แพทย์จุฬาฯ พัฒนาแอพพลิเคชั่น ‘Resus Ultrasound’ คู่มือแพทย์ฉุกเฉิน ลดความผิดพลาดในการวิเคราะห์อาการผู้ป่วย

แพทย์จุฬาฯ พัฒนาแอพพลิเคชั่น Resus Ultrasound’ คู่มือแพทย์ฉุกเฉิน ลดความผิดพลาดในการวิเคราะห์อาการผู้ป่วย

จากปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินที่หมดสติ ช็อก เหนื่อยมาก หัวใจหยุดเต้น ซึ่งการซักประวัติ ตรวจร่างกาย แสดงจากการวิจัยแล้วพบว่าไม่เพียงพอ เพราะอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดของการรักษา วินิจฉัยได้ง่าย หรือแม้แต่การทำหัตถการฉุกเฉินก็จะมีภาวะแทรกซ้อนชัดเจนมากกว่าในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการอัลตราซาวนด์

พญ.สุธาพร ล้ำเลิศกุล อาจารย์ประจำหน่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งได้ไปศึกษาเรื่อง Ultrasound Emergency เฉพาะทางจาก Harvard Medical School และ Royal Brompton Hospital, London UK จึงได้นำความรู้กลับมาพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น เพื่อตอบโจทย์ปัญหานี้ในประเทศไทยและเพื่อการใช้งานง่ายของแพทย์ห้องฉุกเฉิน

“ศาสตร์ในการใช้อัลตราซาวนด์ในห้องฉุกเฉินเริ่มมีประมาณ 10 ปีที่แล้ว แต่ในไทยเริ่มมาได้ 5 ปี และมีการใช้อย่างแพร่หลายในปีนี้ ซึ่งเป็นปีแรกที่ได้บรรจุอยู่ในหลักสูตรของแพทย์ฉุกเฉิน โดยวิธีการนี้จะช่วยลดความผิดพลาดในการวิเคราะห์ผู้ป่วยได้อย่างมาก จากเมื่อก่อนที่เมื่อผู้ป่วยมา แพทย์จะตรวจด้วยมือ ซักประวัติ ส่งไปเอกซเรย์ แต่พอมีการอัลตราซาวนด์ในห้องฉุกเฉินขึ้น ทำให้สามารถดูได้เลยว่าผู้ป่วยขาดน้ำ หรือมีน้ำ มีหนองอยู่ตรงไหน เช่น ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเมื่อก่อนมักเข้าใจว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะเสียชีวิตจากการขาดน้ำ แพทย์ก็ให้น้ำ แต่หลังจากมีการอัลตราซาวนด์ในห้องฉุกเฉิน พบว่าผู้ป่วยครึ่งหนึ่งขาดน้ำ ครึ่งหนึ่งน้ำเกิน ซึ่งถ้าผู้ป่วยไม่ได้ทำอัลตราซาวนด์ก็จะไม่สามารถบอกได้ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและต้องแทงคอเพื่อล้างไต สมัยก่อนมีโอกาสแทงโดนปอดได้ สมมุติ 5% แต่ด้วยวิธีการนี้โอกาสเกิดขึ้นจะกลายเป็น 0%” พญ.สุธาพร กล่าว

โดยแอพพลิเคชั่น Resus Ultrasound’ นับเป็น Interactive Textbook ครั้งแรกของคนไทยบน App Store สำหรับให้แพทย์ใช้ศึกษาหรือเป็นคู่มือการใช้อัลตราซาวนด์ในห้องฉุกเฉิน ใช้เป็นคู่มือช่วยลดความผิดพลาดในการวิเคราะห์อาการผู้ป่วย ซึ่งได้มีการเผยโฉมแอพพลิเคชั่นดังกล่าวในงาน “Digital Thailand 2016” เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

จุดเด่นของแอพพลิเคชั่นนี้คือ สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องมีอินเตอร์เน็ต แพทย์ฉุกเฉินสามารถเรียนรู้วิธีการวางมือแบบง่ายและวิธีการอ่านผลภาพปกติและผิดปกติ โดย Interactive Textbook นี้เป็นแอพพลิเคชั่นแรก ๆ ที่ผลิตโดยคนไทย เพื่อเป็นสื่อการสอนให้แพทย์เรียนรู้ทั่วโลกใน iTunes Store ซึ่งในปัจจุบันแอพพลิเคชั่นทั่วโลกในเรื่องเดียวกันนี้มีเพียง 7-8 แอพพลิเคชั่นเท่านั้น เนื่องจากต้องใช้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เฉพาะทาง

ทั้งนี้หลังจากปล่อยดาวน์โหลดได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี มียอดดาวน์โหลดจากทั่วโลก (ข้อมูลจาก iTunes Connect)