สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในเด็กไทย เพื่อพัฒนาอนาคตที่ดีของชาติ

สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในเด็กไทย เพื่อพัฒนาอนาคตที่ดีของชาติ

สืบเนื่องมาจากวันที่ 12 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวัน "โรคปอดบวมโลก" เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญและช่วยกันรณรงค์ลดการป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ โดยมากเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรงเฉียบพลัน

จากสถิติขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) พบว่าเฉพาะในปี พ.ศ. 2558 ทั่วโลกมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบมากถึง 900,000 รายเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่มีสาเหตุทำให้เกิดโรคปอดบวม โดย 16% ของยอดผู้เสียชีวิตเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และ 3% เป็นเด็กแรกเกิด

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคปอดบวมคร่าชีวิตคนทั่วโลกเป็นจำนวนนับล้านคนต่อปี ทั้งที่การรับวัคซีนในช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือนนั้นสามารถช่วยป้องกันโรคนี้ได้ ซึ่งปัจจุบันปัญหาโรคติดเชื้อในเด็กเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรหันมาให้ความตระหนักมากขึ้น เนื่องจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลง สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนและเชื้อโรคแพร่กระจายมากขึ้น สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความรู้ทางด้านวิชาการโรคติดเชื้อเด็กที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย เป็นกลาง และเชื่อถือได้ เป็นศูนย์กลางให้คำปรึกษาแก่บุคลากรทางการแพทย์ต่าง ๆ และบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็กอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมกับสภาพการดูแลรักษา พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลเพื่อให้รู้เท่าทันกับโลกและเหมาะสมกับสถานะของประเทศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการศึกษาวิจัยโรคติดเชื้อในเด็กในประเทศไทย โดยร่วมมือกับองค์กรอื่นทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยเพื่อดำเนินการศึกษา ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในเด็กให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ทางสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยได้เห็นความสำคัญในการให้วัคซีนที่จำเป็นและครอบคลุมแก่เด็กทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เพราะนอกจากจะช่วยลดอัตราตายได้แล้ว ยังสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ครอบครัว สังคม หรือภาครัฐได้

“ทั้งนี้ข้อมูลในปี พ.ศ. 2551 พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบมากถึง 541,000 รายเสียชีวิตจากเชื้อนิวโมคอคคัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปอดบวมในเด็ก จากผลการวิจัยพบว่าการเพิ่มอัตราการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสแก่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบใน 73 ประเทศยากจนทั่วโลกในปี พ.ศ. 2554-2563 จะสามารถลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลและการสูญเสียได้มากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท”

            รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวเสริมต่อว่า เพื่อรองรับการเข้าสู่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือสมาคมอาเซียนที่จะมาถึงนี้ การเข้าถึงวัคซีนของเด็กไทยให้ก้าวหน้าไม่ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านจึงมีความจำเป็น ทั้งนี้เนื่องจากสุขภาพเด็กเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาและสร้างประเทศในอนาคต ความร่วมมือร่วมใจและตั้งใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาและป้องกันโรคให้เด็กไทยได้รับวัคซีนใหม่ ๆตามสถานการณ์ของประเทศไทยและระดับโลกเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการดูแล ป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพของเด็กไทยให้มีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน .พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ประธานอนุกรรมการวิชาการ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการให้วัคซีนในเด็กไทยว่า ประเทศไทยมีการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (Expanded Program on Immunization หรือ EPI) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดสรรให้ฟรีแก่เด็กไทยทุกคน เนื่องจากเป็นวัคซีนที่จำเป็น ปัจจุบันจะมีทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ บีซีจี (BCG), ตับอักเสบบี (HBV), คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP), โปลิโอชนิดรับประทาน (OPV), หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) และไข้สมองอักเสบเจอี (JE) โดยเด็กไทยทั่วประเทศจะได้รับวัคซีนกลุ่ม EPI นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอื่น ๆ ที่ดีและมีประสิทธิภาพอีกหลายชนิดที่อยู่นอกแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข หรือ EPI ที่เป็นวัคซีนเสริม หรือวัคซีนทางเลือก ซึ่งกุมารแพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้แก่ผู้ปกครองที่สามารถเสียค่าใช้จ่ายเองได้เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีประโยชน์ และเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดและดีกว่าการรักษา แต่ยังไม่ได้บรรจุเข้าไว้ใน EPI ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น เป็นโรคที่มีอุบัติการณ์ต่ำ ยังไม่มีข้อมูลของความคุ้มค่าของวัคซีน วัคซีนมีราคาแพง รัฐบาลจึงยังไม่สามารถจัดสรรให้ได้ หรือยังไม่มีข้อมูลทางระบาดวิทยาในประเทศที่เพียงพอ วัคซีนที่อยู่นอกแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข (EPI) ที่มีการนำมาใช้ในประเทศไทย เช่น วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (DTap, Tdap), วัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดฉีด (IPV), วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็น (Live JE), วัคซีนป้องกันโรคฮิบ (Hib), วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอ (HAV), วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (VZV), วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีใส (MMRV) ซึ่งผสมรวมในเข็มเดียวกัน วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza), วัคซีนป้องกันโรคนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (PCV), วัคซีนโรต้าไวรัส (Rota) และวัคซีนป้องกันเอชพีวี (HPV)

