ยาฆ่าเชื้อผิวหนังสำหรับการผ่าตัดคลอด

ยาฆ่าเชื้อผิวหนังสำหรับการผ่าตัดคลอด

N Engl J Med 2016;374:647-55.

            บทความเรื่อง A Randomized Trial Comparing Skin Antiseptic Agents at Cesarean Delivery รายงานว่า การฆ่าเชื้อผิวหนังก่อนการผ่าตัดช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อแผลผ่าตัดได้  อย่างไรก็ดี ยังคงมีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับแนวทางการเลือกยาฆ่าเชื้อสำหรับการผ่าตัดคลอดอันเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่พบมากที่สุดในหญิงชาวอเมริกัน

            การศึกษาประเมินผลของการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อสูตรคลอเฮกซิดีน-แอลกอฮอล์ก่อนผ่าตัด เทียบกับน้ำยาฆ่าเชื้อสูตรไอโอดีน-แอลกอฮอล์สำหรับป้องกันการติดเชื้อแผลผ่าตัดภายหลังการผ่าตัดคลอด โดยสุ่มให้หญิงตั้งครรภ์ที่ผ่าตัดคลอดได้รับการฆ่าเชื้อด้วยคลอเฮกซิดีน-แอลกอฮอล์หรือไอโอดีน-แอลกอฮอล์ ผลลัพธ์หลักได้แก่ การติดเชื้อของแผลผ่าตัดทั้งตื้นและลึกภายใน 30 วันหลังผ่าคลอด ประเมินตามนิยามของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา

            การศึกษารวบรวมหญิงตั้งครรภ์ผ่าตัดคลอด 1,147 ราย ระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ. 2011 ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2015 โดย 572 ราย ได้รับการฆ่าเชื้อด้วยคลอเฮกซิดีน-แอลกอฮอล์ และ 575 ราย ได้รับการฆ่าเชื้อด้วยไอโอดีน-แอลกอฮอล์ จากการวิเคราะห์ intention-to-treat analysis พบการติดเชื้อแผลผ่าตัดในหญิง 23 ราย (4.0%) ในกลุ่มฆ่าเชื้อด้วยคลอเฮกซิดีน-แอลกอฮอล์ และ 42 ราย (7.3%) ในกลุ่มฆ่าเชื้อด้วยไอโอดีน-แอลกอฮอล์ (relative risk เท่ากับ 0.55 ค่า 95% CI เท่ากับ 0.34-0.90; p = 0.02) อัตราการติดเชื้อของแผลที่อยู่ตื้นเท่ากับ 3.0% ในกลุ่มฆ่าเชื้อด้วยคลอเฮกซิดีน-แอลกอฮอล์ และ 4.9% ในกลุ่มฆ่าเชื้อด้วยไอโอดีน-แอลกอฮอล์ (p = 0.10) ขณะที่อัตราการติดเชื้อของแผลที่อยู่ลึกเท่ากับ  1.0% และ2.4% ตามลำดับ (p = 0.07) ทั้งนี้อัตราการเกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนังพบใกล้เคียงกันในทั้ง 2 กลุ่ม

            การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อคลอเฮกซิดีน-แอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อที่ผิวหนังก่อนการผ่าตัดสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแผลผ่าตัดหลังผ่าตัดคลอดได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการใช้ไอโอดีน-แอลกอฮอล์