ยาสูตรผสม 3 ตัวช่วยควบคุมความดันเลือด

ยาสูตรผสม 3 ตัวช่วยควบคุมความดันเลือด

JAMA. 2018;320(6):566-79.

            บทความเรื่อง Fixed Low-Dose Triple Combination Antihypertensive Medication vs Usual Care for Blood Pressure Control in Patients with Mild to Moderate Hypertension in Sri Lanka: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดีเป็นปัญหาสำคัญในระดับโลกซึ่งจำเป็นต้องมีแนวทางการรักษาใหม่ คณะผู้ศึกษาวิจัยได้ประเมินผลการรักษาด้วยยาลดความดันโลหิตสูตรรวมยา 3 ตัวโด๊สต่ำต่อการควบคุมความดันโลหิตเทียบกับการรักษามาตรฐาน

            คณะผู้ศึกษาวิจัยดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบด้วยวิธีการสุ่มแบบเปิดเพื่อศึกษาผลการรักษาด้วยยาลดความดันโลหิตสูตรรวมยา 3 ตัวโด๊สต่ำเทียบกับการรักษามาตรฐานในผู้ใหญ่ที่เป็นความดันโลหิตสูง  (ความดันซิสโตลิก > 140 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันไดแอสโตลิก > 90 มิลลิเมตรปรอท หรือในผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคไตเรื้อรัง > 130 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือ > 80 มิลลิเมตรปรอท) ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มยา (ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา) หรือเพิ่มยาลดความดันโลหิต (ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาตัวเดียว)  โดยรวบรวมผู้ป่วยจากโรงพยาบาล 11 แห่งในศรีลังการะหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 ถึงพฤษภาคม ค.ศ. 2017 การตรวจติดตามสิ้นสุดในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2017

            ผู้ป่วยได้ยาสูตรผสม 3 ตัวโด๊สคงที่วันละครั้ง (telmisartan 20 มิลลิกรัม, amlodipine 2.5 มิลลิกรัมและ chlorthalidone 12.5 มิลลิกรัม) (n = 349) หรือการรักษามาตรฐาน (n = 351) ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ สัดส่วนของผู้ป่วยที่คุมความดันซิสโตลิก/ไดแอสโตลิกได้ตามเป้า (< 140/90 มิลลิเมตรปรอท หรือ < 130/80 มิลลิเมตรปรอท ในผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคไตเรื้อรัง) ที่ 6 เดือน ผลลัพธ์รองประกอบด้วย ค่าเฉลี่ยความต่างของความดันซิสโตลิก/ไดแอสโตลิกระหว่างการตรวจติดตาม และการหยุดยาความดันโลหิตเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

            จากผู้ป่วยที่ได้รับการสุ่ม 700 ราย (อายุเฉลี่ย 56 ปี ร้อยละ 58 เป็นผู้หญิง ร้อยละ 29 มีโรคเบาหวาน ค่าเฉลี่ยความดันซิสโตลิก/ไดแอสโตลิกเริ่มต้นเท่ากับ 54/90 มิลลิเมตรปรอท) และมีผู้ป่วยเข้าร่วมจนสิ้นสุดการรักษา 675 ราย (ร้อยละ 96) การรักษาด้วยยาสูตร 3 ตัวเพิ่มสัดส่วนการควบคุมความดันโลหิตได้ถึงเป้าเทียบกับการรักษามาตรฐานที่ 6 เดือน (ร้อยละ 70 เทียบกับร้อยละ 55 ตามลำดับ ผลต่างความเสี่ยงเท่ากับร้อยละ 12.7 [95% CI ระหว่างร้อยละ 3.2 ถึงร้อยละ 22.0]; p < 0.001) ค่าเฉลี่ยความดันซิสโตลิก/ไดแอสโตลิกที่ 6 เดือน เท่ากับ 125/76 มิลลิเมตรปรอทสำหรับการรักษาด้วยยาสูตร 3 ตัว เทียบกับ    134/81 มิลลิเมตรปรอทสำหรับการรักษามาตรฐาน (ความต่างที่ปรับแล้วของความดันโลหิตภายหลังการสุ่มตลอดช่วงการตรวจติดตาม ได้แก่ -9.8 มิลลิเมตรปรอท [95% CI -7.9 ถึง -11.6] สำหรับความดันซิสโตลิก และ -5.0 มิลลิเมตรปรอท [95% CI -3.9 ถึง -6.1] สำหรับความดันไอแอสโตลิก; p < 0.001 สำหรับการเปรียบเทียบ) โดยรวมมีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ 419 เหตุการณ์ในผู้ป่วย 255 ราย (ร้อยละ 38.1 สำหรับยาสูตร 3 ตัวเทียบกับร้อยละ 34.8 สำหรับการรักษามาตรฐาน) โดยส่วนใหญ่เป็นอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก (ร้อยละ 6.0 และร้อยละ 8.0 ตามลำดับ) และวิงเวียน รวมถึงหน้ามืดหรือเป็นลม (ร้อยละ 5.2 และร้อยละ 2.8) จากการศึกษาไม่พบความต่างที่มีนัยสำคัญด้านจำนวนผู้ป่วยที่ถอนตัวจากการรักษาเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (ร้อยละ 6.6 สำหรับยาผสมสูตร 3 ตัว เทียบกับร้อยละ 6.8 สำหรับการรักษามาตรฐาน)

            ข้อมูลจากผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเล็กน้อยถึงปานกลางชี้ว่าการรักษาด้วยยาสูตร 3 ตัวโด๊สต่ำเพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ตามเป้าเมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐาน การรักษาด้วยยาสูตร 3 ตัวโด๊สต่ำตั้งแต่แรก หรือใช้แทนการรักษาด้วยยาตัวเดียวอาจเป็นแนวทางที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมความดันโลหิต