รู้เท่าทัน เอช. ไพโลไร แบคทีเรียตัวร้ายทำลายกระเพาะอาหาร

รู้เท่าทัน เอช. ไพโลไร  แบคทีเรียตัวร้ายทำลายกระเพาะอาหาร

การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอช. ไพโลไร (H. pylori) จัดว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ โดยพบว่ามีการติดเชื้อนี้ในประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดในโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย ในประเทศไทยมีการประมาณว่ามีการติดเชื้อนี้ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด หรือกว่า 20 ล้านคน

เชื้อ เอช. ไพโลไร นี้มักจะอยู่ในเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งได้มีการค้นพบเชื้อนี้มานานกว่า 30 ปี โดยแพทย์ชาวออสเตรเลีย 2 ท่าน คือ .นพ.แบรีย์ มาร์แชล (Barry Marshall) และ .นพ.เจ โรบิน วาร์เรน (Robin Warren) ที่ได้ค้นพบว่าเชื้อ เอช. ไพโลไร มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง การเกิดแผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร และจากการค้นพบนี้ทำให้แพทย์ทั้ง 2 ท่านได้รับรางวัลมูลนิธิเจ้าฟ้ามหิดล และรางวัลโนเบลสาขาทางการแพทย์ในปี พ.ศ. 2548

.พญ.วโรชา มหาชัย ประธานศูนย์วิจัยมะเร็งกระเพาะอาหารและการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรแห่งชาติ กล่าวถึงสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหารว่า ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารส่วนใหญ่จะมีอาการเกี่ยวกับกระเพาะอาหารส่วนบน มีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก จุกเสียด แสบท้อง อาหารไม่ย่อย ซึ่งผู้ป่วยอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าเป็นอะไร โดยผู้ป่วยส่วนมากมักจะซื้อยารับประทานเองก่อนไปพบแพทย์หรือตรวจรักษา ทำให้อาการบรรเทาลง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา รวมถึงการตรวจหาเชื้อ เอช. ไพโลไร ที่เป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งของโรคแผลในกระเพาะอาหาร

สำหรับเชื้อ เอช. ไพโลไร มีรูปร่างเป็นเกลียวและมีหาง มีความทนกรดสูง เนื่องจากสามารถสร้างสารที่เป็นด่างออกมาเจือจางกรดที่อยู่รอบ ๆ ตัว มันจึงสามารถอาศัยอยู่ในชั้นผิวเคลือบภายในกระเพาะอาหารได้ และยังสร้างสารพิษไปทำลายเซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร โดยอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเกี่ยวเนื่องจากทางสายพันธุ์ รวมถึงภูมิต้านทานโรคของแต่ละคน ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับโรคในระบบทางเดินอาหาร โดยได้จัดตั้งศูนย์วิจัยมะเร็งกระเพาะอาหารและการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรแห่งชาติขึ้น เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหาร โรคแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร รวมถึงเป็นศูนย์สื่อการเรียนการสอนและการทำงานวิจัย งานวิชาการต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

“อุบัติการณ์ของการติดเชื้อ เอช. ไพโลไร พบประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด หรือกว่า 20 ล้านคน ดังที่ศูนย์วิจัยมะเร็งกระเพาะอาหารและการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจทั่วประเทศ โดยพบโอกาสการติดเชื้อ เอช. ไพโลไร ที่แตกต่างกันในภูมิภาคต่าง ๆ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสติดเชื้อมากถึง 50% ซึ่งการติดเชื้อนั้นอาจจะแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการในผู้ป่วยบางราย ปัจจุบันสามารถตรวจหาเชื้อ เอช. ไพโลไร ได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารแล้วตัดชิ้นเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารมาตรวจ การตรวจทางลมหายใจ การเจาะเลือดตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อ และการตรวจทางอุจจาระ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้พิจารณาวิธีตรวจที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย”

เชื้อแบคทีเรีย เอช. ไพโลไร เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20 เท่า เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร 5-10 เท่า

