รถล้างไตผ่านช่องท้องเคลื่อนที่ ดูแลผู้ป่วยได้ทุกที่-ความสัมพันธ์ไม่ถูกทอดทิ้ง

รถล้างไตผ่านช่องท้องเคลื่อนที่ ดูแลผู้ป่วยได้ทุกที่-ความสัมพันธ์ไม่ถูกทอดทิ้ง

ชาวนา อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี คิดไอเดียสร้างห้องล้างไตเคลื่อนที่ติดล้อดูแลภรรยา พาไปทุกที่ไม่ทอดทิ้งให้อยู่บ้านลำพัง

นางสุทธิราวรรณ บุญปก พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรงพยาบาลม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยถึงนวัตกรรมล้างไตช่องท้องแบบเคลื่อนที่ได้ ซึ่งเกิดจากองค์ความรู้ของชาวบ้านในพื้นที่สร้างขึ้นมาว่า เดิมทีมีครอบครัวชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งภรรยาป่วยเป็นโรคไต และต้องล้างไตผ่านช่องท้อง ขณะที่ผู้เป็นสามีและลูกสาวจะต้องออกไปรับจ้างก่อสร้างในช่วงว่างเว้นจากการทำนา และทั้งสองคนไม่อยากทิ้งภรรยาและมารดาไว้ที่บ้านเพียงลำพัง จึงคิดค้นประดิษฐ์ห้องล้างไตผ่านช่องท้องที่สามารถเคลื่อนที่ได้ขึ้นมา เพื่อจะได้พาภรรยาออกเดินทางร่วมกับคนในครอบครัว ขณะที่ออกไปทำงานตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาครอบครัวดังกล่าวต้องประสบปัญหาเมื่อภรรยาป่วยเป็นโรคไต โดยเฉพาะการหาคนมาดูแลขณะที่สามีและลูกสาวออกไปรับจ้างทำงาน ขณะที่ความร่วมมือจากโรงพยาบาลในพื้นที่อย่างโรงพยาบาลม่วงสามสิบก็จะมีโครงการแคร์กิฟเวอร์ ซึ่งจะร่วมกับคนในหมู่บ้านชุมชนช่วยดูแลผู้ป่วยอีกทางหนึ่งด้วย แต่ปัญหาที่พบคือ ผู้ป่วยโรคไตรายนี้มีอาการซึมเศร้า เนื่องจากรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งขณะที่คนในบ้านออกไปทำงานเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายภายในครอบครัว

นางสุทธิราวรรณ กล่าวว่า ขณะที่สมาชิกในครอบครัวเล็งเห็นปัญหานี้ ผู้เป็นสามีจึงคิดค้นสร้างห้องล้างไตผ่านช่องท้องเคลื่อนที่ โดยได้รับคำปรึกษาจากทีมแพทย์ของโรงพยาบาลม่วงสามสิบ เกี่ยวกับเครื่องมือและความเหมาะสมของอุปกรณ์การล้างไต ทั้งในส่วนการทำแผล การเปลี่ยนน้ำยา จึงสามารถประดิษฐ์รถล้างไตผ่านช่องท้องเคลื่อนที่ได้ โดยรถหรือห้องดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับรถไถนาที่สามีใช้เดินทางไปรับจ้างก่อสร้าง และทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินทางและอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวได้ทุกช่วงเวลา

“โรงพยาบาลม่วงสามสิบจะมีไลน์เพื่อพูดคุยกับครอบครัวผู้ป่วย พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องในทุก ๆ ครั้งที่เกิดปัญหา พร้อมกันนี้ยังติดตามการดูแลผู้ป่วยของคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิดด้วย ซึ่งผลออกมาเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก” นางสุทธิราวรรณ กล่าว

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรงพยาบาลม่วงสามสิบผู้นี้ กล่าวอีกว่า ผลการดูแลผู้ป่วยโรคไตที่ต้องล้างไตผ่านช่องท้องของครอบครัวดังกล่าว ได้ผลที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ ความพึงพอใจของคนในครอบครัว ซึ่งครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันได้ทุกเวลา และยังลดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างคนมาดูแลผู้ป่วย ทำให้มีเงินเก็บมากขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยก็รู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง และมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างคนในครอบครัว อีกทั้งรถล้างไตผ่านช่องท้องเคลื่อนที่คันนี้ยังเป็นโมเดลเพื่อให้ท้องถิ่นหรือชุมชนอื่นที่สนใจนำไปปรับใช้เพื่อดูแลผู้ป่วยได้อีกด้วย โดยมีราคาที่ไม่แพงนัก

“ปัจจุบันโรงพยาบาลม่วงสามสิบมีผู้ป่วยที่ต้องล้างไตผ่านช่องท้องอยู่ 58 คน ขณะที่ต้องดูแลผ่านการฟอกเลือดก็มีอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงผู้ป่วยที่อยู่ในระยะชะลอไตเสื่อมด้วย” นางสุทธิราวรรณ กล่าวทิ้งท้าย