ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. จัดประชุมวิชาการอายุรศาสตร์ ครั้งที่ 26 ประจำปี 2559 ศาสตร์และศิลป์ในการดูแลผู้ป่วยอายุรกรรม

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. จัดประชุมวิชาการอายุรศาสตร์ ครั้งที่ 26 ประจำปี 2559 "ศาสตร์และศิลป์ในการดูแลผู้ป่วยอายุรกรรม"

ในปัจจุบันวิชาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องทั้งในแนวกว้างและแนวลึก อายุรศาสตร์เป็นศาสตร์ที่อาศัยหลักความรู้ทางการแพทย์มาใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุม ตลอดจนการบำบัดรักษาโรคทางอายุรกรรม เกิดองค์ความรู้ทางการแพทย์มากมายและหลากหลาย เนื้อหาทางวิชาการอายุรศาสตร์กว้างขวางครอบคลุมโรคและความผิดปกติทางร่างกายของผู้ป่วยมากมาย รวมถึงการดูแลบำบัดการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทางอายุรกรรม มีการพิจารณาวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพ โดยเน้นการแก้ปัญหาผู้ป่วย การรักษา การเลือกใช้ยาที่มีประสิทธิภาพ และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการบำบัดดูแลรักษา เป้าหมายคือ สุขภาพที่แข็งแรง และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้รับบริการทางการแพทย์ จึงเป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นที่อายุรแพทย์หรือแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป รวมทั้งบุคลากรทางสาธารณสุขควรให้ความสำคัญ และการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในเชิงป้องกันตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม กลยุทธ์ที่สำคัญคือ การเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการและการนำความรู้ที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยอายุรกรรมได้อย่างเหมาะสมตามเศรษฐานะและสังคม

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมเผยแพร่ความรู้ทางเนื้อหาวิชาการ องค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่สำคัญ และประสบการณ์จากอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกระบบสาขา ตั้งแต่การเฝ้าสังเกต ระวัง ป้องกัน การควบคุมโรค นำไปสู่ทางเลือกที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเกิดเจตคติอันแน่วแน่ที่จะยึดมั่นในแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสม จึงได้กำหนดจัดการประชุมวิชาการทางอายุรศาสตร์เป็นประจำทุกปี โดยเชื่อว่าเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยให้การพัฒนาทางอายุรศาสตร์ในสถานพยาบาลต่าง ๆ ประสบความสำเร็จมากขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ในการดูแลบำบัดรักษาผู้ป่วยอายุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพต่อไป

ดร.นพ.พงษ์เทพ วิบูลย์จันทร์ ประธานการจัดการประชุมฯ กล่าวว่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีกำหนดจัดการประชุมวิชาการอายุรศาสตร์ ครั้งที่ 26 ประจำปี พ.ศ. 2559 "ศาสตร์และศิลป์ในการดูแลผู้ป่วยอายุรกรรม" (State of the Art in Internal Medicine 2016) ระหว่างวันพุธที่ 10-วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ณ ห้องอติเรก ณ ถลาง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการป้องกันและการบำบัดรักษาผู้ป่วยอายุรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น และปัญหาในการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ป่วยอายุรกรรม และเพื่อสร้างเครือข่ายการป้องกันและการบำบัดรักษาผู้ป่วยอายุรกรรมไปสู่ชุมชนและสังคม

โดยเนื้อหาการประชุมวิชาการในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย การบรรยาย อภิปราย และซักถาม โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่จะมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยตามหัวข้อที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้ 

• Holistic approach to TB management

• IBS: Made it's easy

• Topical Steroid: Right Know & Smart Use

• Hemodynamic Assessment: Basic & Advance

• Anticoagulant in CVD

• Chasing the Devil in Neuromuscular Disorders

• IRON

• สารพันปัญหาไต:  AKI & Hyponatremia

• Can We Get Closer to A cure for Rheumatoid Arthritis?

• Systemic Treatment for Metastatic Breast Cancer: State of Art

• Tissue concentrations and antimicrobial activity: the PK/PD considerations

• Endocrinology

ดร.นพ.พงษ์เทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า หัวข้อการประชุมที่คัดเลือกมาทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่พบบ่อยทั้งสิ้น โดยจะขอหยิบยก 3 ไฮไลท์ที่น่าสนใจของการประชุมในแต่ละวันมานำเสนอ ได้แก่ IBS: Made it's easy, IRON และ Systemic Treatment for Metastatic Breast Cancer: State of Art

IBS: Made it's easy เป็นหัวข้อการประชุมในวันแรกซึ่งเกี่ยวกับอาการปวดท้อง ในปัจจุบันพบผู้ป่วยมาด้วยอาการปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุจำนวนมากขึ้น มักพบในผู้หญิงที่ยังมีอายุไม่มาก ในการประชุมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับความรู้ในแง่สาเหตุของการเกิดอาการปวดท้องที่มักจะเกิดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ รวมถึงวิธีการปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วยที่มาด้วยอาการดังกล่าว วันที่สอง IRON เป็นหัวข้อเกี่ยวกับธาตุเหล็ก ในปัจจุบันการขาดธาตุเหล็กเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยพบว่ามีผู้ป่วยขาดธาตุเหล็กสูงถึง 40% ของประเทศ ในการประชุมครั้งนี้จะลงลึกรายละเอียดเกี่ยวกับการขาดธาตุเหล็ก รวมถึงการปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้มีภาวะแทรกซ้อนจากการขาดธาตุเหล็ก และนอกจากการขาดธาตุเหล็กแล้ว การได้รับธาตุเหล็กเกินก็พบว่าเป็นปัญหาได้เช่นกัน เช่น ในผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียซึ่งต้องได้รับเลือดบ่อย ๆ จะมีปัญหาหัวใจทำงานผิดปกติจากภาวะเหล็กเกินที่ไปสะสมในหัวใจ ดังนั้น จะมีวิธีป้องกันได้อย่างไร จะนำธาตุเหล็กออกไปจากร่างกายได้อย่างไร และจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าธาตุเหล็กเกิน ก็สามารถหาคำตอบได้ในการประชุมครั้งนี้ และวันที่สาม Systemic Treatment for Metastatic Breast Cancer: State of Art เป็นหัวข้อเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ หัวข้อนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านมมาบรรยายในแง่ของการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแบบองค์รวม เช่น จะมีวิธีการตรวจเต้านมอย่างไร ช่วงอายุที่ต้องเฝ้าระวัง อาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม เพื่อจะได้ดูแลและตรวจสอบคัดกรองร่างกายได้อย่างถูกต้อง” ดร.นพ.พงษ์เทพ กล่าว  

 ทั้งนี้คาดว่าผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์ แพทย์เวชปฏิบัติ อายุรแพทย์ พยาบาล เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนผู้สนใจประมาณ 150 คน จะได้รับความรู้และทักษะด้านการป้องกันและการบำบัดรักษาผู้ป่วยอายุรกรรมอย่างมีคุณภาพ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้งานในชีวิตประจำวัน

“ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมประชุมครั้งนี้ เพราะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดการประชุมในหัวข้อ 'ศาสตร์และศิลป์ในการดูแลผู้ป่วยอายุรกรรม' โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะได้เห็นวิธีการเสนอความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานได้จริง ซึ่งในหัวข้อต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นหัวข้อที่พบได้บ่อยในการรักษาผู้ป่วยทั้งสิ้น” ดร.นพ.พงษ์เทพ กล่าว  

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-7445-1454, 0-7445-1458 โทรสาร 0-7442-9385  E-mail: med@medicine.psu.ac.th หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทาง http://medinfo.psu.ac.th