พฤติกรรมการดูแลสุขภาพของแม่และความเสี่ยงโรคอ้วนในบุตร

พฤติกรรมการดูแลสุขภาพของแม่และความเสี่ยงโรคอ้วนในบุตร

BMJ. 2018;362:k2486.

            บทความเรื่อง Association between Maternal Adherence to Healthy Lifestyle Practices and Risk of Obesity in Offspring: Results from Two Prospective Cohort Studies of Mother-Child Pairs in the United States รายงานผลลัพธ์การศึกษาระยะยาวเพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมดูแลสุขภาพโดยรวมของมารดา (ประเมินจากมีดัชนีมวลกายที่ดี รับประทานอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ และดื่มเหล้าเล็กน้อย-ปานกลาง) กับความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วนในบุตร

            การศึกษาวิจัยรวบรวมข้อมูลจากการศึกษา Nurses’ Health Study II (NHSII) และ Growing Up Today Study (GUTS) ในสหรัฐอเมริกา ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง 24,289 รายในการศึกษา GUTS ซึ่งมีอายุ 9-14 ปีเมื่อเริ่มต้นการศึกษาและไม่มีโรคอ้วน และเป็นบุตรของหญิง 16,945 รายในการศึกษา NHSII ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ โรคอ้วนในวัยเด็กและวัยรุ่นประเมินจากจุดตัดตามอายุและเพศตาม International Obesity Task Force ความเสี่ยงโรคอ้วนในบุตรประเมินตามตัวแบบ multivariable log-binomial regression models โดยใช้สมการ generalized estimating equations และ exchangeable correlation structure

            เด็ก 1,282 คน (ร้อยละ 5.3) เป็นโรคอ้วนระหว่างมัธยฐานการตรวจติดตาม 5 ปี ความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วนต่ำกว่าในเด็กที่แม่มีดัชนีมวลกายในเกณฑ์ดีระหว่าง 18.5-24.9 (ความเสี่ยงสัมพัทธ์ 0.44, 95% CI 0.39-0.50)  ออกกำลังกายปานกลาง/หนัก 150 นาที/สัปดาห์ (0.79, 0.69-0.91) ไม่สูบบุหรี่ (0.69, 0.56-0.86) และดื่มเหล้าปานกลาง (1.0-14.9 กรัม/วัน; 0.88, 0.79-0.99) เทียบกับกลุ่มอื่น พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ของมารดา (ช่วงร้อยละ 40 บนของ Alternate Healthy Eating Index 2010 diet score) ไม่สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความเสี่ยงโรคอ้วนในบุตร (0.97, 0.83-1.12) เมื่อประเมินปัจจัยพฤติกรรมดูแลสุขภาพร่วมกันพบว่าบุตรของหญิงที่มีพฤติกรรมความเสี่ยงต่ำทั้ง 5 ปัจจัยมีความเสี่ยงโรคอ้วนต่ำกว่าร้อยละ 75 เทียบกับบุตรของหญิงที่ไม่มีพฤติกรรมดังกล่าวเลย (0.25, 0.14-0.47) ความสัมพันธ์นี้สอดคล้องกันในทั้งสองเพศและทุกกลุ่มอายุ รวมถึงกลุ่มย่อยของเด็กจำแนกตามภาวะแทรกซ้อนการตั้งครรภ์ น้ำหนักแรกเกิด อายุครรภ์ และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ รูปแบบการดำเนินชีวิตของเด็กไม่มีผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินชีวิตของมารดาและความเสี่ยงโรคอ้วนของบุตร แต่ความเสี่ยงโรคอ้วนในบุตรยิ่งลดลง (0.18, 0.09-0.37) เมื่อทั้งมารดาและบุตรมีพฤติกรรมดูแลสุขภาพ

            ข้อมูลจากการศึกษาชี้ว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาพดีของมารดาในช่วงที่บุตรอยู่ในวัยเด็กหรือวัยรุ่นสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคอ้วนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในเด็ก ผลลัพธ์นี้ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการปรับพฤติกรรมครอบครัวหรือพ่อแม่เพื่อลดความเสี่ยงโรคอ้วนในเด็ก