.พญ.วโรชา กล่าวอีกว่า เชื้อ เอช. ไพโลไร เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20 เท่า ซึ่งปัจจัยหลักนั้นนอกจากจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารอย่าง เอช. ไพโลไร แล้ว ยังเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา รับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดหรือเปรี้ยวจัด การรับประทานยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน และกลุ่มยาแก้ปวดข้อ เช่น ไดโคลฟิแนค ไอบูโปรเฟน และนาโพรเซน เป็นต้น

นอกจากนี้การติดเชื้อ เอช. ไพโลไร ยังเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารประมาณ 5-10 เท่าอีกด้วย โดยจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจากเชื้อ เอช. ไพโลไร ของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน แล้วพบโอกาสการเกิดน้อยกว่า 10 เท่า เนื่องจากสภาวะแวดล้อม การรับประทานอาหาร การรับประทานผัก-ผลไม้ที่มีวิตามินและมีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ (antioxidant) ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ประกอบกับประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลี นิยมรับประทานอาหารปิ้งย่าง ซึ่งมีสารก่อมะเร็ง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่มากกว่า

แม้การติดเชื้อ เอช. ไพโลไร จะพบได้บ่อยในประเทศไทย ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง โรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น และที่เป็นกังวลคือ อาจลุกลามถึงขั้นเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่อย่างไรก็ตาม เชื้อโรคตัวนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อกำจัดเชื้อ เอช. ไพโลไร ทำให้โอกาสที่จะกลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารซ้ำลดลงไปอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทุกข์ทรมาน สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาลงไปได้อย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องรักษาอยู่เรื่อย ๆ และยังสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหารอีกด้วย 

ด้าน รศ.ดร.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ เลขาธิการศูนย์วิจัยมะเร็งกระเพาะอาหารและการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อ เอช. ไพโลไร ว่า การติดเชื้อ เอช. ไพโลไร ถือว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกที่สำคัญ มีผู้ติดเชื้อแบคทีเรียนี้มากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย ในปี พ.ศ. 2537 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้การติดเชื้อ เอช. ไพโลไร เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร สำหรับในประเทศไทยพบมีการติดเชื้อ เอช. ไพโลไร ถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 20 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งการติดเชื้อชนิดนี้ นอกจากจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหาร (MALT lymphoma) อีกด้วย

การติดเชื้อ เอช. ไพโลไร ถือว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกที่สำคัญ มีผู้ติดเชื้อแบคทีเรียนี้มากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย      

“หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจระหว่างโรคกระเพาะอาหารและโรคกระเพาะอาหารจากเชื้อแบคทีเรีย เอช. ไพโลไร ในความเป็นจริงแล้วโรคกระเพาะอาหารไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเพียงอย่างเดียว โดยพบว่ามีสาเหตุที่สำคัญอื่น ๆ ในการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้าพูดถึงคำจำกัดความของโรคกระเพาะอาหาร ทางการแพทย์จะเรียกว่าโรคแผลเปปติค (Peptic ulcer) แต่คนทั่วไปจะเรียกโรคแผลในกระเพาะอาหาร อาการของผู้ป่วยที่มาด้วยโรคแผลในกระเพาะอาหารไม่ได้มีเฉพาะอาการแสบร้อนเท่านั้น ผู้ป่วยบางรายอาจจะมาด้วยอาการจุก เสียด แน่น บริเวณลิ้นปี่ หรือบางรายอาจจะมาด้วยอาการท้องอืดเรื้อรัง เพราะฉะนั้นความเชื่อที่ว่าผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดท้อง แสบร้อนแล้วจะเป็นโรคกระเพาะอาหารอาจจะไม่จริงเสมอไป ผู้ป่วยอาจจะมาด้วยอาหารท้องอืด แน่นเฟ้อ อาหารไม่ย่อย หรือบางรายไม่เคยมีอาการปวดท้องมาก่อนเลย แต่มาด้วยอาการตกเลือดจากแผลในกระเพาะอาหาร”

นอกจากนี้สาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารยังมีสาเหตุอื่น เช่น การใช้ยาที่ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มยาแก้ปวด เรื่องของความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเรื่องของสมุนไพรที่ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษา ซึ่งสมุนไพรหลายตัวมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา การรับประทานอาหารรสเผ็ด น้ำอัดลม ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ทั้งสิ้น

