ความสัมพันธ์ของอาหารทะเล ระดับสารปรอทในสมอง และยีนแอโพไลโปโปรตีน อี4 ต่อประสาทพยาธิวิทยาของสมองผู้สูงอายุ

ความสัมพันธ์ของอาหารทะเล ระดับสารปรอทในสมอง                                             และยีนแอโพไลโปโปรตีน อี4 ต่อประสาทพยาธิวิทยาของสมองผู้สูงอายุ

JAMA. 2016;315(5).

            บทความเรื่อง Association of Seafood Consumption, Brain Mercury Level, and APOE ε4 Status with Brain Neuropathology in Older Adults รายงานว่า การบริโภคอาหารทะเลได้รับการสนับสนุนว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่ขณะเดียวกันก็เริ่มมีความวิตกถึงการปนเปื้อนของสารปรอทซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาท

            การศึกษานี้ประเมินผลจากการบริโภคอาหารทะเลต่อระดับสารปรอทในสมอง และความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคอาหารทะเลหรือระดับสารปรอทในสมองต่อประสาทวิทยาของสมอง โดยวิเคราะห์ข้อมูลภาคตัดขวางจากการศึกษา Memory and Aging Project ซึ่งมีขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 2004-2013 ในกลุ่มตัวอย่างที่อาศัยอยู่ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในนครชิคาโก การศึกษาได้รวบรวมตัวอย่างสมอง 286 ชิ้นจากกลุ่มตัวอย่างที่เสียชีวิต 54 ราย (51.6%) อายุเฉลี่ย (SD) เมื่อเสียชีวิตเท่ากับ 89.9 (6.1) ปี โดย 67% (193) เป็นผู้หญิง และมีระยะเวลาการศึกษาเฉลี่ย (SD) เท่ากับ 14.6 (2.7) ปี

            การบริโภคอาหารทะเลประเมินครั้งแรกด้วยแบบสอบถามอาหารที่ระยะเฉลี่ย 4.5 ปีก่อนเสียชีวิต การประเมินโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองเสื่อมประกอบด้วยโรคอัลไซเมอร์ เลวีบอดี และจำนวนของบริเวณสมองที่ขาดเลือด (macroinfarcts และ microinfarcts) การบริโภคอาหารทะเลและกรดไขมันโอเมกา 3 ประเมินจากแบบทดสอบอาหารรายปีก่อนเสียชีวิต และประเมินระดับสารปรอทและซีลีเนียมในเนื้อเยื่อด้วย การวิเคราะห์โดยการอาบนิวตรอน

            จากตัวอย่างสมอง 286 ชิ้นจากผู้ป่วย 544 ราย พบว่าระดับสารปรอทในสมองสัมพันธ์เชิงบวกกับจำนวนมื้อที่รับประทานอาหารทะเลในแต่ละสัปดาห์ (ρ = 0.16 และ p = 0.02) จากตัวแบบที่ปรับสำหรับอายุ เพศ การศึกษา และพลังงานที่ได้รับจากอาหารพบว่า การบริโภคอาหารทะเล (≥ 1 มื้อ/สัปดาห์) สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับพยาธิวิทยาของอัลไซเมอร์ที่ต่ำลง ได้แก่ ความหนาแน่นของ neuritic plaques (β = -0.69 หน่วย [95% CI เท่ากับ -1.34 ถึง -0.04]), ความรุนแรงและการกระจายของ neurofibrillary tangles (β = -0.77 หน่วย [95% CI เท่ากับ -1.52 ถึง -0.02]) และประสาทพยาธิวิทยาที่บ่งชี้การเป็นโรคอัลไซเมอร์ (β = -0.53 หน่วย [95% CI เท่ากับ -0.96 ถึง -0.10]) แต่เฉพาะผู้ที่มียีนแอโพไลโปโปรตีน อี4 (APOE ε4) การบริโภคกรดแอลฟ่า-ไลโนเลนิก มากขึ้น (18:3 n-3) สัมพันธ์กับค่า odds ที่ต่ำลงต่อเนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด (cerebral macroinfarctions) (odds ratio สำหรับ tertiles 3 เทียบกับ 1 เท่ากับ 0.51 [95% CI เท่ากับ 0.27-0.94]) ขณะเดียวกันพบว่า  การบริโภคน้ำมันปลาไม่มีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติกับตัวบ่งชี้ทางประสาทพยาธิวิทยา และระดับสารปรอทในสมองที่สูงขึ้นไม่มีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญกับประสาทพยาธิวิทยาของสมองที่เพิ่มขึ้น

            ข้อมูลจากการวิเคราะห์ภาคตัดขวางชี้ว่า การบริโภคอาหารทะเลในระดับปานกลางสัมพันธ์กับประสาทพยาธิวิทยาของโรคอัลไซเมอร์ที่ต่ำลง และแม้การบริโภคอาหารทะเลสัมพันธ์กับระดับสารปรอทในสมองที่สูงขึ้น แต่ก็ไม่สัมพันธ์กับประสาทพยาธิวิทยาของสมอง