ปลดปล่อยยาจากพอลิเมอร์ด้วยแสงอินฟราเรด

ปลดปล่อยยาจากพอลิเมอร์ด้วยแสงอินฟราเรด

ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)

ปัจจุบันการประยุกต์ใช้ระบบนำส่งสารออกฤทธิ์ เช่น ยา ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อการรักษาเฉพาะที่นั้นได้รับความสนใจและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น โดยมีจุดประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาในบริเวณมุ่งเป้าโดยไม่กระทบหรือสร้างอาการข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่น ๆ ซึ่งการปลดปล่อยสารออกฤทธิ์นี้สามารถถูกกระตุ้นได้โดยหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางชีวภาพ เช่น ความเป็นกรดด่าง หรือการกระตุ้นจากภายนอก เช่น การให้ความร้อน การให้สนามแม่เหล็ก หรือการให้กระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการกระตุ้นดังกล่าวนี้ยังคงมีความสามารถในการควบคุมการกระตุ้นเพื่อปลดปล่อยสารออกฤทธิ์ได้อย่างจำกัดทั้งในด้านของระยะเวลาและตำแหน่งที่ต้องการ

การกระตุ้นด้วยคลื่นแสงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่สามารถประยุกต์ใช้ในการกระตุ้นเพื่อปลดปล่อยสารออกฤทธิ์ โดยที่สารออกฤทธิ์ดังกล่าวจะถูกบรรจุอยู่ภายในวัสดุตัวพาที่ไวต่อคลื่นแสงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แคปซูลขนาดเล็ก อนุภาคขนาดนาโน หรือไฮโดรเจล ข้อดีของการกระตุ้นด้วยคลื่นแสงนี้คือ สามารถที่จะควบคุมความแม่นยำ ความเข้ม และระยะเวลาได้ ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมการกระตุ้นเพื่อปลดปล่อยสารออกฤทธิ์ทั้งในด้านของความเข้มข้น ระยะเวลาและตำแหน่งที่ต้องการได้ดี นอกจากนี้ข้อดีของการใช้คลื่นแสงนี้คือ จะมีผลต่อส่วนของโมเลกุลที่ต้องการกระตุ้นเท่านั้นและมีผลกระทบต่อส่วนอื่นของโมเลกุลต่ำ ซึ่งได้มีการพัฒนาการใช้คลื่นแสงประเภทต่าง ๆ ในการนำมากระตุ้นให้เกิดการสลายตัวของวัสดุที่ตัวพาที่ผลิตจากพอลิเมอร์ประเภทต่าง ๆ โดยคลื่นแสงนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท แต่ละประเภทก็จะมีความถี่และความยาวคลื่นที่แตกต่างกัน คลื่นแสงที่ตามองเห็นนั้นมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถที่จะทะลุผ่านชั้นของผิวหนังได้ ทำให้ไม่เหมาะต่อการนำมาใช้งาน ในทางตรงข้ามรังสีเอกซ์และรังสีแกมมานั้นสามารถทะลุผ่านร่างกายของมนุษย์ได้ดี แต่จะส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อต่าง ๆ จากกระบวนการไอออไนซ์ได้ การใช้คลื่นแสงอัลตราไวโอเลตถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการกระตุ้นและได้รับความสนใจในการพัฒนา แต่ยังมีข้อด้อยคือ ความลึกของการทะลุผ่านชั้นผิวหนังนั้นยังคงต่ำ 

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่