การตายจากอุบัติเหตุจราจร: การเก็บแอลกอฮอล์สำคัญยิ่ง (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

การตายจากอุบัติเหตุจราจร: การเก็บแอลกอฮอล์สำคัญยิ่ง (รายงานผู้ตาย 1 ราย
Death From Traffic Accident: Blood Alcohol Is An Important Evidence (A Case Report)

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์* *รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การตรวจศพที่ถูกส่งมาตรวจโดยพนักงานสอบสวนโดยเฉพาะที่ถูกระบุว่า “อุบัติเหตุจราจร” สิ่งที่สำคัญยิ่งนอกจากต้องการดำเนินการตามกฎหมาย มาตรา 154 แล้ว แพทย์ที่ตรวจจำเป็นต้องเก็บและตรวจหาพยานหลักฐานที่สำคัญยิ่งที่สุดประการหนึ่งก็คือ “แอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ตาย” เพราะปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมีผลในทางคดีอย่างยิ่ง เพราะในกรณีการตายจากการจราจรและตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ตาย (หรือจากน้ำหลั่งอื่น ๆ ของผู้ตายซึ่งสามารถปรับให้เป็นค่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้) ย่อมแสดงถึงการที่ผู้ตายอาจมีส่วนในการถึงแก่ความตายแห่งตนเอง เช่น หากเป็นคนขับยานพาหนะ (driver, rider) และเกิดอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตายอาจเป็นไปได้ที่ผู้ตายเองจะเป็นผู้ประมาทเอง หรือหากเป็นคนเดินเท้า (pedestrian) ที่ถูกรถชนจนถึงแก่ความตายอาจเป็นไปได้ที่ผู้เดินเท้านั้นจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์และเคลื่อนตัว เช่น เดินหรือวิ่งออกไป (ข้ามถนน) จนถูกรถชนถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งประเด็นแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ตายจึงสัมพันธ์กับคดีความต่าง ๆ ทั้งในทางอาญาและทางแพ่งอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

อุทาหรณ์ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

ผู้ตายอายุ 25 ปี ขี่รถจักรยานยนต์แล้วมีผู้พบว่าอยู่ริมทางบนถนนใหญ่เชิงสะพานข้ามคลองในสภาพไม่รู้ตัวและมีคราบเลือดที่ใบหน้าและศีรษะ พร้อมกับพบรถจักรยานยนต์ของผู้ตายอยู่ห่างออกไปราว 50 เมตร มีผู้พบเมื่อราว 1.30 น. แล้วแจ้งต่อพนักงานสอบสวน โดยไม่มีผู้เห็นเหตุการณ์

พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่ามีศพนอนตายอยู่ริมถนน จึงมาทำการชันสูตรพลิกศพพร้อมตามแพทย์ที่มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพประมาณเวลา 3.00 น. ของวันเดียวกัน

จากนั้นทำหนังสือนำส่งศพมาที่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อทำการตรวจหาสาเหตุการตายตามกฎหมาย (ภาพที่ 1)

การตรวจศพ:

สภาพศพที่ตรวจได้จากภายนอกศพ: (ภาพที่ 2)

- ศพชายอายุประมาณ 25-30 ปี รูปร่างค่อนท้วม ตัวยาว 170 เซนติเมตร ผมสีดำยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ไม่ไว้หนวดและเครา

- ผู้ตายสวมเสื้อยืดแขนสั้นสีเหลือง กางเกงขายาวสีเข้ม กางเกงชั้นในสีขาว

- ได้กลิ่นคล้ายแอลกอฮอล์เมื่อเข้าใกล้ศพ

- ศพแข็งตัวเต็มที่แล้ว พบเลือดตกลงสู่เบื้องต่ำหลังเสียชีวิตที่หลังได้ชัดเจน

- ตรวจพบบาดแผลดังต่อไปนี้

- บาดแผลที่ใบหน้าเป็นบาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบขนาดใหญ่คล้ายเป็นแฉกสามด้าน ยาวด้านละประมาณ 5 เซนติเมตร เห็นกะโหลกศีรษะและยังมีชิ้นส่วนของเนื้อสมองไหลออกมาจากบาดแผลดังกล่าวด้วย (ภาพที่ 3)

- บาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบที่บริเวณเปลือกตาบนขวา ใกล้กับหัวตาขวา ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร

- บาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบที่บริเวณเปลือกตาบนซ้าย ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร

- บาดแผลถลอกหลายแผลที่บริเวณใบหน้ากระจายหลายตำแหน่ง

- บาดแผลถลอกเล็ก ๆ ตามร่างกายอีกหลายตำแหน่ง

- แขนซ้ายเหนือข้อศอกซ้ายมีลักษณะงอผิดรูปอย่างชัดเจน

- แขนขวาและขาทั้งสองข้างเหยียด ไม่พบสภาพงอผิดรูป มีบาดแผลถลอกและฟกช้ำกระจายทั่วไป

สภาพศพที่ตรวจได้จากการผ่าศพตรวจ:

- หนังศีรษะและใต้ชั้นหนังศีรษะมีสภาพฟกช้ำโดยทั่วไป

- กะโหลกศีรษะด้านหน้าแตกยุบตัวลง และมีแขนงการแตกแยกไปที่ฐานกะโหลกศีรษะส่วนหน้าด้านซ้าย (left anterior cranial fossa) มาที่ฐานกลางกะโหลก (sella) และต่อมายังด้านขวาทั้งส่วนกลาง มาจรดส่วนหลัง (right middle cranial fossa and right posterior cranial fossa) (ภาพที่ 4)

- พบเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (subdural hematoma) ด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา

- เนื้อสมองกลีบหน้าฉีกขาดด้านซ้ายค่อนข้างรุ่งริ่ง (severe laceration of both frontal lobe, left more than right) (ภาพที่ 5)

- เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางบาง ๆ กระจายทั้งสองซีกของสมอง (both hemispheres)

- กระดูกสันหลังส่วนคอ ส่วนอก และหลังปกติ

- ช่องอกอยู่ในเกณฑ์ปกติ

- หัวใจและปอด และอวัยวะในช่องอกอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นมีรอยช้ำที่รอบ ๆ เส้นเลือดแดงใหญ่ส่วนอก (thoracic aorta) (ภาพที่ 6)

- ม้ามมีการฉีกขาดที่ด้านบนและด้านล่างของม้าม (ภาพที่ 7)

- พบเลือดออกในช่องท้องเล็กน้อย

- กระเพาะอาหารพบของเหลวที่ย่อยแล้วเล็กน้อยสีน้ำตาลอ่อนปริมาณราว 200 มิลลิลิตร และมีกลิ่นฉุนเข้าได้กับกลิ่นแอลกอฮอล์ (ภาพที่ 8)

- ตับ ไต ลำไส้ และขั้วลำไส้ (mesentery) อยู่ในเกณฑ์ปกติ

- กระเพาะปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน รวมถึงกระดูกเชิงกรานปกติ

- กระดูกแขนซ้ายส่วนบนหักใกล้กับข้อศอกซ้าย

- อวัยวะอื่น ๆ โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่พบพยาธิสภาพชัดเจน

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ:

- การตรวจเลือดเพื่อหาระดับแอลกอฮอล์: ตรวจพบ 223 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

- การตรวจปัสสาวะและเลือดเพื่อหาสารเสพติดและยานอนหลับ/หรือยากล่อมประสาท: ตรวจไม่พบ

สาเหตุการตาย:

- กะโหลกศีรษะแตกมาก เนื้อสมองฉีกขาดอย่างรุนแรง และเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง

พฤติการณ์ที่ตาย:

- น่าเชื่อว่าจะมาจากอุบัติเหตุจราจรอันเนื่องจากอิทธิพลของแอลกอฮอล์ในร่างกาย

วิเคราะห์และวิจารณ์

การตรวจศพที่ถูกส่งมาให้ตรวจตามกฎหมายนั้น แพทย์ผู้ตรวจต้องให้ความสำคัญ และต้องเข้าใจและคำนึงถึงขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ดังนี้

ประการที่ 1: ศพที่ถูกพบริมถนน

ต้องถือว่าเป็นศพที่ตายผิดธรรมชาติเสมอ แม้ว่าจะมีประวัติโรคประจำตัว เช่น เป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ฯลฯ แต่หากเป็นการตายในที่สาธารณสถานต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า “เป็นการตายผิดธรรมชาติ” ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง “ให้มีการชันสูตรพลิกศพ” ตามกฎหมาย1

การตายผิดธรรมชาตินั้น กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีกระบวนการ “ชันสูตรพลิกศพ” ดังนี้1

มาตรา 1481 เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย

การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ

(1) ฆ่าตัวตาย

(2) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย

(3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย

(4) ตายโดยอุบัติเหตุ

(5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ

 

