ค่า INR ที่เหมาะสมสำหรับคนไทยเพื่อติดตามการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลัง mechanical mitral valve replacement ด้วยการใช้ยาวาร์ฟาริน ควรมีค่าเท่าใด

ค่า INR ที่เหมาะสมสำหรับคนไทยเพื่อติดตามการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลัง mechanical mitral valve replacement ด้วยการใช้ยาวาร์ฟาริน ควรมีค่าเท่าใด

            “วาร์ฟาริน” เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่มีดัชนีการรักษาแคบ กล่าวคือ ขนาดยาที่สูงกว่าช่วงการรักษาทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงได้ เช่น ภาวะเลือดออกผิดปกติ และขนาดยาที่ต่ำกว่าช่วงการรักษาทำให้ไม่สามารถออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดได้ ส่งผลทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดในระบบอวัยวะต่าง ๆ ดังนั้น จึงต้องมีการติดตามอาการแสดงทางคลินิกรวมถึงติดตามค่าทางห้องปฏิบัติการอย่างใกล้ชิด ได้แก่ อาการชาครึ่งซีก อาการปวดศีรษะ ปวดหน้าอก หรือปวดขามาก ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ อาการเลือดออกผิดปกติ ค่า prothrombin time และค่า international normalized ratio (INR) ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม American college of chest physicians consensus conference และสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุให้ใช้วาร์ฟารินสำหรับป้องกันหรือรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในข้อบ่งใช้ดังกล่าวคือ การป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบ mechanical mitral valve โดยกำหนดเป้าหมายการควบคุม INR คือ 2.5-3.5 อย่างไรก็ตาม ค่าดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นโดยใช้ผลการศึกษาจากประชากรในกลุ่มประเทศตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ มีการศึกษาในชาวเอเชียน้อยมาก และไม่มีการศึกษาขนาดใหญ่ในประชากรไทย ดังนั้น จึงนำมาสู่คำถามที่สำคัญทางคลินิกว่า “เป้าหมายการควบคุม INR ที่เหมาะสมสำหรับคนไทยเพื่อติดตามการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบ mechanical mitral valve ด้วยการใช้ยาวาร์ฟาริน ควรมีค่าเท่าใด  Kamthornthanakarn และคณะ ได้ตีพิมพ์การศึกษาทางคลินิกแบบ retrospective cohort ลงในวารสาร BMC Cardiovasc Disord โดยทบทวนข้อมูลผู้ป่วยหลังเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบ mechanical mitral valve ที่ได้รับการรักษาโดยการใช้ยาวาร์ฟารินจากเวชระเบียนของโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 200 ราย และนำมาวิเคราะห์หาช่วงเป้าหมายการควบคุม INR ที่เหมาะสมที่สุดซึ่งจะไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันและไม่เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ ผลการศึกษาพบว่าการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันจะเกิดขึ้นน้อย เมื่อผู้ป่วยมี INR มากกว่าหรือเท่ากับ 2.0 และการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติโดยภาพรวม (ทั้ง major และ minor bleeding) จะเกิดขึ้นน้อย เมื่อผู้ป่วยมี INR น้อยกว่าหรือเท่ากับ 3.4 ดังนั้น การศึกษาครั้งนี้จึงสรุปผลได้ว่าช่วงค่า INR ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไทยเพื่อติดตามการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบ mechanical mitral valve ด้วยการใช้ยาวาร์ฟารินคือ 2.0-3.4

ที่มา: Kamthornthanakarn I, Krittayaphong R. BMC Cardiovasc Disord. 2019;19:97. doi: 10.1186/s12872-019-1078-3.