ทฤษฎีความสนุก (The fun theory)

ทฤษฎีความสนุก (The fun theory)

ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน

ฉันเคยไปเรียนเรื่องงานคุณภาพที่วิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองไฮเดอราบัด ณ ประเทศอินเดีย นาน 1 เดือน ทุกวันฉันต้องเข้าเรียนตั้งแต่ 9.00-16.00 น. เหมือนกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง

สภาพห้องเรียนมีเก้าอี้และโต๊ะเพื่อเขียนหนังสือจำนวน 30 ที่ พร้อมกับมีเครื่องฉายสไลด์อยู่ด้านหน้าห้องเรียน

บ่ายวันหนึ่งที่น่าง่วงเหงาหาวนอน ทันใดนั้นมีครูที่เป็นชายสูงวัยท่านหนึ่งเดินเข้ามาสอน ทันทีที่เขาปรากฏกายขึ้นมาก็ทำให้ผู้เข้าเรียนทั้งชั้นพากันตื่นตัวขึ้นอย่างสนใจในบุคลิกท่าทางของเขา

ครูอินเดียท่านนี้แต่งตัวด้วยเสื้อเชิ้ตและกางเกงที่ดูธรรมดามาก ไม่ได้แต่งกายด้วยสูทหรือชุดประจำชาติอินเดียเหมือนคนอื่น ๆ แต่ที่สำคัญคือ เขาเดินเท้าเปล่าเข้ามาสอน !!!!

ครูผู้ดูแลแนะนำว่า ครูอินเดียท่านนี้เป็นครูผู้ชำนาญเรื่องงานคุณภาพมายาวนานมาก

ทันทีที่เริ่มต้นสอนก็พบว่ากลวิธีการสอนนั้นสนุกสนานมาก

ครูท่านนี้ก็เริ่มด้วยเรื่องเล่าดังนี้… ครั้งหนึ่งครูท่านนี้ได้รับมอบหมายให้ไปตรวจคุณภาพการกำจัดน้ำเสียของโรงงานแห่งหนึ่ง เขาจึงเริ่มต้นไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านรอบ ๆ โรงงานเพื่อดูว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างไรต่อการกำจัดของเสียของโรงงานแห่งนั้น

ทันทีที่เขาเหยียบเข้าไปในหมู่บ้านก็ได้กลิ่นเหม็นฉุนอย่างรุนแรงออกมา จนต้องรีบคว้าผ้ามาปิดจมูกเอาไว้ อย่างไรก็ดี เขายังคงเดินหน้าไปถามชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นต่อไป

มีชาวบ้านรายหนึ่งเดินผ่านมา เขาจึงเข้าไปพูดคุยด้วย ชาวบ้านรายนั้นเล่าว่า

“หมู่บ้านนี้ปกติดีและไม่มีกลิ่นเหม็นอะไร”

ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่ครูอินเดียท่านนี้เป็นอย่างมาก แต่หลังจากจบคำตอบ ชาวบ้านรายนั้นก็คว้าผ้าที่ห้อยคอขึ้นมาคลุมปากและจมูก พร้อมกับพูดคุยเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในหมู่บ้านต่อไปเรื่อย ๆ

ครูจึงถามชาวบ้านว่า “ถ้าคุณไม่ได้กลิ่นเหม็น แล้วทำไมต้องเอาผ้ามาปิดปากและจมูกด้วย”

ชาวบ้านแสดงท่าทางประหลาดใจในคำถามนี้ ก่อนที่จะตอบว่า “ไม่ได้เหม็นอะไร แต่ใช้ผ้าปิดปากและจมูกกันจนเคยชินอยู่แล้ว คนอื่น ๆ ทั้งหมู่บ้านก็ทำกัน ไม่เห็นมีอะไรแปลกเลย”

ครูจบเรื่องเล่าลง พร้อมกับเดินไปตามโต๊ะของนักเรียนแต่ละคนเพื่อถามว่า “คิดอย่างไรกับเรื่องเล่านี้”

นักเรียนต่างพากันตอบไปต่าง ๆ นานา จนในที่สุดครูก็เฉลยให้ฟังว่า

“คนในหมู่บ้านนี้อยู่ใกล้กับโรงงานที่ส่งกลิ่นเหม็นมานานหลายชั่วอายุคน จนกระทั่งเขาชินกับกลิ่นฉุนเหล่านั้นจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว”

งานในโรงพยาบาลก็เช่นกัน ผู้คนทำงานตามหน้าที่ซ้ำไปซ้ำมาจนเกิดเป็นความเคยชิน และไม่เห็นความจำเป็นหรือไม่เข้าใจว่าจะพัฒนาอะไร ก็ในเมื่อทำเช่นนี้ตาม ๆ กันมาตลอดอยู่แล้ว พอเราเริ่มพูดถึงมาตรฐานหรือคุณภาพของงานในการพัฒนาจึงทำให้ผู้คนเหล่านี้แปลกใจและไม่เข้าใจ

ดังนั้น การนำมาตรฐานหรือคุณภาพงานต่าง ๆ เข้ามาใช้เพื่อปรับปรุงพัฒนางานจึงจำต้องทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญก่อน ดังเช่น การทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่ากลิ่นเหม็นฉุนนั้นเป็นความผิดปกติก็จะทำให้พวกเขาพากันตื่นตัวเพื่อแก้ไขปัญหาโรงงานตามมา