ประการที่ 2: การดำเนินการหลังการชันสูตรพลิกศพ

แพทย์ต้องจำไว้เสมอว่า “หลังทำการชันสูตรพลิกศพที่ตายในที่สาธารณะต้องส่งศพมารับการตรวจต่อเสมอ ตามมาตรา 151 และ 152”1 สิ่งนี้สำคัญยิ่งเพราะแม้ว่าจะพบพยานหลักฐาน เช่น บาดแผลตามร่างกายรุ่งริ่งที่เข้ากับ “อุบัติเหตุจราจร” แต่แพทย์ก็ต้องไม่ลืมว่า อาจมีการนำศพมาทิ้งริมถนนแล้วเกิดบาดแผลขึ้นในภายหลัง (post-mortem wounds) ได้ ทำให้สำคัญผิดคิดว่าเป็นการเสียชีวิตอันเนื่องจากอุบัติเหตุจราจร เป็นต้น ดังนั้น หลังจากที่มีการ “ชันสูตรพลิกศพ (มาตรา 150)” แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ “จะต้อง” ส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อ (มาตรา 151 และมาตรา 152) เสมอ1 แพทย์จะต้องไม่ชะล่าใจว่าสิ่งที่ตนเองได้พบ เช่น บาดแผลจากศพ การตรวจศพกลางถนน ฯลฯ จะต้องเป็นการเสียชีวิตตามสภาพที่พบนั้น

ประการที่ 3: การตรวจศพมีความจำเป็นต้องผ่าศพตรวจ

มีความจำเป็นต้องผ่าศพตรวจเพื่อดูว่าสภาพแห่งการบาดเจ็บหรืออันตรายนั้นอยู่ ณ ตำแหน่งใดของร่างกาย และสมกับจะเป็นสาเหตุการตายหรือไม่

หมายเหตุ:

ในบางกรณีที่ถูกจำกัดด้วย “โอกาสปิดในการที่จะผ่าศพตรวจ” เช่น การที่เป็นศพของผู้นับถือศาสนาอิสลาม และมีความจำกัดด้วยสภาพแห่งสังคมและหมู่ชน และ/หรือเหตุอื่นประกอบ ทำให้แพทย์ไม่อาจดำเนินการได้อย่างอิสระและมาตรฐานตามเกณฑ์ในทางการแพทย์2,3,4 แล้ว อย่างน้อยที่สุดแพทย์ต้องไม่ลืมทำการเก็บพยานหลักฐานดังนี้

ก. การเอกซเรย์ร่างกาย โดยเฉพาะที่ศีรษะ หน้าอก และหน้าท้อง (รวมอุ้งเชิงกราน) และหากมีสภาพผิดรูปของแขนขา (รยางค์) ก็ให้ถ่ายภาพเอกซเรย์ไว้ด้วย

ข. การเก็บเลือดและปัสสาวะเพื่อการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

1. การหาสารเสพติด ยานอนหลับ/ยากล่อมประสาท

2. ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดและปัสสาวะ

ค. หากเป็นกรณีที่ไม่ทราบว่าผู้เสียชีวิตเป็นใคร ให้แพทย์ดำเนินการเก็บพยานหลักฐานเพื่อการตรวจทางพันธุกรรมไว้ด้วย (DNA) เช่น อาจเก็บกระดูกซี่โครงบริเวณกระดูกอ่อนไว้ราว 5-6 เซนติเมตร เป็นต้น

 

ประการที่ 4: การเก็บสิ่งส่งตรวจที่สำคัญ

สิ่งส่งตรวจที่สำคัญ

ก. เลือด และ/หรือปัสสาวะ เพื่อการตรวจหาสารเสพติด ยานอนหลับหรือยากล่อมประสาท ให้เก็บในภาชนะ (หลอด) เก็บวัตถุพยาน (ภาพที่ 9)

ข. การเก็บเลือด และ/หรือปัสสาวะ เพื่อตรวจหาระดับแอลกอฮอล์นั้น จำเป็นต้องเก็บโดยความระมัดระวังเพราะเป็นสารระเหยได้ (volatile substance) จึงต้องใช้หลอดที่เป็นสุญญากาศ (vacuum tube) และสำหรับเลือดนั้นให้ใช้สารกันแข็งตัว (anticoagulant) เป็นโซเดียมฟลูออไรด์เหมาะที่สุด (ภาพที่ 9)

หมายเหตุ:

สิ่งส่งตรวจทั้งหมดจะต้องไม่ลืมข้อปฏิบัติดังนี้

1. เก็บโดยภาชนะ (ขวด/หลอด) ที่มีลักษณะที่เหมาะสมและเฉพาะดังได้กล่าวไว้ข้างต้นคือ แอลกอฮอล์จะต้องเก็บในภาชนะที่มิให้มีการระเหยไป (ภาพที่ 9) นอกจากนี้อาจมีประการอื่น ๆ

ก. การเก็บในภาชนะที่ป้องกันแสงหากจะตรวจหาสารที่ไวต่อการเสื่อมหากถูกแสง

ข. ภาชนะที่เก็บต้องไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป

ค. ปริมาณที่เก็บต้องเหมาะสมกับการตรวจได้

ง. ต้องไม่ลืมติดสลาก (label) โดยมีเนื้อหาระบุให้ทราบถึงชื่อของเจ้าของตัวอย่าง และวันเวลาที่เก็บ และ/หรืออาจมีตำแหน่งที่เก็บร่วมด้วย

2. ส่งสิ่งที่เก็บดังกล่าวไป ณ ที่ที่สามารถตรวจได้ โดยการส่งนั้นจะต้องคำนึงถึง

ก. สถานที่ตรวจ

ข. วิธีการส่ง

ค. เวลาแห่งการส่ง (โดยหลักแล้วยิ่งส่งเร็วเท่าใดย่อมเป็นการดีเท่านั้น)

3. สิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องพยานหลักฐาน (วัตถุพยาน) ก็คือ กระบวนการส่งต่อ (chain of custody หรือ chain of evidence)

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในผลแห่งการตรวจได้ เพราะถึงแม้จะมีผลการตรวจและยืนยันประการหนึ่งประการใด เช่น การที่ตรวจพบระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงก็ตาม แต่หากการส่งมีความน่าสงสัย เช่น อาจมีการเปลี่ยนตัวอย่างส่งตรวจ หรือมีการทำให้วัตถุแห่งการตรวจเปลี่ยนแปลงไปได้ ย่อมทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในทางพยานหลักฐาน

4. หากเป็นไปได้ให้มีการเตรียมพร้อมของอุปกรณ์เก็บและผู้เก็บ

จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการเก็บพยานหลักฐาน อันประกอบด้วย

ก. อุปกรณ์เพื่อใช้เก็บ ประกอบด้วย (ภาพที่ 10)

(1) อุปกรณ์ภาชนะต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นขวด หลอด ฯลฯ

(2) แถบสลาก

(3) ปากกาหรืออุปกรณ์ที่ใช้เขียนระบุถึงสิ่งส่งตรวจ (สลาก) เช่น ชื่อศพ ตำแหน่งที่เก็บ หมายเลขของศพ จำนวนที่เก็บ วันและเวลาที่เก็บ ชื่อผู้เก็บ เป็นต้น

ข. เจ้าหน้าที่ผู้ทำการเก็บและติดสลาก (ภาพที่ 11)

หมายเหตุ:

ผู้ที่เก็บวัตถุพยานจำเป็นต้องมีความรอบรู้พอสมควรเกี่ยวกับวัตถุพยานโดยเฉพาะในเรื่องภาชนะที่จัดเก็บ สารที่ใส่ในภาชนะ (preservative) การติดสลาก การเก็บก่อนที่จะมีการส่งตรวจ วิธีการส่งตรวจ ฯลฯ และหากแพทย์ที่รับผิดชอบได้จัดทำระบบการจัดเก็บไว้ย่อมทำให้ง่ายต่อการดำเนินการด้านวัตถุพยาน

ประการที่ 5: ในผู้ที่ได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุจราจร

ความสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในกรณีการตายเนื่องจาก “อุบัติเหตุจราจร” และเป็นปัญหาอยู่เป็นประจำ ซึ่งจะต้องเกิดเป็น “คำถาม” เสมอ ไม่จากฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง ก็คือ

ก. ฝ่ายคู่กรณี (ผู้ถูกกล่าวหาว่าทำให้ถึงแก่ความตายในอุบัติเหตุจราจร)

ข. ฝ่ายประกัน คือ ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบกับการเสียชีวิต และ/หรือยานพาหนะ และทรัพย์สินที่อาจมีการฟ้องร้องอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นการฟ้องร้องทางแพ่ง6

ค. ฝ่ายพนักงานสอบสวนที่จะต้องเป็นผู้ทำสำนวนคดีความ (การตายจากอุบัติเหตุจราจร) เป็นเจตนาหรือประมาท และหากประมาทเป็นของฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่าย และที่สำคัญที่สุดก็คือ “ผู้เสียชีวิตมีส่วนในการที่ตนเองต้องถึงแก่ความตายหรือไม่ เช่น การเมาสุรา เป็นต้น”

