โลกกำลังเผชิญมหันตภัยเชื้อโรค

โลกกำลังเผชิญมหันตภัยเชื้อโรค
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

          ในขณะที่วงการแพทย์และสาธารณสุขมีความเจริญรุดหน้ามาอย่างต่อเนื่อง มีการค้นคว้าวิจัยพัฒนาทั้งยาและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจคัดกรองหาโรคก่อนจะมีอาการป่วย ตลอดไปจนถึงการตรวจวินิจฉัยโรค รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อให้มนุษย์มีอายุขัยยืนยาว ตลอดไปจนถึงการค้นคว้าวิจัยที่จะรักษาความหนุ่มสาวไว้ให้ยืนยาวไม่เสื่อมลงไปตามกาลเวลา แต่จู่ ๆ โลกมนุษย์ก็ต้องเผชิญมหันตภัยจากเชื้อโรคอันร้ายกาจที่ทำให้ประชากรโลกต้องเจ็บป่วยล้มตายกันไปเป็นจำนวนมากในเกือบทุกประเทศทั่วโลก ในขณะที่เขียนบทความนี้มีสถิติว่ามีประชากรทั่วโลกเจ็บป่วยหรือติดเชื้อโรคนี้ไปแล้ว 44,235,091 คน และยังไม่มีทีท่าว่าการติดเชื้อจะหยุดยั้งอยู่แค่นั้น ก่อนที่ชาวโลกจะมีวัคซีนป้องกันโรคร้ายนี้ได้ก็น่ากลัวเหลือเกินว่าอาจจะมีผู้ติดเชื้อนี้เพิ่มขึ้นอีกมากมายมหาศาลจนไม่อาจจะประเมินได้ ส่วนผู้ที่เสียชีวิตจากโรคร้ายนี้ก็มีจำนวน 1,171,274 คน ในประเทศไทยมีผู้ป่วย 3,746 คน เสียชีวิต 59 คน มีจำนวนประเทศที่มีผู้ป่วยเกิน 1 ล้านคนอยู่ทั้งหมด 8 ประเทศ โดยประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 9,038,030 คน เสียชีวิต 232,044 คน และยังมีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มวันละหลายหมื่นคน ตามรายงานในวันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 75,072 คน

          โรคระบาดที่กำลังกล่าวถึงอยู่ในขณะนี้ก็คือ โรค COVID-19 ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ Corona Virus สายพันธุ์ใหม่คือ SARS-CoV-2 (Severe Acute Respiratory Syndrome Virus 2)  ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มระบาดครั้งแรกจากเมือง Wuhan ประเทศจีนในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2019 แล้วมีการระบาดลุกลามไปทั่วโลก และเมื่อมีการระบาดในช่วงแรกแล้ว พอโรคเริ่มมีการลดอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงบ้างก็กลับมีการระบาดเพิ่มขึ้นในรอบที่ 2 อีกในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งในขณะที่เขียนบทความนี้มีการระบาดเพิ่มมากขึ้นในประเทศอินเดีย และเมียนมาร์ ซึ่งอินเดียมีเขตติดกับพม่า และพม่ามีแนวเขตชายแดนติดกับประเทศไทยเป็นระยะทางยาวหลายร้อยกิโลเมตรถึง 10 จังหวัด ซึ่งจะมีประชาชนทั้ง 2 ประเทศเดินทางติดต่อค้าขายหรือเข้ามาทำงาน ทั้งการเดินทางผ่านด่านถาวรของทางการรัฐบาล หรือผ่านทางช่องทางธรรมชาติที่ประชาชนจะลักลอบเดินทางข้ามมาในประเทศไทยได้ง่าย โดยเฉพาะชาวเมียนมาร์ หรือที่เราเรียกติดปากว่าชาวพม่า จะเดินทางเข้ามาหางานทำในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางราชการไทยได้เพิ่มความระมัดระวังตรวจแนวชายแดนอย่างเข้มงวด มีรายงานการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมือง และการตรวจคัดกรองและกักกันผู้เดินทางเข้าเมืองตามด่านชายแดน ระหว่างประเทศทุกช่องทางเพื่อค้นหาและกักกันผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างน้อย 14 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยไม่เป็นผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสนี้

          ในระยะแรกของการรายงานผู้ป่วยโรค COVID-19 นั้น วงการแพทย์ชี้ว่าเป็นการระบาดจากละอองฝอย (droplet) จากน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยเท่านั้น ต่อมาทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อได้ยืนยันว่าเชื้อโรคนี้อาจลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานได้ถึง 8 ชั่วโมง หลังจากถูกแพร่กระจายออกมากับละอองฝอยจากการพูดดัง ๆ การตะโกน การไอ การจามของผู้ที่มีเชื้ออยู่ในทางเดินหายใจ และเชื้อโรคยังแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ทางน้ำลาย การใช้มือที่มีเชื้อโรคนี้ (ซึ่งอาจจะไปสัมผัสเชื้อโรคตามพื้นผิวสิ่งของ เครื่องใช้ โต๊ะ ประตู หน้าต่าง  ฯลฯ) มาสัมผัสที่ตา จมูก ปาก ทำให้เชื้อโรคมีช่องทางเข้าสู่ร่างกาย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อและล้มป่วยเป็น COVID-19 ได้

          อันตรายของเชื้อโรค COVID-19 ก็คือ เป็นโรคที่แพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อแล้วมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายโดยยังไม่มีอาการป่วยก็สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ตามช่องทางดังกล่าว จึงได้มีการแนะนำจากวงการแพทย์ทั่วโลกในการระมัดระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยการห้ามผู้คนอยู่ใกล้ชิดกันเป็นจำนวนมาก เป็นที่มาของการปิดเมืองเพราะอาจจะทำให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากการที่ผู้คนที่ต้องเดินทางออกจากบ้านไปติดต่อค้าขาย ทำธุรกิจ ไปทำงาน ประชุม ไปเรียนหนังสือ เดินทาง ท่องเที่ยว หรืองานเลี้ยง การชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมของคนจำนวนมากในสถานที่ไม่มีการระบายอากาศดี ตัวอย่างเช่นในห้องปรับอากาศ ซึ่งหลายประเทศมีการประกาศปิดเมืองให้ผู้คนอยู่บ้าน มีการทำงานจากบ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในสถานที่ทำงาน มีการประชุมหรือการเรียนออนไลน์ การปิดโรงภาพยนตร์ การปิดโรงเรียน ตลอดจนการปิดเมืองในกรณีที่มีการระบาดมากและมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก มีการแนะนำให้ใส่หน้ากากปิดปากและจมูก ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่อป้องกันทั้งตนเองไม่ให้รับเชื้อจากผู้อื่น หรือป้องกันไม่ให้ตนเองแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นด้วย

          ซึ่งยังนับว่าในสถานการณ์ปิดเมืองนี้ยังโชคดีที่ความเจริญรุดหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกล ไม่ว่าจะเทคโนโลยีในยุค 4G, 5G ก็ช่วยให้คนเราสามารถติดต่อสื่อสารกันทางออนไลน์ สามารถทำงาน ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และการเรียนผ่านทางออนไลน์ได้

          สำหรับในประเทศไทยมีการออกคำสั่งให้ใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นเดือนที่ 8 ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ โดยได้ประกาศข้อกำหนด 6 ข้อ ได้แก่ การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง การปิดสถานที่เสี่ยง การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร การห้ามกักตุนสินค้า การห้ามชุมนุม การเสนอข่าวที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ไม่เป็นจริง และอาจทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน และยังมีการเตรียมรับสถานการณ์ค้นหาผู้ป่วยในระดับจังหวัด การเตรียมความพร้อมในการตรวจรักษา การกักกันผู้ต้องสงสัย หรือสั่งให้ผู้เดินทางกักกันตัวเอง หรือกักกันในสถานกักกันของรัฐ

          จะเห็นว่ามีการประกาศปิดโรงแรม ห้างร้าน ร้านขายอาหาร โรงเรียน สนามมวย รถโดยสารสาธารณะ ซึ่งก็เป็นมาตรการเหมือน ๆ กันในหลายประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้นมีมาตรการบังคับให้มีการใส่หน้ากากอนามัยปิดปากปิดจมูกทุกครั้งเวลาออกไปในสถานที่สาธารณะอย่างเคร่งครัด และมาตรการตรวจค้นหาผู้ป่วยตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าสถานที่สาธารณะ และมีการติดตามผู้คนที่ไปตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ โดยการลงทะเบียนออนไลน์ หรือการลงทะเบียนทางโทรศัพท์เพื่อจะได้ติดตามผู้คนที่อาจจะติดเชื้อในกรณีที่อาจจะมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในภายหลัง

          จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการดำเนินการป้องกันการระบาดของ COVID-19 ได้เป็นอย่างดีจนได้รับความชื่นชมในความสำเร็จของประเทศไทยเป็นอย่างมาก แต่มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจการเงินทรุดตัวลงเป็นอย่างมากเหมือนกับที่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ทั้งนี้เนื่องจากการปิดการเดินทางติดต่อค้าขายทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้การหมุนเวียนทางการเงิน การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศลดลง เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับเชื้อโคโรนานี้

