กรมวิทย์ฯ นำนานาประเทศร่วมสร้างความเข้มแข็งระบบห้องปฏิบัติการรอบรับโรคระบาดในภูมิภาค ภายใต้วาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก

กรมวิทย์ฯ นำนานาประเทศร่วมสร้างความเข้มแข็งระบบห้องปฏิบัติการรองรับโรคระบาดในภูมิภาคภายใต้วาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก

         ประเทศไทยโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แสดงศักยภาพการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ ภายใต้วาระความมั่นคงสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda: GHSA) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบห้องปฏิบัติการให้สามารถสนับสนุนการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อแบบเวลาจริง (real-time) หรือ “Real-time Biosurveillance” คือมีขีดความสามารถในการตรวจ ณ จุดดูแลผู้ป่วย (Point-of-Care) ได้ทันที และมีขีดความสามารถในการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย

            นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลการประชุมกลุ่มประเทศผู้นำวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกชุดกิจกรรมเฝ้าระวังที่ 1: ระบบห้องปฏิบัติการแห่งชาติ (Detect 1: National Laboratory System) ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา ไทย และสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และประเทศผู้สนับสนุน ได้แก่ แคนาดา จีน เอธิโอเปีย ฟินแลนด์ จอร์เจีย อิสราเอล ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก เปรู และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งประเทศไทยโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ได้ให้การสนับสนุนแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค (Regional Strategic Roadmap) ด้านการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการระหว่างปี พ.ศ. 2559-2563 ระหว่างประเทศเจ้าภาพหลักกับประเทศสมาชิกที่สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ASEAN และ SARRC และองค์การระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การเฝ้าระวังโรคติดเชื้อแบบเวลาจริง (real-time) หรือ “Real-time Biosurveillance” ซึ่งต้องมีขีดความสามารถในการตรวจ ณ จุดดูแลผู้ป่วย (Point-of-Care) และขีดความสามารถในการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย โดยมี 7 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์นโยบายการขึ้นทะเบียนและการอนุญาต  2. ขีดความสามารถการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ  3. ระบบบริหารคุณภาพ  4. ระบบบริหารความเสี่ยงทางชีวภาพ  5. เครือข่าย  6. สุขภาพหนึ่งเดียว และ 7. กำลังคนทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งสามารถใช้เป็นกรอบการคัดเลือกกิจกรรมที่จะดำเนินการในระดับภูมิภาค และเป็นเครื่องมือในการติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการตามแนวทางวาระความมั่นคงสุขภาพโลก (GHSA) อย่างไรก็ตาม พบว่าแต่ละประเทศมีบริบททางห้องปฏิบัติการที่แตกต่างกัน ดังนั้น การนำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ไปใช้งานสามารถปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศได้

            นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดการประชุมทางไกลผ่านระบบจอภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและการสื่อสารระหว่างประเทศเจ้าภาพหลัก ประเทศสมาชิกที่สนับสนุนและองค์การระหว่างประเทศ และการดำเนินการต่อจากนี้ไปจะได้มีการเร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคที่พัฒนาขึ้น โดยการประกาศชุดกิจกรรมหลักที่จะดำเนินการในปี พ.ศ. 2559-2560 อาทิ การอบรมให้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในหลักสูตร Bioengineering containment และ Biorisk management รวมทั้งเรื่อง specimen referral system ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขนส่งเชื้อระหว่างประเทศ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO และจะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค ครั้งที่ 2 เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ โดยจะมีการประชุมระดับผู้นำของประเทศผู้นำในชุดกิจกรรมด้านการพัฒนาเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการทางสาธารณสุขในวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 นับเป็นความร่วมมือกันในการดำเนินกิจกรรมภายใต้ชุดกิจกรรมเฝ้าระวังที่ 1: ระบบห้องปฏิบัติการแห่งชาติ เร่งสร้างความเข้มแข็งของห้องปฏิบัติการให้มีขีดความสามารถในการตรวจเฝ้าระวังโรคติดเชื้อที่ทันสมัยในทันทีที่เกิดโรค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นความคืบหน้าในการดำเนินการด้านความปลอดภัยและความมั่นคงจากภัยคุกคามโรคติดเชื้อ ส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพให้เป็นวาระระหว่างประเทศที่มีความสำคัญ และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินการตามแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ระดับประเทศด้านห้องปฏิบัติการ

            “วาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกมีขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือด้านการควบคุมป้องกันโรค และภัยสุขภาพรุนแรงในประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผลักดันให้แต่ละประเทศเพิ่มศักยภาพการป้องกันควบคุมโรคให้มีความเข้มแข็ง และมีแผนความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาค ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยเร่งการพัฒนาสมรรถนะด้านสาธารณสุขของกฎอนามัยระหว่างประเทศ” นพ.สุขุม กล่าว