กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า จัดการประชุม Clinical Practice 2016: Emergency Pediatrics: Make it Easy

กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า จัดการประชุม Clinical Practice 2016: Emergency Pediatrics: Make it Easy

กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า จัดการประชุม Clinical Practice 2016: Emergency Pediatrics: Make it Easy ระหว่างวันที่ 9-11 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ณ อาคารพัชรกิติยาภา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบไปด้วย กุมารแพทย์ แพทย์เวชปฏิบัติที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเด็ก แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยเด็กทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้ทบทวนและเพิ่มพูนความรู้ใหม่ ๆ เพื่อการวินิจฉัยและให้การรักษาเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง 

รศ.พ.อ.หญิง พญ.นภอร ภาวิจิตร เลขานุการการจัดการประชุม Clinical Practice 2016: Emergency Pediatrics: Make it Easy กล่าวว่า การประชุม Clinical Practice เป็นการประชุมที่จัดอย่างต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี โดยแต่ละปีจะมีธีมการประชุมที่แตกต่างกัน สำหรับ Clinical Practice 2016 ครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ธีมการประชุมที่ว่า Emergency Pediatrics: Make it Easy โรคฉุกเฉินที่พบในกุมารเวชศาสตร์ โดยธีมในแง่ของโรคฉุกเฉินเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ แต่ไม่ได้มีการหยิบยกมาพูดหลายปีแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการพูดถึงปัญหาที่พบใน OPD ทั่วไปหรือเวชปฏิบัติทั่วไปมากกว่า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว โรคฉุกเฉินเป็นปัญหาที่จะต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าวินิจฉัยและให้การรักษาเบื้องต้นไม่ได้ แน่นอนว่าย่อมจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วย และหากให้การรักษาช้าอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต หรือเกิดปัญหาความเจ็บป่วยที่อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนหรือความพิการตามมาได้ การมาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้จึงเหมือนได้มาทบทวนและเพิ่มเติมความรู้ใหม่ ๆ ที่ก้าวหน้าของแต่ละหน่วย เพื่อนำไปใช้ในเวชปฏิบัติได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง

“แม้อุบัติการณ์ของโรคฉุกเฉินจะพบน้อยกว่าโรคทั่วไป แต่อาจส่งผลร้ายแรงกว่าและเป็นอันตรายถึงชีวิต ถ้ารักษาช้า ไม่ทันการณ์ เพราะฉะนั้น แพทย์จึงต้องตระหนักรู้เรื่องนี้ให้มากเป็นพิเศษ เพราะผู้ป่วยหนึ่งคนที่มาอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นหลายระบบ และถ้ารักษาช้าจะเกิดปัญหาตามมา อวัยวะจะเกิดการล้มเหลวและยิ่งไปกว่านั้นคือ ไม่ได้ล้มเหลวเพียงแค่อวัยวะแรกอวัยวะเดียว แต่อวัยวะอื่น ๆ จะเริ่มล้มเหลวตามไปด้วยจากภาวะช็อก และในที่สุดจะเสียชีวิต”

สำหรับรูปแบบการประชุม ประกอบด้วย การบรรยาย, symposium, special lecture และ workshop เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ลงมือฝึกปฏิบัติ ได้แก่ Mechanical ventilator: simple set up การตั้งเครื่องช่วยหายใจ Update PALS guideline แนวทางการกู้ชีวิตผู้ป่วยเด็ก Fluid & electrolyte: make it easy การดูความผิดปกติของสารน้ำและสมดุลเกลือแร่ต่าง ๆ และ Percutaneous central venous line insertion in neonate การใส่สายเข้าหลอดเลือดดำใหญ่ในทารกแรกเกิดเพื่อให้สารน้ำ

