ผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์

            การดูแลผู้สูงอายุควรเริ่มตั้งแต่เกิด หรือก่อนเกิดด้วยซ้ำไป แต่ผมเองได้รับเชิญให้บรรยายเรื่องการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้แก่ผู้ที่เกษียณแล้วหรือกำลังจะเกษียณเป็นประจำ โดยไม่ได้ถูกเชิญให้บรรยายแก่ผู้เข้าทำงานใหม่เลย ทั้ง ๆ ที่ได้พยายามแนะนำให้หน่วยงานที่เชิญผมให้ผมได้บรรยายแก่ผู้เข้ามาเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ ตอนอายุ 25-26 ปีด้วย ผมจะได้แนะนำการเรียน การทำงาน การลงทุน การดูแลสุขภาพ ฯลฯ ตั้งแต่ยังเยาว์วัย เช่น ที่สภากาชาดไทย ผมเพิ่งถูกเชิญให้บรรยายแก่ผู้ที่เข้าทำงานใหม่เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

            ถ้ารอจนเกษียณอายุการทำงานแล้วจึงทราบเรื่องการดูแลสุขภาพก็จะเป็นการสายเกินไป แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้รับข้อมูลเลย เพราะถ้ารอจนอายุ 60 ปีจะพบว่าผู้ที่เกษียณหรือมีอายุใกล้ ๆ 60 ปีนั้นจะมีโรคเรื้อรังต่าง ๆ กันแล้วทั้งนั้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก โรคมะเร็ง โรคกระดูกพรุน ฯลฯ ถ้าเราเริ่มต้นวางแผนการดูแลสุขภาพตั้งแต่เกิด เราจะลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคที่ไม่ติดต่อ (non-communicable disease) ได้เป็นอย่างมาก เพราะโรคที่ไม่ติดต่อ หรือโรคที่เรื้อรังมักมีสาเหตุมาจากการมีพฤติกรรมการดำรงชีวิต (lifestyle) ที่ไม่เหมาะสม ปัจจุบันนี้สาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกส่วนใหญ่มาจากโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ไม่ติดต่อ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวไว้ในปี ค.ศ. 2012 ว่า 68% ของการเสียชีวิตของชาวโลกมาจากโรคที่ไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นโรคที่ส่วนใหญ่ป้องกันได้

            แต่โดยส่วนตัวที่ผมสอนนิสิตแพทย์ในอดีต รวมถึงขณะนี้แพทย์ประจำบ้านภาควิชาอายุรศาสตร์ ปีที่ 2 และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาวิชาระบบทางเดินอาหาร เดือนละประมาณ 28 ครั้ง (หมุนเวียนกันมาอยู่ที่หน่วยระบบทางเดินอาหารทุก 4 สัปดาห์) ผมได้สอนการดูแล สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคด้วย หัวข้อใหญ่อันหนึ่งที่ผมสอนคือ การเตรียมตัวตนเองเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยทำการสอนแบบนี้มาหลายสิบปี ไม่ได้สอนเฉพาะวิชาการและระบบทางเดินอาหารเท่านั้น แต่สอนภายใต้หัวข้อ “The Art of Living” หรือศิลปะในการดำรงชีวิตที่ดี เพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง

            ในด้านของการเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ผมให้ข้อมูลและข้อคิดแก่แพทย์ใน 3 ประเด็นคือ 1. การเรียน และการทำงานอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ เช่น สอบได้เป็นแพทย์ที่ดี ไม่ถูกฟ้องร้อง ฯลฯ การทำงานลุล่วงไปด้วยดี  2. การทำอย่างไรจึงจะมี financial freedom หรืออิสรภาพทางการเงิน และมี passive income หรือมีรายได้เข้ามาตลอดเวลาโดยที่ไม่ต้องทำงาน สอนให้รู้จักความหมายของ financial literacy คือ 1. หาเงินเป็น  2. ใช้เงินเป็นอย่างคุ้มค่า  3. ออม และ 4. ลงทุน เพื่อยามเกษียณอายุจากการทำงานจะมีเงินใช้จ่ายอย่างพอเพียงโดยไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ เพราะสมัยนี้หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคต ประชาชนจะยิ่งมีอายุที่ยืนยาวยิ่งขึ้น เช่น อาจมีอายุถึง 90-100 ปี เพราะฉะนั้น ทุก ๆ คนจึงควรวางแผนการลงทุนตั้งแต่ยังเยาว์วัย ด้วยการลงทุนทุก ๆ เดือน เดือนละ 1,000-3,000 บาท หรือเท่าที่มี ประเด็นคือ ต้องเริ่มลงทุนแต่เนิ่น ๆ ลงทุนอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ เดือน เพื่อเก็บไว้ใช้ตอนเกษียณอายุ เมื่อเกษียณจึงจะได้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำงานเพื่อเงิน แต่อาจทำงานเพราะอยากทำ อยากช่วยสังคม ฯลฯ

            ผู้สูงอายุต้องการอะไร - ต้องการมีสุขภาพที่ดี เช่น รับประทานได้ นอนได้ ถ่ายได้ เดินได้ สนุกสนานกับชีวิต กับลูกหลาน กับเพื่อนฝูง กับงานอดิเรก ทำในสิ่งที่ชอบทำ ที่ในอดีตอยากทำแต่ทำไม่ได้ ไม่มีเวลา ไม่มีเงินให้ทำ เช่น ไปท่องเที่ยวในไทย ต่างประเทศ อ่านหนังสือ เรียนการเต้นรำ ทำอาหาร ถ่ายรูป วาดภาพ สอนหนังสือ หรือแม้แต่ไปบรรยาย ฯลฯ

            ผู้สูงอายุต้องการที่จะมีความสามารถที่จะช่วยเหลือตนเองให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ แต่ในที่สุดก็ยังอาจจะต้องอาศัยลูกหลาน ครอบครัว ชุมชน รัฐบาล เอกชน เข้ามาช่วยเหลืออยู่ดี ในบั้นปลายชีวิตอาจต้องไปอยู่บ้านคนสูงวัย อาจต้องมีคนช่วยดูแลบ้าง หรือตลอดเวลา ฉะนั้น รัฐบาล เอกชน ชุมชน สังคม จึงต้องมีระบบรองรับผู้สูงอายุทางด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วน

            แต่ที่สำคัญที่สุด เราต้องวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่างน้อยตอนเริ่มต้นทำงาน เราจะต้องมีความสามารถช่วยตนเองให้ได้มากที่สุด นานที่สุดในทุก ๆ ด้าน เพราะลูกหลาน ครอบครัว เพื่อน ชุมชน สังคม อาจไม่มีให้พึ่ง หรือพึ่งไม่ได้