การประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 10 “โภชนาการเชิงรุก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: Proactive Nutrition for Sustainability”

การประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 10 “โภชนาการเชิงรุก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: Proactive Nutrition for Sustainability”

สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายทางวิชาการ ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เรื่อง “โภชนาการเชิงรุก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559

.เกียรติคุณ พญ.จุฬาภรณ์ รุ่งพิสุทธิพงษ์ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า การจัดการประชุมวิชาการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อรวมพลังภาคีเครือข่ายด้านอาหารและโภชนาการ และเป็นเวทีให้นักวิชาการด้านอาหารและโภชนาการ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านอาหารและโภชนาการของประเทศในมุมมองต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน และสร้างความตระหนักถึงปัญหาในอนาคตและร่วมหาแนวทางในการพัฒนาต่อไป

เนื้อหาในการประชุมมุ่งหวังให้เกิดการวางแผนในเชิงรุก โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าใจสถานการณ์การบริโภคและสุขภาพคนไทย มีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจมากมายจากวิทยากรทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เช่น การบรรยายเรื่อง Global Action Plan for the Prevention and Control of NCDs จาก WHO และ Nutrition and Healthcare Management for Aging and Longevity: Japan Model จากวิทยากรชาวญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเรื่อง ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการธุรกิจอาหารเพื่อโภชนาการของคนไทย, แนวโน้มสถานการณ์ด้านอาหารและโภชนาการของประเทศไทย, การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกัน NCDs ในประเทศไทย, ขับเคลื่อนเชิงรุก สร้างสุขผู้สูงวัยไทย, Healthy diet, Fact or Fake Check ก่อน Share, App 60 days best of me ลดพุงลดโรคใน 60 วัน เป็นต้น อีกทั้งยังมีการนำเสนอผลงานแบบปากเปล่า (Oral presentation) และแบบโปสเตอร์ (Poster presentation) รวมกว่า 70 เรื่อง

“การประชุมครั้งนี้จะบรรลุเป้าหมายในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านอาหารและโภชนาการที่ทันต่อกระแสสังคมจากมุมมอง ทัศนะ และประสบการณ์ของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนการสร้างภาคีเครือข่ายอันเป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักและการดำเนินการเชิงรุก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านโภชนาการและสุขภาพอนามัยของคนไทยให้ดียิ่งขึ้นสืบไป” .เกียรติคุณ พญ.จุฬาภรณ์ กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุม สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง http://www.tcn-conference.com หรือสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ 08-0701-8345 และ E-mail: tcn.conference@gmail.com

นอกจากนี้สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ ได้ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการผู้มีความเชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ร่วมกันพิจารณาหาข้อเท็จจริงทางวิชาการเพื่อนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบ ในเรื่องอาหารและโภชนาการที่มีการกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งได้สร้างความสับสนให้แก่ประชาชนที่ได้รับข่าวสาร ด้วยตระหนักว่าการสร้างความเข้าใจในเชิงรุกให้แก่ประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านโภชนาการและสุขภาพอนามัยของคนไทยอย่างยั่งยืน

สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ จึงได้จัดพิมพ์เผยแพร่ข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ eBook โดยใช้ชื่อว่า “ไขข้อข้องใจด้านอาหารและโภชนาการ” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ด้วยอีกทางหนึ่ง

พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื้อหาในหนังสือนี้ประกอบไปด้วยประเด็นที่มีการส่งต่อกันในโลกออนไลน์บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดจากความเข้าใจผิด หรือเป็นข้อมูลที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง บางข้อมูลส่งต่อแล้วทำให้เกิดการปฏิบัติที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้ อาทิ

- การแนะนำให้รับประทานไข่ดิบ แต่ในความเป็นจริงแล้วไข่ดิบปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์มากอาจทำให้เกิดท้องเสียได้ ย่อยยาก อีกทั้งมีโปรตีนที่จะไปจับวิตามินบางตัวในร่างกาย ทำให้ไม่สามารถดูดซึมวิตามินไปใช้ได้ รวมถึงการสนับสนุนให้รับประทานไข่ขาวเพราะมีโปรตีนมากจะช่วยสร้างกล้ามเนื้อ ซึ่งประเด็นนี้ก็ไม่เป็นความจริงทั้งหมด เพราะกล้ามเนื้อร่างกายจะเพิ่มขึ้นได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ทั้งเรื่องคุณค่าอาหาร และการออกกำลังกาย เป็นต้น

- การส่งเสริมให้ดื่มน้ำผลไม้แยกกาก แต่จากผลงานวิจัยแล้ว การรับประทานผลไม้ทั้งลูกมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าแน่นอน เพราะมีใยอาหารช่วยในการขับถ่าย ลดคอเลสเตอรอล มีวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งการดื่มน้ำผลไม้แยกกากยังอาจทำให้ร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลมากเกินไปอีกด้วย

            - การสนับสนุนให้รับประทานน้ำมันมะพร้าวมากกว่าน้ำมันประเภทอื่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว น้ำมันมะพร้าวไม่มีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย และมีไขมันอิ่มตัวสูง การบริโภคมากเกินไปจะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เช่นกัน

- การส่งเสริมให้รับประทานทุเรียนเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนกับข้ออ้างนี้ เพราะทุเรียนเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง ทุเรียน 1 เม็ดให้พลังงานถึง 130 กิโลแคลอรี การรับประทานทุเรียนครั้งละ 4-6 เม็ด จะเทียบเท่ากับรับประทานข้าวมันไก่ 2 จาน (หรือการรับประทานอาหาร 2 มื้อเลยทีเดียว)

นอกจาก eBook จะไขข้อข้องใจในประเด็นที่มีการส่งต่อกันแล้ว ยังมีเนื้อหาแนะนำการบริโภคและดูแลสุขภาพที่ถูกต้องเพื่อเสริมสร้างสุขภาพอนามัยที่ดี เช่น

- แนะนำปริมาณการรับประทานข้าวและแป้งให้พอดี เหมาะสมในแต่ละวัยโดยไม่อ้วน และได้รับพลังงานเพียงพอ

- แนะนำการรับประทานผลไม้ที่ถูกต้อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องรับประทานเฉพาะตอนเช้าเสมอไป สามารถรับประทานได้ทั้งวัน วันละ 3-5 ส่วน         

- แนะนำปริมาณการรับประทานไข่ให้เหมาะสมในแต่ละวัย เช่น เด็ก 1-5 ปี วัยรุ่น ผู้ใหญ่วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ควรรับประทานวันละ 1 ฟอง ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ไม่ควรรับประทานเกิน 3 ฟอง/สัปดาห์

ผู้สนใจสามารถเข้าไปติดตามเนื้อหาใน eBook ได้ทาง http://www.ebooks.in.th/anamaibook และนอกจากได้จัดพิมพ์ eBook แล้ว สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ และกรมอนามัย ยังได้จัดทำ Infographic สรุปเนื้อหาเผยแพร่ทางสื่อโซเชียล เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารอีกทางหนึ่ง ด้วยหวังว่า ทั้ง eBook และ Infographic จะเป็นคำตอบด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อให้ผู้อ่านนำไปใช้ประโยชน์และเผยแพร่ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการนี้ต่อญาติพี่น้องและเครือข่ายต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และนำไปสู่การบริโภคอาหารให้มีโภชนาการและสุขภาพที่ดี