รศ.ดร.นพ.รัฐกร กล่าวถึงการสังเกตอาการของผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารว่า “ดังที่กล่าวไปว่าผู้ป่วยอาจจะไม่ได้มาด้วยอาการปวดแสบร้อน แต่มีการจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ ด้วยเหตุนี้จึงแบ่งลักษณะอาการของผู้ที่มาด้วยโรคกระเพาะอาหารออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ และช่องท้องบริเวณส่วนบน ประเภทที่ 2 คือ แน่นท้อง เสียดท้อง หรืออิ่มเร็วหลังการรับประทานอาหาร ซึ่งอาการจะดีขึ้นหลังรับประทานอาหาร เพราะอาหารจะเข้าไปทำให้กรดในกระเพาะอาหารน้อยลง หรือหลังจากซื้อยาลดกรดมารับประทานแล้วมีอาการดีขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้ว่าการปวดท้องนั้นไม่น่าจะมาจากโรคกระเพาะอาหาร”

การตรวจหาเชื้อ เอช. ไพโลไร สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การส่องกล้องกระเพาะอาหาร การเจาะเลือด การตรวจทางลมหายใจ หรือ Urea Breath Test และการตรวจอุจจาระ

สำหรับการรักษาในปัจจุบันจะมีการตรวจหาเชื้อเอช. ไพโลไร ในผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งการตรวจหาเชื้อ เอช. ไพโลไร สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การส่องกล้องกระเพาะอาหาร การเจาะเลือด การตรวจทางลมหายใจ หรือ Urea Breath Test และการตรวจอุจจาระ เมื่อพบว่ามีการติดเชื้อ เอช. ไพโลไร จำเป็นต้องทำการรักษาและกำจัดเชื้อนี้ เพื่อรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารให้หายขาด โดยมีแนวทางในการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อ เอช. ไพโลไร โดยใช้สูตรยากำจัดเชื้อซึ่งการรักษาที่นิยมใช้กันมากและมีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ การใช้ยาลดการหลั่งกรด 1 ชนิด ร่วมกับยาปฏิชีวนะอีก 2 ชนิด เป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ซึ่งพบว่าสามารถกำจัดเชื้อได้มากกว่า 90% และภายหลังจากการหยุดรักษาไปแล้ว 4 สัปดาห์ก็จะไม่พบเชื้อ เอช. ไพโลไร นี้อีก โดยหลังจากที่กำจัดเชื้อ เอช. ไพโลไร แล้ว โอกาสที่จะกลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารซ้ำลดลงไปอย่างมาก

“การรักษาโรคกระเพาะอาหารเป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะผู้ป่วยหลายรายอาจจะมีอาการของโรคกระเพาะอาหาร ปวดท้องไม่หายขาด พอรักษาก็มีอาการดีขึ้น พอหยุดยาอาการก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่จริง ๆ แล้วการรักษาโรคกระเพาะอาหารหลายครั้งสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากเชื้อ เอช. ไพโลไร ดังนั้น ถ้าสามารถกำจัดเชื้อโรคแผลในกระเพาะอาหารก็สามารถจะหายขาดได้”

            ท้ายนี้ รศ.ดร.นพ.รัฐกร กล่าวว่า “โรคแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการติดเชื้อ เอช. ไพโลไร สามารถรักษาและมีโอกาสหายขาดได้ เพียงหมั่นสังเกตพฤติกรรมว่ามีอาการของโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือไม่ รวมถึงมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงการติดเชื้อ เอช. ไพโลไร อาทิ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ ปวดท้องรุนแรง ปวดท้องจากกระเพาะอาหารเรื้อรังเป็นเวลานานเกิน 1 เดือน หรือเบื่ออาหารจนน้ำหนักลดลงมาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา และรับการรักษาอย่างถูกวิธี นอกจากนั้นการปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร อาทิ รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ด รสจัด งดบุหรี่ งดการดื่มสุรา งดการใช้ยาแอสไพริน และยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ผ่อนคลายความเครียดและวิตกกังวลทั้งหลาย รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอก็จะช่วยป้องกันโรคแผลในกระเพาะอาหารได้”