ชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย จัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างเป็นระบบ

ชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย จัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างเป็นระบบ

ชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างเป็นระบบ พยายามให้ข้อมูลทางวิชาการ และประสานงานกับหลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แพทย์ โดยเฉพาะแพทย์โรคหัวใจที่ดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวได้มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้รับการรักษาที่เหมาะสม

นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลวพบได้บ่อยในปัจจุบัน โดยเกิดจากความผิดปกติของโรคหัวใจหลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจ โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ โรคการอักเสบและการติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจหรือของลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หัวใจเต้นผิดจังหวะ เหล่านี้เป็นต้น ทำให้มีพยาธิสภาพของหัวใจและมีผลให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา ซึ่งถึงแม้ว่าจะสามารถรักษาโรคหัวใจอย่างอื่นได้ดีขึ้น หรือผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้นก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะมาลงท้ายด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวอยู่ดี เพราะฉะนั้นความชุกของภาวะหัวใจล้มเหลวจึงพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี

ในการรักษา แพทย์จึงต้องเตรียมรับมือกับภาวะดังกล่าว ซึ่งโดยส่วนใหญ่แพทย์จะต้องรู้แนวทางการวินิจฉัยโรคว่าผู้ป่วยจะมาด้วยเรื่องอะไรบ้าง อาการชัด ๆ ก็จะมาด้วยอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก แต่บางครั้งก็จะมาด้วยอาการที่ไม่ชัดเจนก็มี แพทย์จึงต้องรู้ว่าผู้ป่วยกลุ่มไหนที่จะสามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลวได้บ้าง และแพทย์ต้องรู้วิธีในการประเมินเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ที่เกี่ยวกับหัวใจหรือไม่เกี่ยวกับหัวใจก็ตาม จะต้องรู้เบื้องต้นว่าจะประเมินอย่างไร ตนเองสามารถรักษาได้หรือไม่ หรือควรส่งต่อให้แพทย์โรคหัวใจ แพทย์โรคหัวใจก็ต้องรู้ว่าสามารถที่จะให้การดูแลรักษาได้แค่ไหน บางครั้งก็ต้องส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญมากกว่านั้น เช่น ถ้าเกิดสงสัยว่าจะต้องใช้อุปกรณ์บางอย่างในการรักษาก็จะต้องส่งต่อเช่นเดียวกัน หรือบางครั้งให้การรักษาเบื้องต้นแล้วผู้ป่วยตอบสนองได้ไม่ดีก็ต้องรู้ว่าจะต้องส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญระดับต่อไปเป็นผู้ดูแล อันนี้เป็นความรู้พื้นฐานในการดูแลผู้ป่วยซึ่งแพทย์จะต้องรู้ว่าตนเองมีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยได้แค่ไหน อย่างไร

ล่าสุด ชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย จึงมีกำหนดจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.. 2558 ขึ้น ในวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.. 2558 ณ โรงแรมวี กรุงเทพฯ ภายในงานได้รวบรวมหัวข้อการประชุมที่มีความหลากหลายและน่าสนใจ โดยหยิบยกมาจากแนวโน้มในสถานการณ์ปัจจุบัน ข้อมูลทางวิชาการใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญ เพื่อสื่อความรู้ทางวิชาการไปให้สมาชิกของชมรมฯ และผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็น Onco-Cardiology and Heart failure, Heart failure and Functional Mitral Regurgitation: Novel concepts and management, Acute Heart Failure – Update 2015, Common Problems in Device Therapy that You Should Never Miss!, Late Breaking Trials in Heart Failure เป็นต้น

“หัวข้อการประชุมเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญและเป็นข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติ เช่น เนื้องอก มะเร็ง ยาเคมีบำบัดที่มีผลต่อหัวใจ แนวทางการวินิจฉัยและแนวทางการรักษาเป็นอย่างไร ผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจรั่ว แนวทางในการประเมินผู้ป่วยลิ้นหัวใจรั่วว่าเป็นพยาธิสภาพที่ตัวลิ้นหัวใจหรือเป็นผลจากผนังหัวใจที่โตขึ้น แนวทางการรักษาก็มีความแตกต่างกัน จะมีแนวทางการวินิจฉัยโรค แนวทางการรักษา ข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวฉับพลันว่ามีแนวทางในการรักษาอย่างไร ปัญหาเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว อุปกรณ์ที่สำคัญเป็นเครื่องกระตุกไฟฟ้า เครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งเป็น internal defibrillator และเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าปรับการทำงานของหัวใจให้มีความเหมาะสมในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น หรือที่เราเรียกว่า Cardiac Resynchronization Therapy รวมถึงมีข้อมูลใหม่ ๆ การศึกษาใหม่ ๆ ของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวด้วยเช่นกัน” นพ.รุ่งโรจน์ กล่าว

นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า ไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้คือ ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับทราบข้อมูลใหม่ ๆ การศึกษาวิจัย รายงานใหม่ ๆ ตัวยาใหม่ ๆ ที่จะมีการนำมาใช้ในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งจะอยู่ในหัวข้อ Late Breaking Trials in Heart Failure เป็นความรู้ใหม่ที่สด ๆ ร้อน ๆ จากการประชุมที่ต่างประเทศนำเสนอมา นอกจากนี้ในหัวข้ออื่น ๆ ก็มีความหลากหลายและน่าสนใจ แต่จะมีจุดเน้นในบางอันที่จะเป็นข้อมูลใหม่ เช่น ยาบางตัวเป็นยาใหม่ที่มีข้อมูลว่าได้ผลดีมากแต่อาจจะยังไม่มีในบ้านเรา ก็อาจจะต้องรอสักระยะหนึ่ง ทั้งนี้องค์ประกอบในการรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่สำคัญจะต้องประกอบไปด้วยยา เครื่องมือ และความรู้ ดังนั้น จึงต้องมีการอัพเดทกันอยู่ตลอดเวลา

ด้านวิทยากรที่มาบรรยายล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวทั้งสิ้น โดยเป็นแพทย์โรคหัวใจที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวินิจฉัย ใช้ภาพวินิจฉัยโรค เช่น ใช้ ECHO อัลตราซาวนด์หัวใจ แพทย์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการจัดตั้ง heart failure clinic ในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม แพทย์ที่เชี่ยวชาญในการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวโดยใช้อุปกรณ์พิเศษ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากต้องดูแลผู้ป่วยเหล่านี้เป็นประจำ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากแพทย์หลายสถาบันที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรในการประชุมครั้งนี้

“การจัดประชุมครั้งนี้ใช้ระยะเวลาเพียง 1 วัน เพราะไม่ต้องการให้ผู้เข้าร่วมประชุมเสียเวลามาก จึงพยายามรวบรวมเนื้อหาที่เหมาะสม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วไป แพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องภาวะหัวใจล้มเหลว หรือแพทย์ทางอายุกรรมทั่วไปก็สามารถเข้ามาร่วมรับฟังได้ เพราะเนื้อหาความรู้หลากหลายในหลายระดับ คาดว่าจะมีจำนวนผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 200-300 คน” นพ.รุ่งโรจน์ กล่าว

นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการประชุมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับประโยชน์และความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว ข้อมูลใหม่ ๆ ในการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ที่สำคัญคือจะได้เรียนรู้การดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างเป็นระบบ หมายถึงว่าจะทำอย่างไรที่การดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวจะครบวงจร ดูแลต่อเนื่องตั้งแต่อยู่โรงพยาบาล กลับไปติดตามหลังจากออกมาเป็นผู้ป่วยนอก การจะ set up ระบบการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น heart failure clinic การที่จะได้รับความร่วมมือจากแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด ซึ่งจะมาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เข้าใจว่าน่าจะเป็นจุดที่น่าสนใจและผู้ฟังน่าจะได้ประโยชน์มาก โดยเปิดให้เข้าร่วมประชุมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกของชมรมฯ เพื่อติดตามข่าวสารได้ด้วยเช่นกัน

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2718-0064 โทรสาร 0-2718-0065 E-mail: thaiheart@hotmail.com หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiheart.org