          แต่ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกที่ไม่ได้มีมาตรการเข้มงวดเหมือนประเทศไทยจึงมีการเจ็บป่วยล้มตายจาก COVID-19 จำนวนหลายล้านคนดังกล่าวแล้ว โรงพยาบาลในหลาย ๆ ประเทศไม่มีเตียง เวชภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอที่จะรับรักษาผู้ป่วยได้ มีข่าวว่าประเทศอิตาลีต้องเลือกว่าจะใส่เครื่องช่วยหายใจแก่ผู้ป่วยที่ยังดูมีความหวังว่าจะรักษาหายมากกว่า เพราะว่าไม่มีเครื่องช่วยหายใจพอสำหรับผู้ป่วยทุกคน นอกจากนั้นในหลาย ๆ ประเทศยังขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกันการติดเชื้อโรคนี้จากผู้ป่วยที่ตนต้องดูแลรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุด PPE หรือแม้แต่ถุงมือ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น

          เมื่อผู้ป่วยมีจำนวนมาก บุคลากรทางการแพทย์ทุกวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการพยาบาลที่ต้องให้การพยาบาลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดที่ขาดอุปกรณ์ในการป้องกันการติดเชื้อที่เหมาะสมก็ล้มป่วยด้วยโรคนี้ ไม่น้อย และมีหลายร้อยคนที่เสียชีวิตจาก COVID-19

          และในการระบาดของ COVID-19 นี้เองที่ประชาชนไทยและประชาชนทั่วโลกได้ยกย่องในความเสียสละทุ่มเทให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นผู้ที่ต้องทุ่มเททำงานอย่างหนักในการดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วยมาตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานตามวิชาชีพของตนเอง แต่ดูเหมือนจะถูกมองข้ามจากประชาชนไป เหมือนเป็นผู้ปิดทองหลังพระ กล่าวคือ ถ้าผู้ป่วยหายไข้ ฟื้นโรค บางคนก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้ารักษาไม่หาย บุคลากรทางการแพทย์ก็จะถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องอยู่มิใช่น้อย ทั้ง ๆ ที่โดยปกติของการทำงานในวิชาชีพเหล่านั้น บุคลากรทางการแพทย์ก็ได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่อยู่แล้วตลอดมา

          แต่การปิดเมืองเป็นเวลานานก็ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนยากจน ตกงานเป็นจำนวนมาก เพราะการปิดการคมนาคมระหว่างประเทศทำให้กิจการท่องเที่ยวถูกปิดไปด้วย ซึ่งประเทศไทยยังพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ กิจการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างก็ต้องปิดตัวหยุดชะงัก  สินค้าหยุดผลิต คนตกงาน ประชาชนยากจน รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศต้องแจกเงินช่วยเหลืออุตสาหกรรม ช่วยเหลือประชาชนที่ตกงาน ขาดรายได้ คนจนอยู่แล้วก็ยิ่งยากจนยิ่งขึ้นอีก

          ความหวังอย่างเดียวในการป้องกัน COVID-19 ก็คือ การค้นคว้าและพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ซึ่งในขณะนี้มีบริษัทวิจัยและผลิตวัคซีนหลายบริษัท มีข่าวว่าหลังจากมีการทดลองวัคซีนในห้องทดลองแล้วก็ต้องทำการทดลองใช้วัคซีนเพื่อให้มั่นใจในประสิทธิผลของประชาชนที่ได้รับวัคซีนและความปลอดภัย ในขณะนี้มีวัคซีนที่กำลังทำการทดลองในเฟสแรก 34 ตัว ในเฟสสอง 14 ตัว และเฟสสามอีก 11 ตัว และมีวัคซีนที่ aapproved for limited use อยู่ 6 ตัว แต่ยังไม่มีวัคซีนตัวใดที่ approved for full use

          ฉะนั้นในขณะนี้จึงยังไม่มีวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่ได้รับการรับรองให้ใช้สำหรับป้องกันโรคนี้ การป้องกันโรคในขณะนี้ที่ได้ผลดีก็คือ มาตรการป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างบุคคล ได้แก่ การรักษาระยะห่างจากบุคคลอื่นอย่างน้อย 2 เมตร การใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าในที่สาธารณะ การรักษาความสะอาดของร่างกาย ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่พักอาศัยให้มีการถ่ายเทหรือการหมุนเวียนอากาศในบ้านเรือน ห้องเรียน การเปิดหน้าต่างให้แสงแดดส่องแบบที่เราเคยได้เรียนมาตั้งแต่เด็ก ๆ นำเอามาใช้ได้อย่างเคร่งครัดในช่วงโรคระบาด COVID-19 ซึ่งอาจจะอาละวาดไปอีกนานจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันที่ได้ผลและปลอดภัย