พยากรณ์ 4 โรค 2 ภัยสุขภาพ เฝ้าระวังปี 2560

พยากรณ์ 4 โรค 2 ภัยสุขภาพ เฝ้าระวังปี 2560

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พยากรณ์โรคที่ต้องจับตามองและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในปี พ.ศ. 2560 มี 4 โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก และโรคเมลิออยโดสิส โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยมากกว่า 300,000 ราย หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา โดยมี 7 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ลำปาง กรุงเทพฯ ระยอง เชียงใหม่ ภูเก็ต อยุธยา และพะเยา สำหรับภัยสุขภาพที่สำคัญมี 2 เรื่อง ได้แก่ ภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส และการเสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจในช่วงปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบน

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้วิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่าง ๆ ที่ผ่านมา โดยวิธีอนุกรมเวลา วิเคราะห์จำนวนและช่วงเวลาของการเกิดโรคต่าง ๆ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของการเกิดโรค และนำมาพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญในปี พ.ศ. 2560 เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม  ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การพยากรณ์โรคติดต่อ และกลุ่มที่ 2 โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ ซึ่งการพยากรณ์โรคติดต่อมี 4 โรคสำคัญ ดังนี้

1. โรคไข้เลือดออก จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2559 พบผู้ป่วย 57,425 ราย เสียชีวิต 55 ราย และในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีผู้ป่วยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยในภาพรวมลดลงเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2558 และพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กโตอายุ 7-14 ปี สำหรับการพยากรณ์โรคในปี พ.ศ. 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกตลอดทั้งปีประมาณ 37,500 ราย ส่วนการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง โดยวิเคราะห์จากพื้นที่ที่ระบาดซ้ำซากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า จะมีพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดสูงใน 36 จังหวัดทั่วประเทศ การป้องกันที่สำคัญคือ รณรงค์ให้ทุกคนร่วมกันกำจัดยุงลายอย่างต่อเนื่องและจริงจังตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1. เก็บบ้าน  2. เก็บขยะ และ 3. เก็บน้ำ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

anadolu yakası escort

2. โรคไข้หวัดใหญ่ จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2559 พบผู้ป่วย 156,943 ราย เสียชีวิต 43 ราย สำหรับการพยากรณ์โรคในปี พ.ศ. 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 320,000 ราย (เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา) จังหวัดที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการระบาดเป็นวงกว้างมี 7 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง กรุงเทพฯ ระยอง เชียงใหม่ ภูเก็ต อยุธยา และพะเยา (ประเมินความเสี่ยงรายจังหวัด โดยพิจารณาจากอัตราป่วยเฉลี่ย 3 ปีล่าสุด) กรมควบคุมโรคจึงใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้ 1. ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม   2. ล้าง คือ ล้างมือบ่อย ๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ  3. เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ 4. หยุด คือ เมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด 

3. โรคมือ เท้า ปาก จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2559 พบผู้ป่วย 75,796 ราย เสียชีวิต 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตเป็นเด็กเล็กอายุ 9 เดือน-5 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก พบบ่อยในช่วงฤดูฝน และพบเป็นการระบาดแบบปีเว้นปี การพยากรณ์โรคในปี พ.ศ. 2560 จึงคาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 42,000 ราย ซึ่งโรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพอง และอุจจาระของผู้ป่วย ส่วนวิธีป้องกันคือ รักษาความสะอาดของร่างกาย หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน หากมีเด็กในสถานศึกษาป่วยโรคมือ เท้า ปาก ต้องแยกเด็กป่วยออก ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน และพักอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ  

4. โรคเมลิออยโดสิส จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2559 พบผู้ป่วย 3,171 ราย เสียชีวิต 6 ราย จะพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝนของทุกปี สำหรับการพยากรณ์โรคในปี พ.ศ. 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 3,000 ราย โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อจากการสัมผัสดินหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อเข้าทางบาดแผล การสำลักหรือกลืนน้ำ หรือหายใจเอาละอองฝุ่นของดินที่มีเชื้อปนเปื้อน ส่วนอาการมีตั้งแต่ไม่มีอาการเลย หรือมีจุดที่ปอดแต่ไม่แสดงอาการ จนถึงมีฝีที่ผิวหนัง ฝีที่อวัยวะภายใน เนื้อเยื่อปอดอักเสบตาย หรือติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต คำแนะนำผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และผู้ที่มีบาดแผลควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำ เช่น ในนาข้าว ซึ่งเป็นแหล่งที่มีโรคชุกชุม ประชาชนทั่วไปควรสวมรองเท้าบู๊ท หรือหากจำเป็นต้องรีบทำความสะอาดหลังเสร็จงานทันที

สำหรับโรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพที่สำคัญมี 2 เรื่อง ดังนี้

1. ภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2559 พบผู้ป่วยหมดสติขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊สรวมทั้งสิ้น 16 เหตุการณ์ จำนวนผู้ป่วย 27 ราย เสียชีวิต 6 ราย ทุกเหตุการณ์เป็นเครื่องทำน้ำอุ่นที่ไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ภาคเหนือ ระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี และมีหลายเหตุการณ์ที่มีการอาบน้ำต่อเนื่องกันหลายคน ผู้ป่วยหรือเสียชีวิตเป็นผู้ที่อาบน้ำในลำดับหลัง ๆ สำหรับการพยากรณ์โรคในปี พ.ศ. 2560 คาดว่าในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นเทศกาลท่องเที่ยวของทุกปี (มกราคม-กุมภาพันธ์) จึงต้องระมัดระวังและเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะเกิดภัยดังกล่าว 

2. การเสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจในช่วงปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบน จากข้อมูลปี พ.ศ. 2557-2559 พบผู้ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ หอบหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีแนวโน้มสูงในเดือนธันวาคม-มีนาคม โดยมีผู้ป่วยเฉลี่ยเดือนละ 8,000-8,500 ราย สำหรับการพยากรณ์โรคในปี พ.ศ. 2560 คาดว่าช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะทางภาคเหนือซึ่งจะมีอุณหภูมิต่ำและมีหมอกควันหนาขึ้น มีผลกระทบทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ได้แก่ โรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอาจทำให้อาการกำเริบรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าว

            ทั้งนี้มาตรการในการดำเนินงานเพื่อปกป้องประชาชนจากโรคและภัยสุขภาพดังกล่าว กรมควบคุมโรคได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งหน่วยงานในส่วนกลาง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจจับ คัดกรองโรคและภัยสุขภาพ และเตรียมพร้อมทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) รวมถึงการตอบโต้โรคและภัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด โรงเรียน และประชาชนทั่วไป เพื่อป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงลดการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า จากการวิเคราะห์และคาดการณ์ 4 โรคที่น่าจับตามองในปี พ.ศ. 2560 พบว่า โรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มระบาดสูง เนื่องจากปลายปี พ.ศ. 2559 เริ่มพบผู้ป่วยแล้ว มีโอกาสพบมากในช่วงฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ไปจนถึงฤดูฝนและปลายฝนต้นหนาว (สิงหาคม-พฤศจิกายน) เฉลี่ย 25,000-32,000 รายต่อเดือน ซึ่งจากที่มีการพยากรณ์ว่าโรคไข้หวัดใหญ่จะมีจำนวนผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2560 มากกว่าปี พ.ศ. 2559 ถึง 2 เท่านั้น เนื่องจากในช่วงปลายปี พ.ศ. 2559 มีผู้ป่วยจำนวนมากในช่วงฤดูหนาว จึงเป็นธรรมชาติที่ในปีหน้าจะมีผู้ป่วยสูงด้วย ส่วนอีก 3 โรคแม้จะพบได้ในปี พ.ศ. 2560 แต่ไม่ถึงกับระบาดมาก

ในส่วนของภัยสุขภาพที่สำคัญคือ การใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สนั้น เนื่องจากรีสอร์ทในบ้านเรายังเข้าถึงไฟฟ้าได้ค่อนข้างน้อย ทำให้มีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สอยู่เป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการเตือนเรื่องนี้กันแทบทุกปี ซึ่งถ้าใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ควรมีเครื่องดูดอากาศหรือพัดลมระบายอากาศออกไปภายนอกที่พักด้วย หากไม่มีแนะนำว่าไม่ควรอาบน้ำหรือรีบอาบให้เร็วที่สุด เพราะพบว่าเมื่อเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สใน 10 นาที ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์สูงอย่างรวดเร็ว ทำให้ขาดอากาศหายใจ หมดสติ หรือเสียชีวิตได้ ที่สำคัญไม่ควรเปิดประตูห้องน้ำเพื่อระบายอากาศ เพราะจะส่งผลกระทบต่อคนในห้องพักให้ได้รับอันตรายไปด้วย แม้จะไม่ได้เข้าไปในห้องอาบน้ำก็ตาม

