พอลิเมอร์สังเคราะห์สำหรับช่วยการแข็งตัวของเลือด

พอลิเมอร์สังเคราะห์สำหรับช่วยการแข็งตัวของเลือด

ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)

กลไกการแข็งตัวของเลือดหรือการที่เลือดกลายเป็นลิ่มเลือดนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อมีการบาดเจ็บต่อหลอดเลือด หรือเกิดการเว้าแหว่งของผนังหลอดเลือด โดยจะประกอบขึ้นจาก 2 ส่วนคือส่วนของเซลล์ (เกล็ดเลือด) และส่วนของโปรตีน (แฟคเตอร์การแข็งตัวของเลือด) โดยเริ่มต้นจากเกล็ดเลือดจะมารวมตัวกันที่จุดที่เกิดการบาดเจ็บเพื่อเกิดขึ้นเป็นก้อนเกล็ดเลือด จากนั้นโปรตีนแฟคเตอร์ต่าง ๆ ในเลือดจะมีการกระตุ้นปฏิกิริยาอย่างเป็นลำดับ ทำให้โปรตีนไฟบริโนเจนเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเส้นใยไฟบรินขึ้น เพื่อทำการเสริมแรงของก้อนเกล็ดเลือดที่จับตัวกันอยู่ให้สามารถทนทานต่อแรงดันของเลือดได้มากขึ้นและสามารถหยุดการเสียเลือดได้ดี ทั้งนี้การเสียเลือดนั้นถือได้ว่าเป็นสาเหตุใหญ่ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้บาดเจ็บจากสาเหตุต่าง ๆ หากไม่สามารถห้ามเลือดได้ทัน ความสามารถในการแข็งตัวของเลือดจึงมีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม กลไกการแข็งตัวของเลือดและความแข็งแรงของลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะถูกรบกวนเมื่อเกิดการสูญเสียเลือดจำนวนมาก ทำให้มีการสูญเสียโปรตีนแฟคเตอร์ที่จำเป็นต่อการสร้างลิ่มเลือดที่แข็งแรงทนทานต่อแรงดันเลือด ทำให้ไม่สามารถเกิดการห้ามเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ บ่อยครั้งจึงมีความจำเป็นสำหรับการให้ทดแทนโปรตีนแฟคเตอร์ที่สูญเสียไป เช่น การให้ส่วนประกอบของเลือดในกลุ่มพลาสมาเข้มข้น หรือไฟบริโนเจนเข้มข้นสำหรับการคืนความสามารถในการแข็งตัวของเลือดให้กลับมา อย่างไรก็ตาม ส่วนประกอบของเลือดดังกล่าวค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายที่สูง ต้องมีการจัดเก็บเฉพาะที่อุณหภูมิต่ำ มีอายุใช้งานต่ำ และมีความเสี่ยงต่อการส่งผ่านโรคหรือไวรัสได้

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่