น้ำมันปลา (Fish oil)

น้ำมันปลา (Fish oil)
อ.ดร.ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

          น้ำมันปลา คือ น้ำมันที่สกัดมาจากปลาจากแหล่งธรรมชาติ มีส่วนประกอบคือ โอเมก้า-3 (Omega-3) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นกรดไขมันที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย และร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ จึงต้องได้รับจากการบริโภคอาหารเท่านั้น(7)  

เพื่อประโยชน์สูงสุดในการบริโภคน้ำมันปลา ควรเลือกน้ำมันปลาที่มาจากปลาทะเลน้ำลึกที่มีไขมันสูง ซึ่งมักเป็นปลาน้ำเค็มในเขตหนาว เช่น ปลาในทะเลน้ำลึกประเทศนอร์เวย์ เพราะบริเวณนั้นเป็นแหล่งทะเลน้ำลึกที่สะอาดบริสุทธิ์ และมีสิ่งแวดล้อมและอาหารที่เหมาะสมแก่การสร้างโอเมก้า-3 ในเนื้อปลา(8) ทำให้คุณภาพปลามีปริมาณโอเมก้า-3 สูงสุด

          ทั้งนี้การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำพวกน้ำมันปลา ผู้บริโภคมักต้องการประโยชน์หลักจากสารในกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิด Omega-3 ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ คือ EPA (Eicosapentaenoic acid) และ DHA (Docosahexaenoic acid) ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจบางชนิด, อาการปวดข้อ, การอักเสบและช่วยในด้านความจำ(7) โดยเฉพาะ DHA เป็นส่วนประกอบสำคัญของสมอง(6) และดวงตา(1) ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองในเด็ก(7) ได้อีกด้วย

           มีการศึกษาในมนุษย์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของโอเมก้า-3 ในเรื่องเกี่ยวกับระดับไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือด, ความดันโลหิต, การป้องกันความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดหัวใจ, การลดการปวดข้อและข้ออักเสบรูมาตอยด์ และอื่น ๆ อยู่พอสมควร(2,8,9) นอกจากนี้ยังมีรายงานจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2559 ว่าการใช้น้ำมันปลาอาจมีผลดีกับความจำเมื่อใช้ร่วมกับวิตามินบีบางชนิด เช่น วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 ได้อีกด้วย(11) อย่างไรก็ดี พึงตระหนักว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นไม่สามารถใช้รักษาโรคได้

          ดังนั้น การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำพวกน้ำมันปลาส่วนใหญ่แล้วผู้บริโภคมักต้องการประโยชน์จากสาร Omega-3 คือ EPA และ DHA เป็นหลัก ซึ่งประโยชน์จากการรับประทานสารจำพวก Omega-3 ที่พบว่ามีการศึกษาในมนุษย์ยืนยันประสิทธิภาพค่อนข้างมาก ได้แก่(1)

  • การลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในกระแสเลือด
  • การลดระดับความดันโลหิตสูง เพื่อช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว และป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น ลดความหนืดของผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดมีความยืดหยุ่น ทำให้ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบหลอดเลือดและหัวใจ
  • ลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดไม่เกาะตัวกันเป็นลิ่ม (ป้องกันการแข็งตัวของเลือด)
  • ลดการปวดข้อและข้ออักเสบรูมาตอยด์

รูปที่ 1 ผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาในรูปแบบแคปซูลนิ่ม(5)

การบริโภคน้ำมันปลา(2,8,9,10)

                    ยังไม่มีข้อกำหนดมาตรฐานทั่วไปสำหรับขนาดรับประทานโอเมก้า-3 จากน้ำมันปลา เพื่อดูแลเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจ องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้รับประทานปลาในขนาดที่ให้ EPA และ DHA เท่ากับวันละ 200-500 มิลลิกรัม อย่างไรก็ดี มีการแนะนำให้รับประทานโอเมก้า-3 ในขนาด 1.1 กรัมต่อวันในผู้หญิง และ 1.6 กรัม ต่อวันในผู้ชาย แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 3 กรัมต่อวัน ส่วนขนาดรับประทานสำหรับเด็กเล็กนั้นยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนระบุไว้