            ปัญหาขณะนี้คือ เราจะทำอย่างไรเพื่อให้วัคซีนกลุ่มที่มีประโยชน์เหล่านี้ทุกตัวเข้าสู่ระบบ EPI ซึ่งหมายความว่าเด็กไทยทุกคนมีโอกาสได้เข้าถึงวัคซีนทั้งหมด ขณะนี้ทางสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับหลาย ๆ องค์กร พยายามผลักดันวัคซีนเหล่านี้ผ่านทางกระทรวงสาธารณสุขเพื่อที่จะให้เด็กไทยมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนเหล่านี้ฟรีในโปรแกรม EPI ซึ่งวัคซีนที่ทางสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยได้ร่วมผลักดันและมีการนำร่องใช้ไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น

  • วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็น (Live JE) ขณะนี้เราได้ทำนำร่องไปแล้ว และคาดว่าจะสามารถใช้ได้ทั่วประเทศในปีหน้า
  • วัคซีนโรต้าไวรัส (Rota) ได้ทำนำร่องไปแล้วที่ จ.สุโขทัย ซึ่งคาดว่าจะนำผลที่ได้มาใช้ และจะมีการเริ่มใช้ทั่วประเทศภายใน 1-2 ปีนี้
  • วัคซีนป้องกันเอชพีวี (HPV) มีการนำร่องใช้แล้วที่ จ.อยุธยา ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก และจะนำมาใช้ทั่วประเทศภายใน 2-3 ปีนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เราจะต้องช่วยกันผลักดันต่อไป
  • วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV) ที่จะใช้ทดแทนชนิดหยอด เนื่องจากเรามีโครงการที่จะกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดไปจากโลก ดังนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงมีการกำหนดให้เพิ่มวัคซีนชนิดฉีดควบคู่ไปกับวัคซีนชนิดหยอดในเด็กเล็กประมาณ 4 เดือน โดยจะเริ่มในต้นปีหน้า
  • วัคซีนป้องกันโรคฮิบ (Hib) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือติดเชื้อในกระแสเลือดในเด็กโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งวัคซีนฮิบนี้ได้มีการใช้ฟรีในระบบ EPI ของทั่วโลกประมาณ 98% โดยประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม 2% ที่ยังไม่มีการให้ฟรี จึงเป็นวัคซีนตัวถัดไปที่เราจะต้องผลักดันต่อไป
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้รัฐบาลมีการฉีดให้ฟรีในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มโรคเรื้อรัง แต่เรายังอยากให้มีการขยายต่อ และมีการจัดสรรให้มากกว่านี้

            อย่างไรก็ตาม ยังมีวัคซีนอีก 3 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (VZV), วัคซีนป้องกันโรคนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (PCV) และวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอ (HAV) วัคซีน 3 ชนิดนี้ยังไม่มีแนวทางในการนำเข้าสู่ระบบ EPI สิ่งนี้ถือเป็นปัญหาที่เราต้องพยายามผลักดันกันต่อไปในอนาคต