สาเหตุแห่งการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

สาเหตุแห่งการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สนช.           

            นางสุดา ทองผดุงโรจน์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานในที่ประชุม กมธ.สธ.สนช. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560 พร้อมเอกสารประกอบถึงความเป็นมาของการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ว่า

         เนื่องจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาครัฐ (คตร.) แจ้งกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินผิดวัตถุประสงค์ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยมี 6 ประเด็นดังนี้

            1. การจัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัว มี 2 ประเด็นคือ

            - การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

            - การนำเงินค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวไปใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีอื่นที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย

            2. เงินค่าเสื่อม

            - การมอบอำนาจการบริหารจัดการเงินค่าเสื่อมระดับหน่วยบริการไม่ครบถ้วน

            - การใช้เงินค่าเสื่อมขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

            3. บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

            - การจ่ายเงินค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องกับการล้างไตผ่านช่องท้องขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย

            - มีผลประโยชน์จากการซื้อยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์

            4. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล

            5. การจ่ายเงินค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องกับการล้างไตผ่านช่องท้อง

            6. มีผลประโยชน์จากการซื้อยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์

            หลังจากกระทรวงสาธารณสุขได้รับแจ้งจาก คตร. แล้วได้ทำหนังสือหารือไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้รับการตอบข้อหารือว่า การทำในสิ่งที่ คตร. ทักท้วงมาต่อไปนั้นไม่สามารถทำได้เพราะขัดกับวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการบริหารงาน เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับงบประมาณโดยตรงจากรัฐบาลในการทำงานบริการประชาชน ต้องขอรับเงินจาก สปสช. มาใช้จ่ายในการทำงาน จึงได้รายงานไปถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข

            นายกรัฐมนตรีจึงได้ออกคำสั่งที่ 37/2559 เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับมาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่าน สปสช. ให้สามารถจ่ายเงินนี้ได้ในกรณีดังนี้คือ

            1. ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น ได้แก่

           1.1 ค่าใช้จ่ายเพื่อการสร้างสุขภาพและป้องกันโรค

                 1.2 ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับบริการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง

            2. ค่าใช้จ่ายอื่น ได้แก่

                 2.1 ค่าใช้จ่ายประจำที่เกิดขึ้นจากการบริการสาธารณสุข

                  2.2 ค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์

                 2.3 ค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข

            ในคำสั่งของหัวหน้า คสช. นี้ได้รวมถึงการให้กระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบว่า การใช้จ่ายเงินที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้นมีความสุจริตหรือไม่

            รวมทั้งได้กำหนดให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายนี้

            ต่อมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ตามคำสั่งที่ 10/2560 ลงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560 โดยมีนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานกรรมการ โดยมีคณะกรรมการจากกระทรวงสาธารณสุข 5 คน จาก สปสช. 4 คน จากองค์กรรัฐอื่น/ท้องถิ่น 12 คน และองค์กรเอกชน/ประชาชน 5 คน

            คณะกรรมการเหล่านี้ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ยกร่างเสร็จและมีคำสั่งแต่งตั้ง นายพลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นประธานอนุกรรมการดำเนินการทำประชาพิจารณ์ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

            คณะอนุกรรมการดำเนินการทำประชาพิจารณ์ได้อธิบายรูปแบบในการดำเนินการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน(1) เป็น 3 แบบคือ

            1. ผ่านทาง website

            2. การจัดเวทีประชาพิจารณ์ โดยการลงทะเบียนล่วงหน้า 4 ภาค

            3. การจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ

            จริง ๆ แล้วหากตีความตามแนวทางการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายฯ ตามบทบัญญัติมาตรา 77 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลจะต้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน           

            สำหรับการจัดเวทีประชาพิจารณ์ โดยการลงทะเบียนล่วงหน้า 4 ภาคนั้น ได้จัดขึ้นที่หาดใหญ่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และกรุงเทพฯ มีปรากฏการณ์ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 แห่ง กล่าวคือ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ(2) ได้ “walk out” แสดงจุดยืนไม่ยอมรับการจัดรับฟังความคิดเห็น และในการจัดการรับฟังความคิดเห็นที่ศูนย์ประชุมวายุพักตร์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ได้ไปจัดเวทีคู่ขนานแสดงจุดยืนขอให้หยุดกระบวนการแก้ไขกฎหมายและเริ่มกระบวนการใหม่ โดยมีนายนิมิตร์ เทียนอุดม อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพหลายสมัย (ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้ติดเชื้อเอดส์)  เป็นแกนนำ

