เปรียบเทียบระยะให้ DAPT หลังใส่ขดลวด

เปรียบเทียบระยะให้ DAPT หลังใส่ขดลวด

BMJ 2016;355:i5483.

บทความเรื่อง Short Term versus Long Term Dual Antiplatelet Therapy after Implantation of Drug Eluting Stent in Patients with or without Diabetes: Systematic Review and Meta-Analysis of Individual Participant Data from Randomized Trials รายงานข้อมูลจากการวิเคราะห์อภิมานเพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ทางคลินิกระหว่างการรักษาโดยให้ยาต้านเกล็ดเลือด 2 ตัว (dual antiplatelet therapy: DAPT) ในระยะสั้น (สูงสุด 6 เดือน) และระยะยาว (12 เดือน) ภายหลังการใส่ขดลวดเคลือบยาในผู้ป่วยทั้งที่มีโรคเบาหวานและไม่มีโรคเบาหวาน โดยประเมินผลกระทบของโรคเบาหวานต่อผลลัพธ์การรักษาด้วยตัวแบบ Cox proportional regression model

การศึกษาวิจัยรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูล Medline, Embase และ Cochrane และเอกสารสืบเนื่องจากงานประชุมวิชาการระหว่างประเทศครอบคลุมการศึกษาสุ่มเปรียบเทียบระยะ DAPT ภายหลังการใส่ขดลวดเคลือบยา โดยรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจากการศึกษาของ DAPT รวม 6 โครงการ ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ความเสี่ยงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางหัวใจและหลอดเลือดรุนแรง (major adverse cardiac events: MACE) ที่ 1 ปีประเมินตามการเสียชีวิตจากสาเหตุด้านหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือการอุดตันในขดลวด (แน่ชัด/เป็นไปได้)    การวิเคราะห์ทั้งหมดวิเคราะห์แบบ intention to treat

การศึกษาวิจัยทั้ง 6 โครงการ รวมผู้ป่วยที่ได้รับการสุ่ม 11,473 ราย ผู้ป่วย 3,681 ราย (ร้อยละ 32.1) มีโรคเบาหวาน และ 7,708 ราย (ร้อยละ 67.2) ไม่มีโรคเบาหวาน (อายุเฉลี่ยเท่ากับ 63.7 ปี [SD 9.9] และ 62.8 ปี [SD 10.1] ตามลำดับ) โดยขาดข้อมูลใน 84 ราย (ร้อยละ 0.7) โรคเบาหวานเป็นตัวพยากรณ์อิสระของ MACE  (hazard ratio เท่ากับ 2.30, 95% confidence interval อยู่ระหว่าง 1.01-5.27; p = 0.048) จากการตรวจติดตามที่ 1 ปี พบว่า DAPT ระยะยาวไม่ได้สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลงของ MACE เมื่อเทียบกับ DAPT ระยะสั้นทั้งในผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน (1.05, 0.62-1.76; p = 0.86) หรือไม่มีโรคเบาหวาน (0.97, 0.67-1.39; p = 0.85) (p = 0.33 สำหรับปฏิกิริยา) ความเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อหัวใจตายไม่ต่างกันระหว่าง DAPT ทั้ง 2 ระยะ (0.95, 0.58-1.54; p = 0.82) สำหรับกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวาน และ 1.15, 0.68-1.94; p = 0.60 สำหรับกลุ่มที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน (p = 0.84 สำหรับปฏิกิริยา)     จากการศึกษาพบความเสี่ยงที่ต่ำกว่าต่อการอุดตันของขดลวด (แน่ชัด/เป็นไปได้) จาก DAPT ระยะยาวในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน (0.26, 0.09-0.80; p = 0.02) เทียบกับผู้ป่วยที่ไม่เป็นเบาหวาน (1.42, 0.68-2.98; p = 0.35) จาก positive interaction testing (p = 0.04 สำหรับปฏิกิริยา) อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก landmark analysis ได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มที่จะมีประโยชน์ในทั้ง 2 กลุ่ม การรักษาด้วย DAPT ระยะยาวสัมพันธ์กับอัตราที่สูงขึ้นของการเกิดเลือดออกทั้งที่รุนแรงหรือไม่รุนแรงโดยไม่เป็นผลจากโรคเบาหวาน (p = 0.37 สำหรับปฏิกิริยา)

แม้โรคเบาหวานเป็นตัวพยากรณ์อิสระของ MACE หลังการใส่ขดลวดเคลือบยา แต่เมื่อเทียบกับ DAPT ระยะสั้นก็พบว่า DAPT ระยะยาวไม่ได้ลดความเสี่ยง MACE ขณะที่เพิ่มความเสี่ยงเลือดออกในผู้ป่วยใส่ขดลวดทั้งที่มีโรคเบาหวานและไม่มีโรคเบาหวาน