ทั้งนี้หัวข้อการประชุมตลอด 3 วัน ล้วนมีความหลากหลายและน่าสนใจ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง รู้ว่าเมื่อไหร่จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า เพราะโรคฉุกเฉินถ้ารักษาช้าจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือถ้าไม่อันตรายถึงชีวิตก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาอีกมาก อาทิ Dengue shock syndrome โรคไข้เลือดออก ถ้าหากให้การดูแลรักษาที่ดีก็สามารถจะประคับประคองให้ผู้ป่วยหายกลับมาเป็นปกติได้ แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีภาวะช็อกจากไข้เลือดออก Septic shock ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียแบบรุนแรง ซึ่งถ้ารักษาให้ยาปฏิชีวนะอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตสูง Foreign body & corrosive ingestion ในเด็กเล็ก ๆ ที่รับประทานวัตถุแปลกปลอมหรือสารอันตราย เช่น สารกรดด่างรุนแรงอย่างน้ำยาล้างห้องน้ำ ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในเด็กจะมีวิธีในการดูแลรักษาอย่างไร ประเมินอาการผู้ป่วยอย่างไร Common pitfalls in DKA management ภาวะฉุกเฉินทางต่อมไร้ท่อหลาย ๆ โรค เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนตามมารุนแรง หรือภาวะแพ้แบบเฉียบพลันรุนแรงที่เรียกว่า Anaphylaxis อาจจะทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากและหยุดหายใจได้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการแพ้อาหาร หรือโดนแมลงกัดต่อยจนเกิดการแพ้อย่างรุนแรง Acute liver failure ภาวะตับวายจะรักษาประคับประคองอย่างไร และเมื่อไหร่จะต้องทำการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการปลูกถ่ายตับได้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี Spot diagnosis emergency skin และ genetics ให้ผู้ร่วมเข้าประชุมได้มีโอกาสตอบคำถามโดยการกดเลือกคำตอบอีกด้วย  

“การประชุมครั้งนี้คัดเรื่องเด่นของแต่ละหน่วย ซึ่งมีทั้งความรู้เบื้องต้นและความรู้ระดับลงลึกในแต่ละสาขา เป็นแนวเวชปฏิบัติให้แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปทำได้ ส่วนใหญ่จะเน้นให้สามารถวินิจฉัยได้ รักษาเบื้องต้นได้ และรักษาแบบประคับประคองที่สามารถทำได้ตามระดับของโรงพยาบาลที่ให้การรักษา และรู้ข้อบ่งชี้ในการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรซึ่งเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของแต่ละสาขามาถ่ายทอดความรู้ คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 250 คน”  

ด้านประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับ รศ.พ.อ.หญิง พญ.นภอร กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้นี้ไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาโรคฉุกเฉินได้ครอบคลุมทั้งหมด สามารถที่จะวินิจฉัยได้ รักษาเบื้องต้นได้ในระดับศักยภาพของโรงพยาบาล และสามารถรู้ข้อบ่งชี้ในการส่งต่อผู้ป่วยได้ ซึ่งนอกจากจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้ ซักถามปัญหา ฝึกปฏิบัติใน workshop แล้ว ยังจะได้ทำ Spot diagnosis ที่เป็น interactive อีกด้วย 

“โรคฉุกเฉินมีความสำคัญ ต้องรักษาผู้ป่วยให้เร็ว มันเหมือนเป็นการวินิจฉัยและการรักษาที่ต้องแข่งกับเวลา เพื่อทำให้ผู้ป่วยมีผลการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งโอกาสที่จะเจอกับโรคฉุกเฉินไม่ได้มีเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น แพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลต่างจังหวัดก็มีโอกาสที่จะเจอได้ตลอดเช่นกัน เพราะผู้ป่วยเมื่อเกิดปัญหาก็มักจะไปในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นให้ได้อย่างทันท่วงที” 

นอกจากนี้การดูแลผู้ป่วยเด็กยังต้องดูเป็นองค์รวม ครอบครัวก็มีความสำคัญ เนื่องจากเด็กอยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่ เพราะฉะนั้น ต้องดูแลพ่อแม่ให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น รับรู้ถึงการรักษาที่กำลังจะทำในการดูแลผู้ป่วยเด็ก เพื่อให้ได้รับผลการรักษาที่ดีที่สุด 

ท้ายนี้ รศ.พ.อ.หญิง พญ.นภอร กล่าวว่า “การจัดการประชุมทุกปีมีความสำคัญ เป็นการกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมตระหนักถึงความรู้ที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เพราะฉะนั้น จะต้องเพิ่มพูนความรู้ที่ทันสมัยเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้การรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยเด็กและครอบครัว การประชุมครั้งนี้ที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับปัญหาโรคฉุกเฉินซึ่งก็มีความก้าวหน้าใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งเทคนิคการรักษาใหม่ ๆ เครื่องมือใหม่ ๆ ที่เข้ามาช่วยให้การรักษาดีขึ้น เป็นโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มาทบทวนและเพิ่มพูนความรู้ที่ทันสมัย” 

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2763-4162, 0-2763-4163 E-mail: sumittra.ped@gmail.com หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทาง www.pedpmk.org