น้ำมันปลาอาจมีประโยชน์สำหรับบุคคลเหล่านี้(3,4)

  1. ผู้ที่รับประทานอาหารแบบจำกัด รวมถึงผู้ที่รับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอ
  2. ผู้ที่ประสงค์จะดูแลสุขภาพให้ดีอย่างสม่ำเสมอ
  3. ผู้ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ซึ่งได้แก่ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ผู้ที่สูบบุหรี่จัด ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารประเภทที่มีไขมันสูง ผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะประจำและขาดการออกกำลังกาย ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์
  4. ผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวดังกล่าวข้างต้น และไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด(8)

ตารางที่ 1 ขนาดของ Omega-3 (EPA + DHA) ที่แนะนำในแต่ละข้อบ่งใช้ (12)

ผู้ที่ต้องระมัดระวังในการรับประทานน้ำมันปลา(2) ได้แก่

  1. ผู้ที่แพ้ปลาทะเลหรือสารที่ใช้ในการผลิต ซึ่งสังเกตจากฉลากของแต่ละยี่ห้อ
  2. ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ เช่น แอสไพริน เป็นต้น
  3. ผู้ที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เลือดหยุดไหลยาก เช่น มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือประสงค์จะทำการผ่าตัดในระยะเวลาอันใกล้

          จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าการบริโภคน้ำมันปลานั้นถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็มีข้อควรระวังที่ต้องใส่ใจเช่นกัน ดังนั้น การศึกษาข้อมูลก่อนที่จะรับประทานจึงเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงจากอาหารเสริมได้ หากมีข้อสงสัยโปรดสอบถามข้อมูลเพื่อเติมจากแพทย์หรือเภสัชกร
 

เอกสารอ้างอิง

  1. Omega-3 fatty acids, fish oil, alpha-linolenic acid [Online]. 2009 Aug 26 [cited 2010 Apr 26].  Available from: URL: http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/natural/patient-fishoil.html.
  2. ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์, ภก.น้ำมันปลากับน้ำมันตับปลาแตกต่างกันอย่างไร เเละให้ประโยชน์อย่างไรบ้าง.  Available FormURL:http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/qa_full.php?id=1998
  3. ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครศรีธรรมราช. น้ำมันปลา. Available form URL http://www.fisheries.go.th/sf-nakhonsri/index.php/fishoil
  4. http://www.fisheries.go.th/sf-nakhonsri/images/activity/FishOil.docx
  5. Kris-Etherton P.M., et al. Fish Consumption, Fish Oil, Omega-3 Fatty Acids, and Cardiovascular Disease, Circulation. 2002;06:2747-57.
  6. Omega-3 fatty acids and health, fact sheet for health Professionals. Available from: USFDA: http://www.ods.od.nih.gov/factsheets/Omega3Fatty AcidsandHealth-Health Professional.
  7. Merck Newsletter on Omega-3 Fatty acids, December 2015-April 2016.
  8. Population nutrient intake goals for preventing diet-related chronic diseases. Available from Who: http:www.who.int/nutrition/topics/5_population_nutrient/en/.
  9. Healing food pyramid. Available from http://www.med.umich.edu/uminm/Food-pyramid/fish html.
  10. FDA Announces Qualified Health Claims for Omega-3 Fatty Acides. Available from http://www.fda.gov/News Events/Newsroom/PressAnnouncements/2004/ucm108351.htm
  11. Oulhaj A. et al.Omega-3 Fatty acid Status Enhances the Prevention of Congnitive Decline by B Vitamin in Mild Cognitive Impairment. Journal of Alzheimer’s disease. 2016;50:547-57.
  12. ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา. Role of Omega-3 Polyunsaturated Fatty Acid in Clinical Practice. http://www.wongkarnpat.com/upfilecpe/236CPE.pdf