วิเคราะห์และวิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... (ตอนที่ 1)

วิเคราะห์และวิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... (ตอนที่ 1)

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง

            กฎหมายในรูปแบบของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... นี้ได้มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งมีความพยายามที่จะให้มีการตราออกมาเป็นกฎหมายให้ได้ โดยเริ่มจากปี พ.ศ. 2550 ในสมัยที่ นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ยุคปฏิวัติโดย คมช.) มีความพยายามที่จะดำเนินการยกร่างกฎหมายแบบนี้ ซึ่งในยุคนั้นเรียกว่า ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... โดยมีการยกร่างมาเสนอรัฐสภาถึง 6 ฉบับ แต่ได้มีกลุ่ม “ผู้ต่อต้านพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขฯ” (ซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขหลากหลายสาขาวิชาชีพ) ได้ดำเนินการคัดค้านอย่างเหนียวแน่นตลอดมา ซึ่งต่อมาได้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม “พิทักษ์สิทธิพลเมือง” และ “สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)” เป็นแกนนำที่ต่อสู้คัดค้านไม่ให้มีการนำร่างพระราชบัญญัตินี้เข้าพิจารณาในรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นยุคนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนกลุ่มที่ต่อต้านนี้ได้ยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข และได้รวบรวมรายชื่อประชาชนได้มากกว่า 20,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ไปประกบกับร่างพระราชบัญญัติที่บรรดาผู้สนับสนุนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ฯลฯ ต้องการ ทั้งนี้ถ้าเผื่อร่างกฎหมายนี้ผ่านการรับรองจากรัฐสภา พวกเราผู้คัดค้านจะได้ขอแก้ไขให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชนผู้รับบริการและประชาชน (บุคลากรทางการแพทย์) ที่ให้บริการเช่นเดียวกัน

            จนในที่สุดร่างพระราชบัญญัติเจ้าปัญหานี้ก็ไม่สามารถนำเข้าไปพิจารณาในรัฐสภาได้ จนกระทั่งมีการปฏิวัติในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

            แต่ฝ่ายผู้ต้องการผลักดันกฎหมายนี้ก็ยังไม่เลิกความพยายามในการที่จะให้มีการออกกฎหมายฉบับนี้ให้ได้ มีความพยายามเข้าหารัฐมนตรีสาธารณสุขในยุคปฏิวัติ คสช. มาอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามผลักดันผ่านรัฐมนตรีสาธารณสุข ทั้ง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร จนบัดนี้มีข่าวว่า ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร จะได้นำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอ ครม. เพื่อให้ส่งเข้า สนช. เพื่อรับรองให้ออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป

            ผู้เขียนที่เป็นผู้คัดค้านกฎหมายฉบับนี้มาตลอด (ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อกฎหมายจาก “คุ้มครองผู้เสียหาย” มาเป็น “คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบ”) แต่เนื้อหาสาระไม่ได้แปรเปลี่ยนไปในทางที่จะ “สร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีในระบบบริการสาธารณสุข” ตามเหตุผลที่ผู้ยกร่างกล่าวอ้างแต่อย่างใดทั้งสิ้น

         ก่อนจะวิเคราะห์และร่างกฎหมายฉบับนี้ ผู้เขียนขอบอกเล่าเรื่อง “ข้อเท็จจริงทางการแพทย์” ให้แก่ประชาชนพลเมืองไทยที่ไม่ได้เป็นแพทย์ทราบก่อนว่า การประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือการเป็น “หมอรักษาคน” นั้น มีความหมายและความครอบคลุมไปถึงกิจกรรมหรือพฤติการณ์อะไรบ้าง

            การประกอบวิชาชีพเวชกรรมคือ การดูแลรักษารวมทั้งแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วย (Pain and sufferings) ของผู้ป่วย (patients) โดยมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ให้การดูแลรักษาตามกระบวนการทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งรวมครบ 4 ระดับ คือ

            1. ส่งเสริมสุขภาพ

            2. ป้องกันโรค อุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บ

            3. ตรวจคัดกรองก่อนเกิดโรค วินิจฉัยโรค รักษาพยาบาล

            4. ฟื้นฟูสุขภาพ

            การประกอบวิชาชีพเวชกรรมสามารถทำได้ทั้งในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาล แต่การปฏิบัติตามกระบวนการทางการแพทย์หรือการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นการปฏิบัติที่เรียกว่า ดำเนินการตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ (Medicine is a science of probability and an art of uncertainty) ซึ่งมีความหมายว่าในการรักษาผู้ป่วยนั้น แพทย์จะต้องใช้ข้อมูลจากประวัติความเจ็บป่วยของผู้ป่วย แล้วตรวจร่างกายและวิเคราะห์ว่าผู้ป่วยนั้นป่วยด้วยโรคอะไร แต่ประวัติและการตรวจร่างกายแบบหนึ่งอาจจะเกิดได้จากหลาย ๆ โรค แพทย์จึงต้องคิดว่าน่าจะเป็นสัดส่วนว่าควรจะเป็นโรคอะไรได้มากที่สุด เรียกว่าการวินิจฉัยแยกโรค แต่ถ้ายังไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่าเป็นโรคอะไรได้บ้าง แพทย์ก็จะต้องส่งผู้ป่วยไปตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ อุจจาระ ส่งไปเอกซเรย์ ทำ CT, MRI, ultrasound, etc. เพื่อหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมว่า ให้มีเหตุผลหรือผลจากการตรวจพิเศษมาสนับสนุนว่าผู้ป่วยควรเป็นโรคอะไรในสัดส่วนมากที่สุด 