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาหรือพฤติกรรมของคนอาจลองใช้ทฤษฎีความสนุกเข้าไปก็จะยิ่งชักชวนให้ผู้คนอยากเข้าร่วมมากขึ้น

บริษัท Volkswagenในประเทศเยอรมนีได้จัดการประกวด fun theory ขึ้นในปี ค.ศ. 2011 โดยเขาเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่ดีของผู้คนได้ด้วยการใช้ความสนุกมาช่วย

ในการประกวดครั้งนั้นมีงานที่น่าสนใจหลายงาน ดังเช่น

บันไดเปียโน เป็นความคิดที่อยากกระตุ้นให้ผู้คนที่มาใช้บริการของสถานีรถไฟใต้ดินนิยมใช้บันไดเพื่อเดินขึ้นมาแทนการใช้ลิฟต์ ทีมงานจึงได้พากันระบายสีที่บันไดให้เป็นเหมือนคีย์เปียโน จนทำให้ผู้คนพากันเดินไปบนบันไดราวกับได้เดินไปบนคีย์เปียโนอย่างสนุกสนาน จนทำให้อัตราการเดินขึ้นบันไดมากขึ้นตามลำดับ

 

หรืออีกงานหนึ่งคือ ถังขยะที่ลึกที่สุดในโลก ทีมงานต้องการกระตุ้นให้ผู้คนทิ้งขยะลงถังให้มากขึ้น ทีมงานจึงนำเทปเสียงไปใส่ในถัง ทันทีที่มีคนทิ้งขยะลงไปในถังก็จะมีเสียงวี้ดดังยาวนานราวกับทิ้งของลงจากที่สูง เสียงวี้ดดังอยู่นานมากกว่าจะได้ยินเสียงตุ้บ อันแสดงว่าของตกถึงพื้นแล้ว ทุกครั้งที่คนทิ้งขยะลงไปก็จะพากันประหลาดใจราวกับว่าถังขยะนี้ลึกมาก ๆ อันทำให้ผู้คนต่างพากันทิ้งขยะลงถังกันมากขึ้น

ปัจจุบันโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงมีมากขึ้น ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง

ในการพัฒนางานคุณภาพด้านหนึ่งคือ ด้านส่งเสริมสุขภาพของผู้ป่วยจึงนับเป็นงานยากอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยหลายรายเข้าใจว่าการเป็นโรคนั้นไม่ดี แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นต้องใช้กำลังใจและการเสริมพลังให้แก่ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

ถ้าเราใส่ทฤษฎีความสนุก (the fun theory) เข้าไปก็จะยิ่งเสริมพลังให้ผู้ป่วยอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอีกกลวิธีหนึ่งคือ ให้จัดกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน โดยนำผู้ป่วยกลุ่มโรคเดียวกันมาพูดคุยช่วยเหลือกันเองก็จะทำให้การส่งเสริมสุขภาพเป็นไปอย่างสนุกสนานและต่อเนื่อง

โรงพยาบาลแห่งหนึ่งจึงคิดนำผู้ป่วยกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง มารวมกลุ่มกันเป็นชมรมหัวอกเดียวกัน โดยทุกครั้งที่ผู้ป่วยรายใดสามารถควบคุมอาการของโรคได้ดีก็จะได้สติ๊กเกอร์อมยิ้ม 1 ดวงอยู่ในสมุดบันทึก และเมื่อครบ 3 ดวงก็จะได้รางวัลพร้อมกับนำวิธีการดี ๆ มาเล่าให้กลุ่มฟัง จนเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

นอกจากนี้ก็อาจนำวงล้อที่มีภาพอาหารเกี่ยวกับสุขภาพมาหมุน แล้วเมื่อลูกศรตกไปอยู่ที่อาหารช่องใดก็ให้ผู้ป่วยในชมรมอธิบายคุณค่าของอาหารเหล่านั้น หรืออาจเปลี่ยนเป็นภาพโรคอ้วน โรคแทรกซ้อนของเบาหวานเพื่อให้ผู้ป่วยได้อธิบายวิธีรักษาโรคเหล่านั้น อันเป็นการสอนที่ได้ทั้งความสนุกและความรู้ไปพร้อมกัน

การใช้ทฤษฎีความสนุกเข้ามาช่วยในการเสริมพลังอาจทำให้ผู้ป่วยสนใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีทั้งหลายมากขึ้น ดังเช่นที่บริษัท Volkswagen นำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ หรือกระตุ้นให้ผู้คนนิยมทิ้งขยะลงถังมากขึ้น

จนในที่สุดเกิดงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ มากขึ้นในการพัฒนางานคุณภาพของโรงพยาบาลได้เช่นกัน

ฉันเชื่อว่า The fun theory (ทฤษฎีความสนุก) สามารถนำไปใช้พัฒนางานได้มากมายหลากหลาย ทั้งนี้เพราะผู้ใหญ่ก็ยังมีความรู้สึกสนุก ๆ แบบเด็กอยู่เสมอ