ภัยร้าย…ใกล้ตัว ‘เอชพีวี’ ในที่สาธารณะ

ภัยร้าย…ใกล้ตัว ‘เอชพีวี’ ในที่สาธารณะ 
         
จากสถิติทั่วโลกพบว่า ผู้หญิง 8 ใน 10 คน มีโอกาสติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (human papillomavirus : HPV) ในช่วงชีวิตหนึ่ง โดยเชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก ไวรัสนี้ติดต่อได้ง่ายผ่านทางเพศสัมพันธ์แม้เพียงการสัมผัสภายนอก โดยมากจะพบการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีหลังจากเริ่มมีเพศสัมพันธ์ใน 2-3 ปีแรก วัย 18-28 ปี คือช่วงอายุที่พบการติดเชื้อสูงสุด ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ให้ทราบ จึงหมายถึงการที่อาจกลายเป็นผู้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน แต่ปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีกลไกในการกำจัดเชื้อไวรัสเอชพีวีออกไปได้เอง แต่ในบางกรณีที่กำจัดไม่ได้ ไวรัสก็จะพัฒนาต่อไป และทำให้เกิดโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งปากมดลูกได้

ขณะนี้เชื้อไวรัสเอชพีวี (human papillomavirus : HPV) กำลังได้รับความสนใจจากคนส่วนใหญ่มากขึ้นหลังจากที่ “ไมเคิล ดักลาส” นักแสดงชื่อดังชาวอเมริกันได้ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุของการเป็นมะเร็งที่ลำคอว่าไม่ได้เป็นเพราะสูบบุหรี่จัดหรือดื่มเหล้าหนัก แต่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการมีเพศสัมพันธ์และมีพฤติกรรมทางเพศแบบการทำรักด้วยปาก หรือออรัลเซ็กซ์

อีกประเด็นหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจของเชื้อไวรัสเอชพีวีคือ ผลของการวิจัยที่บ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสเอชพีวีสามารถติดต่อได้จากสิ่งแวดล้อม โดย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี “เผยผลการตรวจพบไวรัสเอชพีวีในที่สาธารณะ” หลังพบเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ด้ามกดชักโครกในห้องน้ำหญิงโรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่ง ก๊อกน้ำล้างมือที่ติดกับอ่างล้างมือในห้องน้ำชายในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ที่รองนั่งโถส้วมในห้องน้ำหญิงและที่รองนั่งโถส้วมในห้องน้ำชายในสถานบันเทิง (ผับ) แห่งหนึ่ง โดยเชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูก หูดหงอนไก่ มะเร็งองคชาต และมะเร็งทวารหนัก

.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า “จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า เชื้อไวรัสเอชพีวีสามารถติดต่อโดยการสัมผัส จึงเกิดคำถามว่าเราสามารถติดเชื้อไวรัสเอชพีวีโดยการสัมผัสหรือจากสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่” ทางราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ทำการเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อม โดยใช้สำลีปราศจากเชื้อชุบน้ำยาตรวจหาไวรัสเอชพีวี เช็ดถูบริเวณต่าง ๆ อาทิ บริเวณราวบันไดเลื่อน ปุ่มกดลิฟท์ ลูกบิดประตูห้องน้ำ ก๊อกน้ำที่อ่างล้างมือ ก้านกดชักโครก ที่รองนั่งโถส้วม เพื่อตรวจจับเชื้อไวรัสเอชพีวีจากสิ่งแวดล้อมจากสถานที่ต่าง ๆ อาทิ ภายในห้างสรรพสินค้า โรงเรียนกวดวิชา สนามเด็กเล่น โรงพยาบาล สถานีบริการน้ำมัน สถานบันเทิง (ผับ) รถไฟฟ้า และรถประจำทาง และนำมาตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีด้วยชุดตรวจทางอณูชีววิทยาความไวสูง

“ผมไม่ได้เป็นคนคิดโจทย์วิจัยนี้ขึ้นมา เพราะโดยปกติแล้วจะมุ่งทำงานวิจัยทางห้องปฏิบัติการเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยตั้งโจทย์วิจัยมาว่า “ในประเทศไทยเราสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสเอชพีวีในสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่” และขอความร่วมมือมาทางหน่วยไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีจากตัวอย่างที่เก็บจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา เช่น จากวัตถุสิ่งของที่เราต้องสัมผัสจับต้องกันบ่อย ๆ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่คาดว่าน่าจะปนเปื้อนเชื้อไวรัสเอชพีวี ยอมรับตามตรง ผมไม่เคยคิดว่าจะมีเชื้อไวรัสเอชพีวีอยู่ในสิ่งแวดล้อม เพราะหน้าที่หลักเราไม่ได้ตรวจไวรัสจากสิ่งแวดล้อม แต่เราตรวจเชื้อไวรัสจากคน แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าเชื้อไวรัสเอชพีวีสามารถพบในสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่”

จากสิ่งส่งตรวจจำนวน 100 ตัวอย่างจากสถานที่ต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ถึง 4 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 4 พบเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ด้ามกดชักโครกในห้องน้ำหญิงในโรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่งจากจำนวน 3 แห่งที่จัดเก็บตัวอย่าง ก๊อกน้ำล้างมือที่ติดกับอ่างล้างมือในห้องน้ำชายในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งจากจำนวน 4 แห่งที่จัดเก็บ ที่รองนั่งโถส้วมในห้องน้ำหญิงจากสถานบันเทิง (ผับ) แห่งที่ 1 และที่รองนั่งโถส้วมในห้องน้ำชายจากสถานบันเทิง (ผับ) แห่งที่ 2 จากจำนวน 3 แห่งที่จัดเก็บ

“สิ่งที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้คือ ตรวจพบเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ก่อโรคกับมนุษย์จากสิ่งแวดล้อม แต่จะสามารถสรุปได้หรือไม่ว่ามนุษย์ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีจากสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น คนที่มีเชื้อไวรัสเอชพีวีไปทำธุระในห้องน้ำ แล้วคนที่เข้าต่อไปนั่งทับตรงบริเวณที่เขานั่ง แบบนี้เราจะติดได้หรือไม่”

.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่พบเชื้อไวรัสเอชพีวีในห้องน้ำสาธารณะ เนื่องจากเวลาปัสสาวะแล้วมีการจับอวัยวะเพศของตนเอง ทำให้เชื้อที่มีอยู่ติดมือ เมื่อมาจับสิ่งของต่าง ๆ ต่อจึงทำให้ในห้องน้ำมีเชื้อดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวลว่าการนั่งบนส้วมที่มีเชื้อไวรัสเอชพีวีจะทำให้ติดเชื้อแล้วเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะเชื้อไม่สามารถเข้าถึงช่องคลอดได้ แต่กลัวเป็นหูดมากกว่า จึงไม่อยากให้ทุกคนตระหนกว่าเข้าห้องน้ำสาธารณะแล้วจะติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ทั้งนี้การป้องกันสามารถทำได้ด้วยการล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคที่อาจจะติดมาแบบไม่รู้ตัว แต่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เชื้อไวรัสเอชพีวีจะติดต่อกันได้เฉพาะจากการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่ผลการศึกษานี้แสดงว่าอาจจะติดเชื้อในช่องทางอื่นได้

จากงานวิจัยดังกล่าวสรุปได้ว่า สถานที่ที่สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสเอชพีวีมักเป็นที่เย็น ชื้น และไม่มีแสงแดด (UV) ส่องเข้าถึง โดยจะเห็นได้ว่าสถานที่ตรวจพบเชื้อไวรัสเอชพีวีในงานวิจัยนี้จะพบจากห้องน้ำโดยทั้งสิ้น และตรวจพบเชื้อไวรัสเอชพีวีในห้องน้ำในสถานบันเทิงสูงกว่าสถานที่อื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มคนที่เข้าไปในสถานบันเทิงที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นซึ่งอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เป็นกลุ่มที่มีการติดต่อและแพร่เชื้อไวรัสเอชพีวีสูงสุด สำหรับการเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้สามารถพบกลุ่มของไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่ก่อโรคคือ สายพันธุ์ (type) 6, 11, 16, 18 และอื่น ๆ

