชื่อผู้ตายซึ่งไม่ทราบชื่อว่า “ผู้ตายไม่ทราบชื่อ เช่น ชายไม่ทราบชื่อ” และให้นำศพเข้ามารับการตรวจต่อแล้ว หากเป็นการตรวจศพต่อ (มาตรา 152) และแพทย์จะต้องทำ “รายงานการตรวจศพ” ต่อมาแพทย์จะระบุชื่อผู้ตายประการใดนั้น ให้ดำเนินการดังนี้

ก. กรณีที่มีเอกสารจากพนักงานสอบสวนมาถึงแพทย์ที่ทำการตรวจศพ (มาตรา 152) ว่าศพที่ทำการชันสูตรพลิกศพ ณ วันเวลาดังกล่าว (ระบุ) นั้น ผู้ตายที่ไม่ปรากฏชื่อเบื้องต้นนั้น ชื่อว่า “ชื่อหนึ่งชื่อใดแล้ว” แพทย์ย่อมสามารถที่จะระบุชื่อผู้ตายที่ได้ทำการตรวจนั้นในเอกสารของแพทย์คือ “รายงานการตรวจศพ” ได้เลย เพราะมีเอกสารจากพนักงานสอบสวนกำกับอยู่แล้ว

ข. กรณีที่ไม่มีเอกสารอื่นใดระบุให้แพทย์ได้รับทราบ (จนเป็นที่น่าพอใจ) ว่า ผู้ตายดังกล่าวชื่อใดแล้ว แพทย์ยังคงต้องระบุชื่อในเอกสาร “รายงานการตรวจศพ” ว่า “ไม่ปรากฏชื่อ เช่น ชายไม่ปรากฏชื่อ” อยู่นั่นเอง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการทำเอกสารของแพทย์

แนวทางปฏิบัติที่พนักงานสอบสวนยืนยัน

หากพนักงานสอบสวนยืนยันว่า “ผู้ตายมีชื่อดังกล่าว” แพทย์ย่อมสามารถระบุชื่อผู้ตายว่าชื่อดังกล่าวได้ (แต่มิใช่ระบุชื่ออย่างลอย ๆ) ให้แพทย์ระบุไว้ถึงเหตุที่แพทย์ให้ชื่อผู้ตายว่า “เป็นชื่อดังกล่าว” นั้นเป็นเพราะ “พนักงานสอบสวนยืนยันว่าผู้ตายมีชื่อดังกล่าว” ในที่นี้ใช้หลักฐานคือ รายงานชันสูตรพลิกศพของพนักงานสอบสวน (ใบร่วมชันสูตร) (ภาพที่ 6) โดยให้แพทย์เขียนข้อความประการหนึ่งประการใดไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อแสดงว่ามิใช่แพทย์ให้ชื่อดังกล่าวตามอำเภอใจ (ในอุทาหรณ์ข้างต้นใช้ข้อความว่า “ตามเอกสารพนักงานสอบสวน”) (ภาพที่ 6)

เหตุผลที่แพทย์จำเป็นต้องระบุถึงที่มาแห่งชื่อเนื่องจากเมื่อผู้ตายไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าผู้ตายชื่ออะไร การที่แพทย์ระบุชื่อผู้ตายโดยไม่ทราบว่าผู้ตายชื่อใด (เพราะไม่มีหลักฐานแสดงชื่อปรากฏต่อแพทย์) หากแพทย์ยังยืนยันว่าเป็นชื่อดังกล่าวอีกย่อมเท่ากับว่าแพทย์ออกเอกสาร “โดยไม่มี (ไม่เป็นไป) ตามมาตรฐานทางการแพทย์”2,3 อันอาจเข้าข่ายการดำเนินการออกเอกสารโดยไม่สุจริต และอาจเข้าข่ายผิดจริยธรรมทางการแพทย์ได้6 หรืออาจถูกมองว่าแพทย์ร่วมกับพนักงานสอบสวน (ทั้งคู่เป็นเจ้าพนักงาน)1 ร่วมมือกันในการระบุชื่อให้มีผู้ตายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หมายเหตุ:

1. การที่แพทย์ได้ทราบหรือเห็นว่าพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ได้ระบุชื่อผู้ตายว่าชื่อใดแล้ว หาเป็นการเพียงพอที่แพทย์จะระบุชื่อผู้ตายไว้ใน “บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ” เลยได้ไม่ (เชื่อว่าผู้ตายมีชื่อดังกล่าว) ทั้งนี้เพราะอาจถูกตั้งข้อสังเกตหรือสันนิษฐานว่า “แพทย์และพนักงานสอบสวนร่วมมือกันในการออกเอกสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ได้ ทั้ง ๆ ที่แพทย์กระทำการอย่างบริสุทธิ์ใจก็ตาม

2. การที่แพทย์ระบุไว้ในส่วนท้ายของชื่อของผู้ตายที่ถูกระบุให้ชื่อดังกล่าวนั้นว่า “ตามเอกสารพนักงานสอบสวน” ย่อมเท่ากับว่า แพทย์ยืนยันชื่อเนื่องจาก “พนักงานสอบสวนยืนยันตามนั้น” นั่นเอง เป็นหลักฐานประการสำคัญประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า แพทย์มิได้เป็นผู้ริเริ่มในการให้ชื่อของผู้ตายเป็นชื่อดังกล่าว แต่มีที่มาที่ไปแห่งชื่อดังกล่าวตาม “เอกสารของพนักงานสอบสวน” ซึ่งในกรณีอุทาหรณ์นี้คือ “รายงานการชันสูตรพลิกศพ” นั่นเอง

สรุป

การชันสูตรพลิกศพที่แพทย์ต้องดำเนินการตามหน้าที่ร่วมกับเจ้าพนักงานอื่น (สองหรือสี่ฝ่ายแล้วแต่กรณี) นั้น หากแพทย์พบว่าผู้ตายไม่ปรากฏชื่อใดแล้ว ในทางปฏิบัติที่ง่ายและปลอดภัยที่สุดก็คือ ให้ระบุไว้ในเอกสารการชันสูตรพลิกศพ (บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ) ว่า “ผู้ตายไม่ทราบชื่อ” เช่น ชายไทยไม่ทราบชื่อ เป็นต้น แต่หากพนักงานสอบสวนยืนยันว่าผู้ตายมีชื่อใด (ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐาน) แล้วแพทย์ย่อมอาศัยการอ้างอิงเอกสารของพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ว่าชื่อดังกล่าว โดยให้ระบุไว้ในเอกสารที่แพทย์ได้ออกในขณะชันสูตรพลิกศพจะทำให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของแพทย์ได้

เอกสารอ้างอิง

1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf

2. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”.

3. ประกาศแพทยสภา ที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555.

4. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.

5. พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108/ตอนที่ 203/ฉบับพิเศษ หน้า 97/22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534

6. ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549. http://www.tmc.or.th/service_law02_17.php