การใช้ Allopurinol และโรคไตเรื้อรังในผู้ป่วยเกาต์

การใช้ Allopurinol และโรคไตเรื้อรังในผู้ป่วยเกาต์

JAMA Intern Med. 2018;178(11):1526-33.

บทความเรื่อง Association of chronic kidney disease with allopurinol use in gout treatment รายงานว่า แพทย์มักกังวลถึงการใช้ allopurinol ในผู้ป่วยโรคเกาต์เมื่อการทำงานของไตเสื่อมลง คณะผู้ศึกษาวิจัยจึงประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ allopurinol ในโรคเกาต์ และความเสี่ยงการเกิดโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 หรือรุนแรงกว่า

ผู้วิจัยศึกษาในผู้ป่วยซึ่งเพิ่งตรวจพบโรคเกาต์และได้รับการรักษาด้วย allopurinol (≥ 300 มิลลิกรัม/วัน) โดยเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับ allopurinol จากฐานข้อมูล Health Improvement Network (THIN) ของสหราชอาณาจักร และวิเคราะห์ด้วยตัวแบบ Cox proportional hazards regression ผู้วิจัยได้จับคู่ผู้ป่วยอายุ 18-89 ปี ซึ่งเพิ่งตรวจพบโรคเกาต์ 4,760 ราย ซึ่งได้รับ allopurinol (≥ 300 มิลลิกรัม/วัน) กับผู้ป่วย 4,760 ราย ซึ่งไม่ได้รับ allopurinol โดยไม่รวมผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 หรือรุนแรงกว่า หรือได้รับยาลดกรดยูริกก่อนตรวจพบโรคเกาต์ ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การเกิดโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 หรือรุนแรงกว่า 

จากผู้ป่วยที่ได้รับ allopurinol (ผู้ชาย 3,975 ราย และผู้หญิง 785 ราย) และกลุ่มที่ไม่ได้รับ  allopurinol (ผู้ชาย 3,971 ราย และผู้หญิง 789 ราย) พบการเกิดโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 หรือรุนแรงกว่าใน 579 ราย และ 623 ราย ตามลำดับ โดยมีมัธยฐานการตรวจติดตามเท่ากับ 5 และ 4 ปี ค่าเฉลี่ยอายุเท่ากับ 57 ปี และค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกายเท่ากับ 30 ในทั้ง 2 กลุ่ม การใช้ allopurinol อย่างน้อย 300 มิลลิกรัม/วัน สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าต่อการเกิดโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 หรือรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้ยา โดยมี hazard ratio (HR) เท่ากับ 0.87 (95% CI 0.77-0.97) และการใช้ allopurinol น้อยกว่า 300 มิลลิกรัม/วัน ไม่สัมพันธ์กับการเสื่อมลงของไต (HR 1.00; 95% CI 0.91-1.09)

ข้อมูลจากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่นี้ชี้ว่า การใช้ allopurinol อย่างน้อย 300 มิลลิกรัม/วัน สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อไตเสื่อม เนื่องจากไม่พบว่า allopurinol สัมพันธ์กับการทำงานของไตที่เสื่อมลง แพทย์จึงควรพิจารณาสาเหตุอื่นเมื่อผู้ป่วยโรคเกาต์มีการทำงานของไตเสื่อมลง