ขณะที่ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ ค่า pm10 ที่เพิ่มขึ้นทุก 2.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สัมพันธ์กับผู้เสียชีวิตจากโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ หอบหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น 1 คน และอุณหภูมิที่ลดลงทุก 1.6 องศาเซลเซียส สัมพันธ์กับจำนวนผู้เสียชีวิตในกลุ่มโรคดังกล่าว 1 คนเช่นกัน

 นพ.ธนรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงโรคไวรัสซิกาที่ถึงแม้จะไม่อยู่ใน 4 กลุ่ม แต่ยังต้องเฝ้าระวังว่า โรคไวรัสซิกาจัดเป็นกลุ่มโรคที่ยังไม่เสถียร จึงยังไม่แยกเดี่ยว แต่จากสถานการณ์ของประเทศไทยถือว่าพบได้ตลอดทั้งปีแม้จะไม่ได้ระบาด สำหรับในปี พ.ศ. 2560 สถานการณ์จะคล้ายคลึงกับปีนี้ ประเด็นปัญหาที่น่าห่วงที่สุดและค่อนข้างกังวลคือ ผลกระทบต่อผู้ป่วยมีทั้งกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท ซึ่งเจอไม่บ่อย พบได้ 1 ต่อหมื่นประชากร อีกทั้งข้อมูลใหม่ยังพบว่าเชื้อทำให้สมองอักเสบ มีภาวะสมองเล็กหรือสมองลีบ และเกิดภาวะพิการอย่างอื่น เช่น ตาบอด หูหนวก กระดูกไม่เจริญเติบโต โดยเฉพาะกระดูกของข้อสะโพกอีกด้วย

มาตรการสำคัญจึงต้องมุ่งเน้นที่การป้องกัน ลดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงให้เหลือน้อยที่สุด เพราะการมีผู้ป่วยลักษณะนี้จะเป็นภาระต่อสังคมค่อนข้างสูง โดยในปี พ.ศ. 2560 คาดว่าจะเป็นอีกปีที่ประเทศไทยจะต้องเจอสภาวะจำนวนผู้ป่วยโรคไวรัสซิกา จึงยังคงต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นใกล้เคียงกับปีนี้ โดยปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  

นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความสำคัญของโรคไวรัสซิกาอยู่ที่การควบคุมลูกน้ำยุงลาย หากร่วมมือกันรณรงค์ตามมาตรการ 3 เก็บอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ก็สามารถที่จะกำจัดลูกน้ำยุงลาย และไม่มียุงลายมาแพร่โรคเหล่านี้ต่อไป

ในส่วนของวัคซีนป้องกันโรค สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขจัดให้มีบริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่กลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สูงอายุและเด็ก ส่วนวัคซีนไข้เลือดออก ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษา เนื่องจากเพิ่งเริ่มมีการใช้แล้วในบางประเทศ โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รับทราบข้อมูลของประเทศต่าง ๆ ที่มีการนำวัคซีนนี้ไปใช้บ้างแล้ว พร้อมกันนี้ยังคงต้องติดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งได้แนะนำว่าประเทศหรือพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการได้รับวัคซีนควรจะต้องมีระดับความชุกของการเคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนในระดับที่สูง ขณะนี้โดยคำแนะนำของนักวิชาการที่ดูแลเรื่องวัคซีนไข้เลือดออกได้แนะนำให้กระทรวงสาธารณสุขศึกษาระดับอัตราความชุกของการเคยติดเชื้อ และดูว่าเด็กไทยเคยติดเชื้อมาแล้วมากน้อยแค่ไหน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้วัคซีน ซึ่งจะต้องการดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อให้เด็กไทยที่ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและไม่เกิดผลกระทบข้างเคียง การศึกษานี้จะดำเนินการโดยเร็วภายในปีงบประมาณนี้ ผลการศึกษาเป็นอย่างไรจะนำมาประกอบการตัดสินใจอีกทีหนึ่งว่าจะมีการเสนอแนะต่อคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คณะกรรมการยา และคณะกรรมการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องว่า จะมีการเสนอต่อรัฐบาลในการลงทุนเรื่องวัคซีนไข้เลือดออกนี้หรือไม่ ซึ่งต้องรอผลการศึกษาให้เป็นที่เรียบร้อยเสียก่อน