            ถ้ามาดูการเกิดกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะพบว่าก่อกำเนิดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2555(3-6) โดยมีนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประธาน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว เป็นโฆษก น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา เป็นผู้ประสานงาน จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กลุ่มคนเหล่านี้จัดตั้งมาอย่างยาวนาน และทำงานมาอย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง

            แต่คำถามสำคัญก็คือ กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับเงินทุนและการสนับสนุนจากใคร

            จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์กับมูลนิธิต่าง ๆ และรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นในการคัดค้านการแก้กฎหมายในครั้งนี้

            ในขณะที่โฆษกคณะกรรมการยกร่างแก้ไขกฎหมายบัตรทองออกมายืนยันไม่มียัดไส้ร่วมจ่าย(7) และ นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การ walk out เป็นเรื่องประชาธิปไตย ไม่มีการเมือง ซึ่งการอ้างว่าการ walk out เป็น “ประชาธิปไตยนั้น” น่าสงสัย เนื่องจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ออกตัวมาคัดค้านเรื่องการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ล้วนเป็นหรือเคยเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเป็นกรรมการหรือทำงานในมูลนิธิที่มีชื่อรับเงินจาก สปสช.มากมาย(8,9)

            ถ้ารัฐมนตรีอยากรู้ว่ามีขบวนการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง รวมทั้งการทุจริตประพฤติมิชอบในการบริหารกองทุนบัตรทอง ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 37/2559 หรือไม่ ก็น่าจะทำได้และควรรายงานผลการตรวจสอบนี้ให้ประชาชนทั่วไปทราบโดยด่วน

            ถ้ามีการทุจริตประพฤติมิชอบก็จะได้หยุดยั้งขบวนการนี้โดยด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไป

            ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ.สธ.สนช. ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำประชาพิจารณ์ (10) โดยได้ถามผู้ชี้แจงจากกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. แค่ 2 คำถาม...

            หนึ่ง...ใครเป็นคนกำหนดประเด็น และ

            สอง...ใครเป็นคนกำหนดสัดส่วนผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ ใช้เกณฑ์อะไร

            ข้อหนึ่ง ได้รับคำตอบว่า ประเด็นมาจากการรวบรวมโดยคณะทำงาน ไม่ได้ถามประชาชนว่าอะไรคือประเด็น

            ข้อสอง ไม่มีการกำหนดสัดส่วน ใครอยากมาร่วมประชุมก็ลงทะเบียน จะออนไลน์หรือหน้างานก็ได้

         บอกไปว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เชื่อว่าการทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้จะไม่ประสบความสำเร็จเพราะ

         หนึ่ง...ถามเฉพาะที่อยากถาม ไม่ได้ถามที่ประชาชนอยากถาม และ

         สอง...ประชาชนที่มาร่วมประชุมจะมาจากการรวมกลุ่มของผู้เห็นด้วยและผู้เห็นต่าง ไม่ได้กระจายตามสัดส่วนประชากรหรือพื้นที่ หรือแม้กระทั่งอาชีพการงานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

            ที่เหลือไปคิดเอาเอง...

            ส่วนผู้เขียนเรื่องนี้คิดว่าถ้ารัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ไม่ออกมาพูดถึงว่ามีความจำเป็นอะไรในการแก้ไข พ.ร.บ.บัตรทอง และไม่ศึกษาวิเคราะห์ว่าผลกระทบจาก พ.ร.บ.ที่แก้ไขใหม่นั้นจะแก้ปัญหาการขาดธรรมาภิบาลในการบริหารบัตรทองได้อย่างไร

            และจะแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องรับภาระการรักษาผู้ป่วยในระบบบัตรทองมากกว่า 90% ของผู้ป่วยบัตรทองทั้งหมด แต่ต้องให้การรักษาแบบขาดคุณภาพมาตรฐาน ขาดงบประมาณ ขาดบุคลากรที่พอเพียงแล้วไซร้

            ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะสามารถรักษาคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างไร

เอกสารอ้างอิง

  1. https://www.thairath.co.th/content/957052
  2. http://www.bbc.com/thai/thailand-40317660#
  3. http://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-contentdetail.aspx?CatID=MTAzMA==
  4. http://fb.kapook.com/health-45801.html
  5. https://www.hfocus.org/content/2012/08/1008
  6. http://www.ryt9.com/s/tpd/1316654 ข่าวทั่วไปหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันจันทร์ที่ 5 มกราคม 2555ภาคประชาชนเปิดตัว “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ”
  7. http://www.ryt9.com/s/tpd/2663405
  8. http://thaipublica.org/wp-content/uploads/2015/11
  9. http://www.manager.co.th/daily/viewnews.aspx?NewsID=9600000006118
  10. https://www.facebook.com/search/str/chalermpol%2Bwaitayangkoon/keywords_search?filters_rp_author=stories-feed