อัตราตายในผู้ป่วยโรคคุชชิงหลังโรคสงบนานกว่า 10 ปี

อัตราตายในผู้ป่วยโรคคุชชิงหลังโรคสงบนานกว่า 10 ปี

Lancet Diabetes Endocrinol. 2016 July;4(7):569-576.

            บทความเรื่อง Mortality in Patients with Cushing's Disease More Than 10 Years After Remission:            A Multicentre, Multinational, Retrospective Cohort Study รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการรอดชีวิตระยะยาวสำหรับผู้ป่วยโรคคุชชิง คณะผู้วิจัยจึงได้ศึกษาอายุคาดเฉลี่ยในผู้ป่วยซึ่งได้รับการรักษาให้หายขาด และผู้ป่วยซึ่งยังคงมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือดสูงแม้โรคสงบมาแล้วนานกว่า 10 ปี รวมถึงระบุปัจจัยที่ส่งผลต่อการรอดชีวิตของผู้ป่วย

            คณะผู้วิจัยดำเนินการศึกษาย้อนหลังแบบสหสถาบันในหลายประเทศโดยใช้ข้อมูลประวัติผู้ป่วยจากสถาบันเฉพาะทางในสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ เกณฑ์การคัดเลือกเข้าร่วมการศึกษาวิจัยได้แก่ การตรวจพบและได้รับการรักษาโรคคุชชิง รักษาภาวะฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือดสูงมาแล้วอย่างน้อย 10 ปีขณะเข้าร่วมในการศึกษาวิจัย และยังคงได้รับการรักษาโดยไม่มีโรคกำเริบไปจนถึงเมื่อระงับข้อมูลหรือผู้ป่วยเสียชีวิต คณะผู้วิจัยได้ระบุจำนวนและชนิดของการรักษาเพื่อให้หายขาดและกำหนดให้การเสียชีวิตเป็นจุดยุติปฐมภูมิ นอกจากนี้ได้เปรียบเทียบอัตราตายระหว่างผู้ป่วยโรคคุชชิงและประชากรทั่วไป โดยแสดงค่าเป็น standardized mortality ratios (SMRs) รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลการรอดชีวิตด้วยการวิเคราะห์พหุตัวแปร (Cox regression) โดยไม่ได้ปรับสำหรับการทดสอบพหุคูณ      

            วันที่ระงับข้อมูลอยู่ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2009 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2014 โดยมีข้อมูลสำหรับผู้ป่วย 320 ราย ซึ่งมีระยะการตรวจติดตาม 3,790 คน-ปีจากระยะ 10 ปีนับจากหายขาด (อัตราส่วนผู้ป่วยหญิงต่อผู้ป่วยชายเท่ากับ 3:1) มัธยฐานระยะการตรวจติดตามเท่ากับ 11.8 ปี (IQR 17-26) นับจากเข้าร่วมการศึกษาวิจัย และไม่ต่างกันระหว่างแต่ละประเทศ คณะผู้วิจัยวิเคราะห์การรอดชีวิตโดยรวมข้อมูลจากผู้ป่วยทั้งชายและหญิงเนื่องจากข้อมูลไม่มีความต่างที่มีนัยสำคัญด้านลักษณะประชากร ระยะการตรวจติดตาม โรคร่วม จำนวนการรักษา หรือชนิดของการรักษาระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย จากการศึกษาพบผู้ป่วย 51 ราย (16%) เสียชีวิตระหว่างการตรวจติดตาม (10 ปีนับจากรักษาหายขาด) มัธยฐานการรอดชีวิตนับจากเข้าร่วมในการศึกษาวิจัยใกล้เคียงกันสำหรับผู้หญิง (31 ปี ค่า IQR อยู่ระหว่าง 19-38) และผู้ชาย (28 ปี, 24-42) และประมาณ 40 ปี (IQR อยู่ระหว่าง 30-48) นับจากโรคสงบ ค่า SMR รวมสำหรับอัตราตายทุกสาเหตุเท่ากับ 1.61 (95% CI อยู่ระหว่าง 1.23-2.12; p = 0.0001) ค่า SMR สำหรับโรคระบบไหลเวียนโลหิตสูงขึ้นเท่ากับ 2.72 (1.88-3.95; p < 0.0001) แต่การเสียชีวิตจากโรคมะเร็งไม่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ (0.79, 0.41-1.51) การมีโรคเบาหวาน (แต่ไม่รวมถึงความดันโลหิตสูง) เป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระต่อการเสียชีวิต (hazard ratio เท่ากับ 2.82 ค่า 95% CI อยู่ระหว่าง 1.29-6.17; p = 0.0095) ขณะเดียวกันก็พบการลดลงด้านการรอดชีวิตจากจำนวนการรักษาที่เพิ่มขึ้น และผู้ป่วยที่รักษาหายขาดด้วยการผ่าตัดต่อม pituitary อย่างเดียวมีการรอดชีวิตระยะยาวใกล้เคียงกับประชากรทั่วไป (SMR 0.95 ค่า 95% CI อยู่ระหว่าง 0.58-1.55) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่หายขาด (2.53, 1.82-3.53; p < 0.0001)

            ผู้ป่วยโรคคุชชิงซึ่งมีโรคสงบมาแล้วกว่า 10 ปี มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเสียชีวิตโดยรวมเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั่วไป โดยเฉพาะการเสียชีวิตเนื่องจากโรคระบบไหลเวียนโลหิต อย่างไรก็ดี มัธยฐานการรอดชีวิตจากการรักษาหายขาดอยู่ที่ประมาณ 40 ปีซึ่งถือว่าดีมาก ความซับซ้อนในการรักษาและจำนวนการรักษาที่เพิ่มขึ้นซึ่งสะท้อนว่าโรคควบคุมได้ยากเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการรอดชีวิต นอกจากนี้การผ่าตัดต่อม pituitary อย่างเดียวเป็นการรักษาที่มีประสิทธิผลในการบรรลุผลลัพธ์การรักษาที่ดี และควรดำเนินการยังโรงพยาบาลที่มีความเป็นเลิศด้านการผ่าตัด