            ทั้งหมดนี้คือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

            เมื่อแพทย์ตัดสินใจได้แล้วว่าผู้ป่วยนั้นป่วยด้วยโรคอะไรแน่ คราวนี้แพทย์ต้องใช้กระบวนการทางศิลปศาสตร์มาเลือกวิธีการรักษาผู้ป่วย

            แต่การป่วยด้วยโรคเดียวกัน ถ้าแพทย์เลือกยาหรือวิธีการรักษาเหมือนกัน ผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการตอบสนองต่อการรักษาหรือยาไม่เหมือนกัน (ลางเนื้อชอบลางยา) เพราะในร่างกายและอวัยวะของผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะมีปัญหาอื่นหรือส่วนประกอบไม่เหมือนกัน บางคนอาจหายจากอาการป่วย บางคนอาจแพ้ยาหรือมีอาการอันไม่พึงประสงค์ (Adverse reaction) บางคนอาจจะมีโรคแทรกซ้อนหรืออาการทรุดลง อาจพิการหรือตาย

            ฉะนั้น กระบวนการรักษาหรือผ่าตัดผู้ป่วยจึงเกิดความไม่แน่นอนว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษานั้น อาจจะมีอาการ “ดีขึ้น” หรือ “อาการเลวลง หรือเกิดความเสียหาย” แม้ว่าแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการทำงานอย่างระมัดระวังตามมาตรฐานที่ดีที่สุดในสภาพการณ์นั้น ๆ แล้ว

            ฉะนั้น ในการที่ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยนั้น ผู้ป่วยจึงอาจจะมีอาการดีขึ้น หายจากอาการเจ็บป่วย หรือกลายเป็นโรคเรื้อรัง มีโรคแทรกซ้อน พิการ หรือตาย

            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม Tien ได้กล่าวในปี พ.ศ. 2557 ว่า “If you are sick, you can be cured, but you can also have complication, which may be fatal. So is malpractice, it’s inevitable” แปลว่า “ถ้าคุณป่วย อาจจะได้รับการรักษาจนหายจากอาการป่วย แต่คุณก็อาจจะมีโรคแทรกซ้อน ซึ่งอาจจะถึงตายเช่นเดียวกันกับทุรเวชปฏิบัติ (หรือการกระทำผิดของแพทย์) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้”

            ฉะนั้น จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความเสียหายของผู้ป่วยจากการไปรับการตรวจรักษาจากสถานพยาลและโรงพยาบาลต่าง ๆ นั้น อาจจะเกิดขึ้นได้จากสาเหตุ 2 อย่าง ได้แก่ 1. จากการที่มีผู้ทำผิด หรือ 2. เกิดจากการที่ไม่มีผู้ทำผิด ได้แก่ การเกิดโรคแทรกซ้อน แพ้ยา มีอาการอันไม่พึงประสงค์ หรือเป็นเหตุสุดวิสัยที่แพทย์ได้ใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานทางการแพทย์แล้ว แต่ผู้ป่วยอาจไม่หาย พิการหรือตาย ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเวียดนามได้กล่าวไว้

            ในมาตรา 5 ผู้ได้รับผลกระทบมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายอื่นโดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด

วิเคราะห์และวิจารณ์

         ทุกคนที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจากการไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจะได้รับเงินช่วยเหลือไปเลยโดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด แสดงว่าพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้สถานพยาบาลให้การรักษาแบบที่เรียกว่า “Money back guarantee”  (แปลว่า มาโรงพยาบาลกันเถอะ รักษาแล้วต้องหาย ถ้าพิการ/ตาย มีโรคแทรกซ้อนจะได้เงินช่วยเหลือทุกกรณี) แสดงว่าถ้าผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล ถ้าหายป่วย โรงพยาบาลก็ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ถ้าไม่หายป่วย (ไม่พอใจอ้างว่ามีผลกระทบที่ไม่ดีหรือเสียหาย) ก็จะได้รับเงิน “ปลอบขวัญทุกคน”

            ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นหมอ และได้ถามเพื่อนหมอ (ที่ยังประกอบวิชาชีพรักษาผู้ป่วยอยู่ ไม่ใช่หมอที่เลิกประกอบวิชาชีพแล้ว) หลายคนต่างก็มีความเห็นว่า การไม่พิสูจน์ถูก/ผิด เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับผู้ป่วยนั้น สิ่งแรกที่ผู้ป่วยและญาติคิดก็คือ “หมอต้องทำผิดหรือรักษาชุ่ย ๆ หรือประมาทเลินเล่อแน่เลย” ฉะนั้น หมอที่รักษาผู้ป่วยนั้นก็เท่ากับมีตราบาปประทับไว้แล้วว่าเป็น “หมอฆ่าคนหรือหมอชุ่ย”

         การร่างกฎหมายช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายโดยไม่พิสูจน์ถูกผิด แม้จะเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว แต่กลับจะเป็นการใส่ร้ายและประณามแพทย์หรือโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยนั้นจากผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และสาธารณชนอย่างแน่นอน

            ในมาตรา 7 บอกว่าผู้ได้รับผลกระทบมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้

            ในมาตรา 8 กำหนดว่าบทบัญญัติในมาตรา 7 มิให้ใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้

  1. ผลกระทบสำหรับผู้รับบริการสาธารณสุขที่เกิดขึ้นตามธรรมดาของโรคนั้น
  2.  ผลกระทบซึ่งหลีกเลี่ยงมิได้จากการให้หรือรับบริการสาธารณสุขตามมาตรฐาน