ร.พ.จุฬาลงกรณ์ ตอกย้ำ! การนอนสำคัญพิชิตโรคร้าย จัดกิจกรรมสัปดาห์ “วันนอนหลับโลก”

.พ.จุฬาลงกรณ์ ตอกย้ำ! การนอนสำคัญพิชิตโรคร้าย จัดกิจกรรมสัปดาห์ “วันนอนหลับโลก”

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอถือเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นสำหรับชีวิตของเราทุกคน เพราะนอกจากจะช่วยให้ร่างกายได้ซ่อมแซมในส่วนที่สึกหรอและช่วยฟื้นฟูสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงดีขึ้นแล้ว ในด้านของจิตใจและอารมณ์ การได้นอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอก็จะทำให้เรามีความสดชื่นแจ่มใส อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของความจำอีกด้วย

จากการตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการนอนหลับพักผ่อนที่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยศูนย์นิทราเวช ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย จัดแถลงข่าวการจัดกิจกรรม “วันนอนหลับโลก World Sleep Day 2018” สร้างความตระหนักเรื่องการนอนหลับอย่างถูกวิธีพิชิตโรคร้าย ณ ชั้น 14 ระเบียงรมณีย์ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์

.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การนอนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ร่างกายของคนเราจะได้หยุดพักและฟื้นฟู ซ่อมแซม และปรับสมดุลต่าง ๆ แต่หลายคนกลับมองข้าม การพักผ่อนไม่เพียงพอและปัญหาจากการนอนหลับในเวลากลางคืนที่เราไม่รู้ตัวนั้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงกับชีวิตได้

สมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลก (The World Association of Sleep Medicine: WASM) จึงได้กำหนดจัดกิจกรรม “วันนอนหลับโลก: World Sleep Day” ขึ้นในวันศุกร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมในทุก ๆ  ปี เพื่อให้ประชากรโลกได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาการนอนหลับ หากไม่เร่งแก้ไขก็อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้

สืบเนื่องจากปี พ.ศ. 2546 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานเครื่องตรวจวิเคราะห์การนอนหลับจำนวน 2 เครื่อง พร้อมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการตรวจเพื่อใช้ในงานด้านการรักษาพยาบาล ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการจัดตั้งเป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านความผิดปกติจากการนอนหลับแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงประทานชื่อศูนย์ฯ ว่า “ศูนย์นิทราเวช” มีความหมายว่า ศูนย์รักษาโรคที่เกิดจากการนอนหลับ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ศูนย์ฯ เป็นขวัญกำลังใจแก่คณะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และผู้ป่วยสืบไป

นพ.วิญญู ชะนะกุล รองผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า 45% ของประชากรโลกเคยมีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการนอน โดยที่ 35% จะเป็นอาการนอนไม่หลับเป็นสำคัญ และพบว่าในผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับนั้นจะมีปัญหาขาดงานหรือทำงานด้วยประสิทธิภาพที่ลดลงในสัดส่วนที่มากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหานอนไม่หลับถึง 3 เท่า นอกจากนั้นพบว่าการนอนที่ไม่เพียงพอทำให้การเรียนรู้ ความจำ และสมาธิในการทำงานต่าง ๆ ลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีปัญหาการนอน การนอนที่ไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณภาพติดต่อกันเป็นเวลานานยังส่งผลต่อการดำเนินโรคในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ภาวะโรคอ้วน ทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะเครียด โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า อีกด้วย การส่งเสริมให้มีการนอนที่เพียงพอและมีคุณภาพสามารถกระทำได้โดยการปฏิบัติตามสุขนิสัยของการนอนและการฝึกทักษะคลายเครียดในรูปแบบต่าง ๆ

         ศ.พญ.อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ นายกสมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนอนหลับโลก คือวันที่จัดงานเกี่ยวกับการนอนหลับเป็นประจำทุกปี โดยการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพด้านการหลับจากทั่วโลก มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาของการหลับ เป็นการสื่อสารสู่ประชาชนในความพยายามที่จะป้องกันและการรักษาโรคจากการหลับ

            วันนอนหลับโลกจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2551 โดยมีสโลแกน “Sleep Well, Live Fully Awake” หรือเป็นคำขวัญว่า “หลับสนิทชีวิตตื่นตัว” โดยจัดในวันศุกร์ก่อนฤดูใบไม้ผลิเดือนมีนาคม และมีการจัดงานเป็นประจำทุกปีต่อมา งานวันนอนหลับโลกได้จัดกิจกรรมขึ้นในทั่วโลก ในขณะนี้มีประเทศที่เข้าร่วมทั้งหมด 67 ประเทศ และสถานที่จัดงานจะปรากฏใน www.worldsleepday.org โดยตัวแทนวันนอนหลับโลกในแต่ละประเทศจะทำงานเพื่อส่งเสริมความตระหนักถึงปัญหาจากการหลับในรูปแบบต่าง ๆ 

            ประเทศไทยได้มีการจัดงานวันนอนหลับโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทยได้ส่งกิจกรรมเข้าไปเผยแพร่ในเว็บไซต์นี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ในปี พ.ศ. 2560 สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงานวันนอนหลับโลกที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี เครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ และได้มีการออกสื่อนิทรรศการ โทรทัศน์และวิทยุ จากการจัดกิจกรรมในครั้งนั้นประเทศไทยจึงได้รับรางวัล “2017 Distinguished Activity Award” โดยมีผู้ที่ได้รับรางวัล 6 ประเทศ คือ เอลซัลวาดอร์ อียิปต์ เปรู อิตาลี สเปน และประเทศไทย โดยคำนิยมจาก Dr.Perrino ประธานคณะกรรมการวันนอนหลับโลกถึงผู้ที่ได้รับรางวัลคือ เป็นกิจกรรมที่มีความสนุกสนาน สร้างสรรค์และจัดแพร่หลายไปทั่วประเทศ

            ในปีนี้ World Sleep Day 2018 มีสโลแกน “Join the Sleep World, Preserve Your Rhythms to Enjoy Life” สำหรับประเทศไทยจัดให้มีการประกวดคำขวัญวันนอนหลับโลก พ.ศ. 2561 “หลับเป็นเวลา ตามนาฬิกาชีวิต พิชิตโรคร้าย ร่างกายแข็งแรง” โดยคำขวัญนี้จะเน้นในความสำคัญของนาฬิกาชีวิตอันนำไปสู่สุขอนามัยการนอนที่ดี สุขภาพที่ดี ในคำขวัญนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากนักวิจัย 3 ท่านที่ได้รับรางวัลโนเบลทางด้านสรีรวิทยา จากการอุทิศตนศึกษาการทำงานของนาฬิกาชีวิต

            ในปีนี้สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมสุขภาพจิต และศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดสัปดาห์วันนอนหลับโลกขึ้น โดยสมาคมโรคจากการหลับนั้นเป็นการรวมตัวกันของสหวิชาชีพในสาขาเวชศาสตร์การนอนหลับ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการหลับจากสหสาขาต่าง ๆ ทั้งทางอายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์  จิตเวชศาสตร์ และโสต ศอ นาสิก และเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการฝึกอบรม รวมทั้งเผยแพร่วิทยาการเกี่ยวกับความผิดปกติจากการหลับ        

ทางด้าน รศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม แพทย์โรคทางการหายใจและภาวะวิกฤตทางการหายใจ หัวหน้าศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การจัดงาน “วันนอนหลับโลก World Sleep Day” ของศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้คำขวัญ “หลับเป็นเวลา ตามนาฬิกาชีวิต พิชิตโรคร้าย ร่างกายแข็งแรง” ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น “World Sleep Week” ก็ได้ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ทางศูนย์นิทราเวชจัดให้มีกิจกรรมที่หลากหลายตลอดทั้งสัปดาห์

เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการนอนที่ถูกสุขภาวะ สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากความผิดปกติของการนอนหลับ อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการจัดการปัญหาภาวะการนอนหลับอย่างตรงจุดด้วย โดยกิจกรรมนี้ได้จัดขึ้นในช่วงสัปดาห์วันนอนหลับโลก ได้แก่ กิจกรรม “รักษ์การนอน Walk Rally” ในวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561 ณ บริเวณสวนปาล์ม สวนลุมพินี กรุงเทพฯ และมีการจัด “นิทรรศการวันนอนหลับโลก” ตลอดทั้งสัปดาห์ระหว่างวันที่ 5-9 มีนาคม พ.ศ. 2561 ณ โถงชั้น G อาคาร ภปร. และในวันนอนหลับโลกประจำปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2561 จัดให้มีกิจกรรม “อบรมให้ความรู้เรื่องโรคความผิดปกติจากการนอนหลับสำหรับประชาชน” ภายใต้หัวข้อ World Sleep Day, Join the Sleep World, Preserve Your Rhythms to Enjoy Life ณ ห้องประชุม 1301 ชั้น 13 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์

รศ.นพ.ณัฐพงษ์ ยังกล่าวเน้นถึงความสำคัญของการจัดงาน “วันนอนหลับโลก World Sleep Day” ภายใต้คำขวัญ “หลับเป็นเวลา ตามนาฬิกาชีวิต พิชิตโรคร้าย ร่างกายแข็งแรง” ว่า สาเหตุที่เราเน้นในเรื่องของนาฬิกาชีวิตในปีนี้ เนื่องจากนาฬิกาชีวิตคือ วงจรของระบบการทำงานในร่างกายมนุษย์ที่มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอน การนอนหลับ หรือการหลั่งฮอร์โมนในร่างกาย ด้วยเหตุนี้การสร้างนาฬิกาชีวิตให้เหมาะสมแก่ตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งถ้าเราสามารถทำได้ควรจะมีนาฬิกาชีวิตเหมือนกับคนปกติคนทั่วไป แต่สำหรับคนที่ต้องทำงานเปลี่ยนกะในเวลาทำงานบ่อย เช่น แพทย์และพยาบาล ถ้าไม่สามารถทำได้จริง ๆ เราจะแนะนำว่าถ้าเวลาอยู่กะดึกก็ให้อยู่กะดึกยาวไปเลย เพื่อให้นาฬิกาชีวิตได้ปรับตัว ที่สำคัญเราควรจะรักษานาฬิกาชีวิตให้คงที่ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดหรือวันทำงาน เราควรจะนอนให้ตรงเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้นาฬิกาชีวิตรวน ซึ่งแต่ละคนจะกำหนดนาฬิกาชีวิตของตัวเองในช่วงเวลาใดก็แล้วแต่ตามความเหมาะสมของตัวเรา แต่ไม่ควรเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา โดยเฉพาะสำหรับคนที่ทำงานเป็นกะซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้นาฬิกาชีวิตเกิดการรวน ผมแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้อย่าเปลี่ยนเวลาของตัวเองบ่อย ควรรักษาเวลาของนาฬิกาชีวิตให้คงนาน

ทั้งนี้ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งอยู่ที่ชั้น 5 อาคารผู้ป่วยในพิเศษ 14 ชั้น มีความโดดเด่นด้านการบริการผู้ป่วยด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแบบสหสาขา มีแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคความผิดปกติทางการนอนหลับ การให้บริการของศูนย์จะประกอบด้วย คลินิกผู้ป่วยนอก (OPD) เปิดให้บริการในวันจันทร์-อังคาร เวลา 13.00-16.00 น. ห้องปฏิบัติการตรวจการนอนหลับ (Sleep Laboratory) เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 20.00-07.00 น. นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ฝึกสอนแพทย์ประจำบ้านต่อยอดอีกด้วย