ผลจาก ACC/AHA guidelines ต่อความชุกและการรักษาความดันโลหิตสูง

ผลจาก ACC/AHA guidelines ต่อความชุกและการรักษาความดันโลหิตสูง

BMJ. 2018;362:k2357.

            บทความเรื่อง Impact of 2017 ACC/AHA Guidelines on Prevalence of Hypertension and Eligibility for Antihypertensive Treatment in United States and China: Nationally Representative Cross Sectional Study รายงานข้อมูลจากการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินผลของแนวทางเวชปฏิบัติ American College of Cardiology (ACC)/American Heart Association (AHA) ปี ค.ศ. 2017 สำหรับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงต่อความชุกของความดันโลหิตสูง รวมถึงเกณฑ์เริ่มการรักษาและเพิ่มความเข้มงวดการรักษาในประชากรของสหรัฐอเมริกาและจีน

            ผู้ศึกษาวิจัยรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูล National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) ของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 2013-2014 และ 2015-2016 และฐานข้อมูล China Health and Retirement Longitudinal Study (CHARLS) ระหว่างปี ค.ศ. 2011-2012 ครอบคลุมผู้ใหญ่อายุ 45-75 ปี ซึ่งตรวจพบความดันโลหิตสูงและสอดคล้องกับเกณฑ์การรักษาตาม ACC/AHA guidelines โดยเทียบกับแนวทางเวชปฏิบัติที่ใช้ในปัจจุบัน ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การตรวจพบความดันโลหิตสูงและความสอดคล้องตามเกณฑ์เริ่มการรักษา และเพิ่มความเข้มงวดของการรักษาความดันโลหิตสูง

            การใช้เกณฑ์ ACC/AHA ปี ค.ศ. 2017 ในสหรัฐอเมริกาจะส่งผลให้มีประชากร 70.1 ล้านคน (95% CI 64.9-75.3) ในกลุ่มอายุ 45-75 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นความดันโลหิตสูง หรือคิดเป็นร้อยละ 63 (ร้อยละ 60.6-65.4) ของประชากรในกลุ่มนี้ การใช้เกณฑ์ ACC/AHA ปี ค.ศ. 2017 ในจีนจะส่งผลให้มีประชากร 266.9 ล้านคน (252.9-280.8) หรือร้อยละ 55 (ร้อยละ 53.4-56.7) ของประชากรในกลุ่มอายุดังกล่าวได้รับการวินิจฉัยเป็นความดันโลหิตสูง ซึ่งจะส่งผลให้ความชุกของความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.8 (ร้อยละ 23.2-30.9) ในสหรัฐอเมริกา และร้อยละ 45.1 (ร้อยละ 41.3-48.9) ในจีน นอกจากนี้การใช้ ACC/AHA guidelines จะส่งผลให้ตัวเลขผู้ป่วยความดันโลหิตสูงซึ่งไม่ได้รับการรักษา ซึ่งปัจจุบันคาดว่าอยู่ที่ราว 8.1 ล้านคน (6.5-9.7) เพิ่มขึ้นเป็น 15.6 ล้านคน (13.6-17.7) และเพิ่มขึ้นจาก 74.5 ล้านคน (64.1-84.8) เป็น 129.8 ล้านคน (118.7-140.9) ในจีน นอกจากนี้การยอมรับ ACC/AHA guidelines จะส่งผลให้ประชากร 8.7 ล้านคน (6.0-11.5) ในสหรัฐอเมริกา และ 51 ล้านคน (40.3-61.6) ในจีนได้รับการวินิจฉัยเป็นความดันโลหิตสูงที่ไม่ต้องรักษาเทียบกับตัวเลข 1.5 ล้านคน (1.2-2.1) และ 23.4 ล้านคน (12.1-35.1) ตามเกณฑ์ปัจจุบัน การปรับตาม ACC/AHA guidelines จะส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการรักษาเพิ่มขึ้น 13.9 ล้านคน (12.2-15.6) (ร้อยละ 24.0-54.4 ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา) ในสหรัฐอเมริกา และ 30 ล้านคน (24.3-35.7) (ร้อยละ 41.4-76.2 ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา) ในจีน

            การยอมรับแนวทางเวชปฏิบัติ ACC/AHA ปี ค.ศ. 2017 สำหรับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงจะส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งในสหรัฐอเมริกาและจีน หรือเทียบได้ว่าจะส่งผลให้กว่าครึ่งของประชากรอายุ 45-75 ปีในทั้ง 2 ประเทศได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นความดันโลหิตสูง