ทั้งนี้มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย รองมาจากมะเร็งเต้านม ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในแต่ละปีจะมีผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกประมาณ 10,000 คน หรือวันละ 27 คน และในแต่ละปีมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ 5,200 คน หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน ทั้ง ๆ ที่เป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ ร้อยละ 80 ของมะเร็งปากมดลูกพบในผู้หญิงอายุ 30-60 ปี มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ และสายพันธุ์เหล่านี้ยังสามารถติดต่อไปยังบริเวณปากและช่องคอได้ โดยผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ

“ล่าสุดกรณีของไมเคิล ดักลาส ที่บอกว่าสาเหตุที่เขาเป็นมะเร็งลำคอไม่ได้เกิดจากการติดเหล้าหรือสูบบุหรี่จัด แต่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีที่เกิดจากการทำรักด้วยปากหรือออรัลเซ็กซ์ให้แก่ผู้ที่มีเชื้อไวรัสตัวนี้ หลายคนมักเข้าใจว่าเชื้อไวรัสเอชพีวีจะติดต่อกันได้เฉพาะจากการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น หากไม่มีเพศสัมพันธ์ หรือป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์โดยการสวมถุงยางอนามัยแล้วจะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน”

.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ไม่อยากให้ทุกคนตระหนกตกใจไปว่า เข้าห้องน้ำสาธารณะแล้วจะติดเชื้อไวรัสเอชพีวี เพราะการป้องกันเบื้องต้นง่าย ๆ เมื่อต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะคือ การล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคที่อาจติดมาโดยไม่รู้ตัว ส่วนการป้องกันมะเร็งปากมดลูก โดยหลักการแล้วคือ การตรวจคัดกรองเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่ปากมดลูกเพื่อให้การรักษาก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือฉีดวัคซีนป้องกันร่วมด้วย โดยการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งองคชาต และมะเร็งทวารหนักคือ สายพันธุ์ 16 กับสายพันธุ์ 18 ส่วนสายพันธุ์ 6 และ 11 เป็นสาเหตุกว่า 90% ของหูดหงอนไก่

.นพ.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า 3 สิ่งที่ต้องทำให้ห่างไกลมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ 1. ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี เช่น ไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร 2. ตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำเพื่อที่จะพบการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ก่อนการเป็นมะเร็ง และ 3. ฉีดวัคซีนป้องกัน ลดความเสี่ยงได้ประมาณร้อยละ 70 ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ 4 สายพันธุ์คือ 6, 11, 16, 18 ควรฉีดให้แก่เด็กผู้หญิงก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แต่บางประเทศฉีดให้เด็กผู้ชายด้วย เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอวัยวะเพศ มะเร็งทวารหนัก หรือแม้แต่มะเร็งในลำคอ โดยเฉพาะหากมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ในแบบออรัลเซ็กซ์กับฝ่ายหญิงที่มีเชื้อไวรัสเอชพีวีบริเวณปากมดลูก ในขณะที่ช่องปากของฝ่ายชายไม่สะอาด มีแผล การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เป็นต้น

ปัจจุบันมีวัคซีนเอชพีวีที่สามารถป้องกันทั้ง 4 สายพันธุ์นี้ได้ ควรจะฉีดให้แก่เด็กก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก โดยอายุที่แนะนำให้ฉีดประมาณ 11-12 ปี วัคซีนจะมีทั้งหมด 3 เข็ม เมื่อฉีดครบ 3 เข็ม คาดการณ์ว่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้อย่างน้อย 30 ปี โดยไม่ต้องฉีดกระตุ้น ในบางประเทศมีการฉีดวัคซีนให้ในเด็กผู้ชาย เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งได้มีการดำเนินการแล้ว

ทั้งนี้หากถามว่าถ้ามีเพศสัมพันธ์ไปแล้วจะฉีดวัคซีนเอชพีวีได้หรือไม่นั้น จากข้อมูลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วมีอัตราการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีประมาณ 20-25% และส่วนใหญ่มักติดเพียง 1 สายพันธุ์ การรับวัคซีนจึงยังคงมีประโยชน์อยู่ ประกอบกับจากการคำนวณทางสถิติคาดว่าภูมิคุ้มกันน่าจะอยู่ได้อย่างน้อย 20-30 ปี ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาวัคซีนที่ครอบคลุมสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้กว้างขึ้นก็เป็นได้