นวัตกรรมใหม่ Biomarker ยีนบ่งชี้ช่วยยืดอายุผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

 

นวัตกรรมใหม่ Biomarker ยีนบ่งชี้ช่วยยืดอายุผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

ผศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

โรคมะเร็งที่พบมากในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ส่วนในผู้หญิงที่พบมากที่สุด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา “มะเร็ง” กลายเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตประชากรโลกไปมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี อย่างไรก็ดี แม้ว่าอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งจะต่ำกว่าโรคอุบัติเหตุหรือโรคหัวใจก็ตาม แต่การรณรงค์เพื่อป้องกันโรคหัวใจและอุบัติเหตุนั้นสามารถทำได้ผลดีทั่วโลก จึงทำให้การตายจากทั้งสองโรคนี้ลดลงอย่างเป็นที่น่าพึงพอใจ ต่างจากโรคมะเร็งที่จากรายงานข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2554 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งถึงวันละ 156 ราย หรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย

นอกจากนั้นยังคาดว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 118,600 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี พ.ศ. 2573 หรืออีก 19 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยใหม่ 21.3 ล้านคน และจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 13 ล้านคน โรคมะเร็งที่พบมากในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ส่วนในผู้หญิงที่พบมากที่สุด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในประเทศไทยนั้น สาเหตุการตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักพบมากเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด โดยที่อุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนั้นยังพบน้อยกว่ามะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ผลการรักษาและการป้องกันไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จึงทำให้สาเหตุการตายจากโรคมะเร็งนี้สูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

ความจริงแล้วมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจำนวนมากที่เสียชีวิตจากโรคนี้ก่อนวัยอันสมควรเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เนื่องจากโรคนี้ในระยะแรกจะไม่มีอาการใด ๆ ต่อมาเมื่อมีอาการเลือดออกปนกับมูกและอุจจาระ หรือมีอุจจาระก้อนเล็กลง หรือมีอาการลำไส้ใหญ่อุดตัน ก็มักจะมีการกระจายของโรคมะเร็งออกไปสู่ต่อมน้ำเหลืองหรือไปที่ตับแล้วทำให้ผลการรักษาให้หายขาดอาจไม่สามารถทำได้ทุกราย

ผู้ที่เป็นโรคนี้จำนวนมากไม่มีอาการให้เห็นในระยะแรก จนกว่าก้อนมะเร็งจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ หากตรวจพบก้อนมะเร็งในระยะเริ่มแรกหรือพบในขณะที่เป็นติ่งเนื้องอก ผลการรักษาจะดีและมีโอกาสหายขาดได้ โดยอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบบ่อย ได้แก่ อาการถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด มีการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ท้องผูกสลับกับท้องเสีย อาการอื่น ๆ ที่อาจจะพบได้คือ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนต้นอาจตรวจพบว่ามีอาการซีด ซึ่งเกิดจากการเสียเลือดโดยที่ไม่มีเลือดออกในอุจจาระให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า อาจคลำพบก้อนที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา ผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของลำไส้ใหญ่อุดตัน ซึ่งจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน และถ่ายอุจจาระหรือผายลมลดลง

เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล การรักษาตามแนวทางเดิมอาจมีข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือมีการตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่เป็นที่น่าพอใจนัก แนวทางการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักยุคใหม่จึงเน้นความจำเพาะต่อบุคคลมากขึ้น (Personalized Therapy) อย่างที่เป็นที่รู้กันว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะเริ่มแรกมักไม่แสดงอาการให้เห็น การตรวจ “Biomarker ยีนบ่งชี้” มีความสำคัญต่อการวางแผนการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการคาดคะเนผลการรักษาได้ล่วงหน้าซึ่งจะเป็นประโยชน์มากขึ้น ช่วยให้แพทย์สามารถที่จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน ทำให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อยาได้ดีขึ้น

ถ้าจะเข้าใจ “Biomarker ยีนบ่งชี้” ต้องเข้าใจเรื่องวิวัฒนาการในการรักษาโรคมะเร็ง สมัยก่อนเมื่อ 50 ปีที่แล้ว การรักษามะเร็งเป็นการรักษาแบบเหวี่ยงแห คนไข้ทุกคนใช้การรักษาเหมือนกันหมด เช่น การใช้ยาเคมีบำบัดก็จะทำลายทั้งเซลล์ดีและเซลล์ไม่ดี เป็นการรักษาแบบไม่จำเพาะ แต่ต่อมาเมื่อช่วง 10 ปีที่แล้ว เราเริ่มรู้ว่าคนไข้แต่ละคนแม้เป็นโรคเดียวกัน แต่การรักษาไม่เหมือนกัน โดยการตรวจ “Biomarker ยีนบ่งชี้” ทำให้เรารู้ว่าคนไข้แต่ละคนควรรักษาอย่างไร Biomarker สามารถทำนายการตอบสนองต่อยารักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จึงทำให้รักษาหายขาดหรือยืดอายุผู้ป่วยให้ยาวนานขึ้นได้

ซึ่งตอนนี้ในประเทศไทยสามารถทำได้ในโรงเรียนแพทย์แล้วทุกแห่ง สำหรับผู้ที่สนใจสามารถตรวจ “Biomarker ยีนบ่งชี้” ได้ที่โรงพยาบาลชั้นนำทุกแห่ง หรือสามารถติดต่อศูนย์ Chula GenePRO (โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์) โทรศัพท์ 0-2256-4000 ต่อ 3638, 08-9922-9501 และสถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0-2354-8208-15 ต่อ 212