เปรียบเทียบเคมีบำบัดเพิ่มความเข้มข้นและเคมีบำบัดเสริมในมะเร็งเต้านมระยะแรก

เปรียบเทียบเคมีบำบัดเพิ่มความเข้มข้นและเคมีบำบัดเสริมในมะเร็งเต้านมระยะแรก

JAMA. 2016;316(18):1888-1896.

บทความเรื่อง Effect of Tailored Dose-Dense Chemotherapy vs Standard 3-Weekly Adjuvant Chemotherapy on Recurrence-Free Survival Among Women with High-Risk Early Breast Cancer: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า การรักษาด้วยเคมีบำบัดขนาดยามาตรฐานซึ่งประเมินตามพื้นที่ผิวกายส่งผลต่อความแปรปรวนด้านเภสัชจลนศาสตร์ ผลข้างเคียง และประสิทธิภาพการรักษา และปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายกรณีสามารถช่วยให้ผลลัพธ์ดีขึ้นหรือไม่ รวมถึงบทบาทของเคมีบำบัดเสริมโดยบริหารยาแบบเพิ่มความเข้มข้น (dose-dense adjuvant chemotherapy)

การศึกษาวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินว่า dose-dense adjuvant chemotherapy ช่วยให้มีผลลัพธ์ดีขึ้นหรือไม่ในมะเร็งเต้านมระยะแรกเมื่อเปรียบเทียบกับเคมีบำบัดทุก 3 สัปดาห์ที่ใช้เป็นมาตรฐาน การศึกษาเปรียบเทียบโดยไม่ปกปิดระยะที่ 3 นี้ได้ศึกษาในผู้หญิงอายุ 65 ปีหรือน้อยกว่าซึ่งได้รับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมชนิด node-positive หรือ high-risk node-negative ซึ่งไม่มีการลุกลามยังศูนย์วิจัย 86 แห่งในสวีเดน เยอรมนี และออสเตรีย ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 ถึงวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2011

คณะผู้ศึกษาวิจัยได้สุ่มผู้ป่วยในอัตรา 1:1 เป็นกลุ่มที่รักษาด้วยเคมีบำบัดเสริมสูตร epirubicin และ cyclophosphamide แบบเพิ่มความเข้มข้นและปรับตาม leukocyte nadir รวม 4 รอบทุก 2 สัปดาห์ และตามด้วย docetaxel แบบปรับเพิ่มความเข้มข้น รวม 4 รอบทุก 2 สัปดาห์ หรือเคมีบำบัดมาตรฐานสูตร fluorouracil และ epirubicin-cyclophosphamide รวม 3 รอบทุก 3 สัปดาห์ และตามด้วย docetaxel รวม 3 รอบทุก 3 สัปดาห์ จุดยุติปฐมภูมิ ได้แก่ การรอดชีพโดยปราศจากการเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านม (breast cancer recurrence-free survival: BCRFS) และจุดยุติปฐมภูมิ ได้แก่ การรอดชีพโดยปราศจากโรค (event-free survival: EFS) ที่ 5 ปี การรอดชีพโดยไม่พบการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น (distant disease-free survival: DDFS) การรอดชีพโดยรวม (overall survival: OS) และอัตราการเกิดผลข้างเคียงระดับ 3 หรือระดับ 4

จากผู้ป่วยที่ได้รับการสุ่ม 2,017 ราย (1,006 รายในกลุ่มเพิ่มความเข้มข้น และ 1,011 รายในกลุ่มควบคุม  โดยมีมัธยฐานอายุ [IQR] เท่ากับ 51 [45-58] ปี ร้อยละ80 เป็นมะเร็งชนิด hormone receptor-positive tumors และร้อยละ 97 เป็น node-positive disease) พบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับยาที่ศึกษารวม 2,000 ราย (≥ 1 รอบของเคมีบำบัด จำแนกเป็น 1,001 รายในกลุ่มเพิ่มความเข้มข้น และ 999 รายในกลุ่มควบคุม) จากมัธยฐานการติดตาม 5.3 ปี (IQR อยู่ระหว่าง 4.5-6.1 ปี) มีรายงาน BCRFS 269 เหตุการณ์ จำแนกเป็น 118 เหตุการณ์ในกลุ่มเพิ่มความเข้มข้น และ 151 เหตุการณ์ในกลุ่มควบคุม (HR เท่ากับ 0.79; 95% CI อยู่ระหว่าง 0.61-1.01; log-rank p = 0.06; BCRFS 5 ปี เท่ากับร้อยละ 88.7 เทียบกับร้อยละ 85.0) กลุ่มที่รักษาด้วยเคมีบำบัดเพิ่มความเข้มข้นมี EFS ที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับกลุ่มควบคุม (HR เท่ากับ 0.79; 95% CI อยู่ระหว่าง 0.63-0.99; p = 0.04; EFS 5 ปี เท่ากับร้อยละ 86.7 เทียบกับร้อยละ 82.1) ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีผล OS ไม่ต่างกัน (HR เท่ากับ 0.77; 95% CI อยู่ระหว่าง 0.57-1.05; p = 0.09; OS 5 ปี เท่ากับร้อยละ 92.1 เทียบกับร้อยละ 90.2) หรือ DDFS (HR เท่ากับ 0.83; 95% CI อยู่ระหว่าง 0.64-1.08; p = 0.17; DDFS 5 ปี เท่ากับร้อยละ 89.4 เทียบกับร้อยละ 86.7) ผลข้างเคียงนอกระบบโลหิตวิทยาระดับ 3 หรือระดับ 4 พบในผู้ป่วย 527 ราย (ร้อยละ 52.6) ในกลุ่มเคมีบำบัดเพิ่มความเข้มข้น และ 366 ราย (ร้อยละ 36.6) ในกลุ่มควบคุม

การรักษาด้วยเคมีบำบัดแบบเพิ่มความเข้มข้นไม่ได้ทำให้ผลลัพธ์ด้านการรอดชีวิตโดยปราศจากการเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเคมีบำบัดเสริมสูตรมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็พบผลข้างเคียงนอกระบบโลหิตวิทยาบ่อยกว่าในกลุ่มที่ได้รับเคมีบำบัดเพิ่มความเข้มข้น

bostancı escort