แพทย์ที่ทำการตรวจศพรายที่เสียชีวิตอันเนื่องจากการกล่าวถึง “อุบัติเหตุจราจร” จะต้องเก็บเลือดเพื่อตรวจหาระดับแอลกอฮอล์เสมอ

หมายเหตุ:

1. การไม่เก็บเลือดเพื่อการส่งตรวจหากระดับแอลกอฮอล์อาจเข้าข่ายกรณีเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ได้มาตรฐานได้2,3.4 ยกเว้นกรณีที่เป็นสภาวะอันเป็นการพ้นวิสัยที่ไม่อาจเก็บได้ เช่น เป็นชิ้นส่วนของศพเท่านั้น หรือเป็นศพที่เน่าแล้วซึ่งการเก็บอาจได้แต่แปลผลไม่ได้

2. ในรายงานที่ทำในรูปแบบสมบูรณ์จะต้องมีผลการตรวจแอลกอฮอล์ด้วยเสมอ ซึ่งจะให้ผลตามที่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการปรากฏออกมา แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีหมายเหตุในผลการตรวจบางกรณีได้ เช่น การที่ศพดังกล่าวเน่า เป็นต้น ทำให้การตรวจไม่สามารถจะระบุถึงข้อเท็จจริงได้ การตรวจไม่พบจึงไม่ได้หมายความว่าผู้ตายมิได้มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูง แต่เป็นข้อจำกัดของพยานหลักฐานที่ถูกส่งตรวจ

3. โดยทั่วไปเกณฑ์ที่เป็นประเด็นในข้อกฎหมายคือ “ระดับแอลกอฮอล์ที่ตรวจพบในเลือด (blood alcohol)” หรือระดับแอลกอฮอล์ที่ตรวจพบในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น น้ำในลูกตา น้ำในไขสันหลัง น้ำปัสสาวะ ฯลฯ ที่ตรวจพบย่อมสามารถที่จะปรับให้เป็นระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้ ซึ่งในทางกฎหมายจะถือระดับที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เป็นสำคัญ

4. เมื่อผลการตรวจพบว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ตาย (รวมถึงผู้ป่วยด้วยกรณีที่แพทย์ทำการตรวจผู้ป่วย)

ก. หากได้ระดับเกินกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์แล้ว แพทย์ควรให้ความเห็นได้ว่า “อยู่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์” ซึ่งจะเป็นการให้ความเห็นในเชิงวิชาการที่ดีที่สุด

ข. หากได้ระดับที่อยู่ระหว่าง 50-100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์แล้ว แพทย์ควรให้ความเห็นว่า “อาจได้รับอิทธิพลของแอลกอฮอล์” ทั้งนี้เพราะในทางการแพทย์โดยแท้แล้ว หากระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว (50-150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) แล้วผู้นั้น “อาจ” หรือ “มีโอกาส” เท่านั้น แต่ยังไม่อาจถือได้อย่างชัดเจนว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์

5. แพทย์ “จะต้องไม่” ให้ความเห็นว่าผู้ตาย (หรือผู้ป่วยกรณีตรวจผู้ป่วย) ว่า “เมา” เด็ดขาด ทั้งนี้แพทย์ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะเมาหรือไม่ย่อมมีปัจจัยอื่นเข้ามาประกอบด้วย และที่สำคัญคือ การที่จะระบุว่าผู้ใดเมาหรือไม่จะต้องมี “ผลการตรวจอื่นประกอบด้วย” เสมอ

สรุป

การชันสูตรพลิกศพผู้ตายที่เชื่อว่าเกิดจากอุบัติเหตุจราจร เมื่อแพทย์ชันสูตรพลิกศพแล้วจะต้องส่งศพมาเพื่อตรวจต่อเนื่องอีกเพื่อให้เกิดความชัดเจนในสาเหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย และหากแพทย์เป็นผู้ทำการตรวจศพ (ต่อ) แล้ว แพทย์ท่านนั้นจำเป็นต้องเก็บแอลกอฮอล์เพื่อตรวจด้วยเสมอ เพราะประเด็นแอลกอฮอล์ทั้งในเรื่อง “การตรวจพบและปริมาณที่ตรวจ” ย่อมมีความสำคัญในคดีทั้งทางคดีอาญาและคดีแพ่ง

 

เอกสารอ้างอิง

1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf

2. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.

3. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”.

4. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555.

5. ประมวลกฎหมายอาญา. http://legal-informatics.org/file/3.pdf

6. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%BB03/%BB03-20-9999-update.pdf