โรคระบาดทั่วโลก Pandemic

โรคระบาดทั่วโลก Pandemic
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

          ในรอบปีที่ผ่านมานับว่าประชาชนในโลกต่างก็หวาดผวากับโรคระบาดที่เริ่มต้นจากมณฑลอู่ฮั่น ประเทศจีน ในกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 หรือปี ค.ศ. 2019 และลุกลามแพร่ระบาดไปทั่วโลกจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคการติดเชื้อรุนแรงในระบบทางเดินหายใจ แล้วแพร่ระบาดไปทั่วโลก และองค์การอนามัยโลกได้ตกลงให้ใช้ชื่อโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสนี้ว่าโรคโควิด-19

          ในขณะที่เขียนบทความนี้ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวม 74,526,806 คน หายแล้ว 41.5 ล้านคน และผู้เสียชีวิต 1,653,506 คน คิดเป็นอัตราตาย 2.21% ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 4,281 คน หายแล้ว 3,989 คน เสียชีวิต 60 คน คิดเป็นอัตราตาย 1.4%

          แม้ว่าโรคนี้จะมีอัตราการเกิดโรคสูง กล่าวคือ มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง มีผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วแพร่กระจายไปทั่วโลกจนองค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า โรคโควิด-19 นี้เป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก (pandemic) ซึ่งทุกประเทศต้องให้ความเร่งด่วนฉุกเฉินในการระมัดระวังป้องกันสกัดกั้นโรคที่จะระบาดจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง โดยต้องมีมาตรการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศว่ามีอาการป่วยและตรวจหาเชื้อ รวมทั้งกักกันผู้ที่มีอาการน่าสงสัยหรือผู้ที่มาจากประเทศที่มีการระบาด ไว้จนกว่าจะพ้นระยะการฟักตัวของโรค จนในระยะต่อมาก็ต้องมีการประกาศปิดเมือง ปิดประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อโรคนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้อย่างง่ายดาย โดยที่ผู้ที่มีเชื้อไวรัสนี้แม้ยังไม่มีอาการป่วย แต่ก็แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น ๆ ได้โดยไม่รู้ตัว และเชื้อโรคนี้สามารถตรวจพบในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจ และยังตกค้างอยู่ในอากาศ หรือพื้นผิวต่าง ๆ ได้เป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง เชื้อไวรัสนี้จะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ทางลมหายใจ ทางปาก และเยื่อบุตา และเนื่องจากคนเรามีการเดินทางไปได้ทั่วโลกจากยานพาหนะทางอากาศที่รวดเร็ว  และคนส่วนมากก็นิยมเดินทางท่องเที่ยว นอกเหนือจากการติดต่อทางธุรกิจการงาน โดยคนก็คือพาหะสำคัญที่นำเชื้อไวรัสนี้ไปด้วยโดยไม่รู้ตัว ทำให้โรคนี้แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ในขณะที่วงการแพทย์เองยังไม่มีประสบการณ์กับโรคระบาดใหม่นี้ ทั้งการป้องกันและการรักษา จึงทำให้มีคนเจ็บป่วยและล้มตายมากมาย แม้ประเทศที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาความไม่พร้อมของระบบการบริการสาธารณสุข รวมทั้งการขาดแคลนเตียงที่ไม่พอรองรับผู้ป่วย การขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจ เตียง และวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งยังไม่แน่ใจว่าควรใช้ยาอะไรในการรักษา ต้องอาศัยการทดลองรักษาด้วยยาต่าง ๆ และการค้นคว้าทดลองในการหายามารักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ในระยะแรก ๆ ของการระบาดของโรคนี้ และที่สำคัญก็คือ ในระยะแรก ๆ ของการระบาดมีบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วยต้องติดเชื้อและเจ็บป่วยล้มตายกันเป็นจำนวนไม่น้อย เนื่องจากขาดอุปกรณ์ในการป้องกันการติดเชื้อ และยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อโรคนี้ที่สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้อย่างง่ายดายทางลมหายใจ

          ถึงแม้ว่าจะมีประชาชนติดเชื้อเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงนั้นมักจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง แต่ในกลุ่มอายุน้อยก็พบว่ามีอาการป่วย และมีอาการป่วยรุนแรงได้เช่นกัน สรุปว่าเป็นได้ทุกกลุ่มอายุ แต่ความรุนแรงและการเสียชีวิตจะพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่มีโรคหรือสุขภาพไม่ดีอยู่ก่อนแล้ว

          แม้แต่ผู้นำทางการเมืองหรือประมุขของประเทศก็มีการติดเชื้อไวรัสนี้หลายคน เริ่มจากนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าชายวิลเลียมแห่งอังกฤษ ก็เคยติดเชื้อโควิด-19 และต้องกักตัวมาแล้ว ผู้ติดเชื้อคนอื่น ๆ ที่เป็นผู้นำของประเทศ ได้แก่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีอาร์เมเนีย ประธานาธิบดีเบลารุส ประธานาธิบดีบราซิล นายกรัฐมนตรีรัสเซีย นายกรัฐมนตรีฮอนดูรัส นายกรัฐมนตรีสวาซีแลนด์ (เสียชีวิต) นายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประมุขคนสุดท้ายที่ติดเชื้อโรคนี้แล้ว โดยนายกรัฐมนตรีอังกฤษมีอาการหนักต้องเข้ารับการรักษาใน ICU แต่ก็หายป่วยในที่สุด และนายกรัฐมนตรีสวาซีแลนด์เสียชีวิตจากโรคนี้

          ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะพบว่าเป็นอาการป่วยในหลาย ๆ ระบบทั่วร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการทางระบบหายใจนำมาก่อน มีไข้สูง ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก ซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และระยะเวลาการรักษาโรคใช้เวลานาน ซึ่งระยะเวลาที่โรคเริ่มปรากฏขึ้นก็คือ จากเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 และเริ่มแพร่ขยายไปหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก จากการที่มนุษย์มีการเดินทางติดต่อกันได้ทั่วทุกมุมโลก โดยผู้ติดเชื้อแล้วก่อนจะมีอาการป่วย ก็อาจกินเวลา ตั้งแต่วันแรก ๆ ไปจนถึง 1 เดือน หรือโดยเฉลี่ยคือ 14 วัน ซึ่งเรียกว่าเป็นระยะฟักตัวของผู้ที่ได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายก่อนจะเกิดโรค

          ซึ่งการที่โรคนี้สามารถแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากว่าผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสนี้แม้ยังไม่แสดงอาการป่วย แต่ก็แพร่เชื้อโรคนี้ไปสู่คนอื่นได้ง่าย ซึ่งทำให้มีประชาชนเจ็บป่วยไปถึงในตอนนี้ก็เกิน 74 ล้านคนไปแล้ว และมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 1,655,044 คน ซึ่งยังไม่สามารถทำนายได้ว่าก่อนที่มนุษย์จะสามารถปราบโรคนี้ได้จะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ล้านคนหรือไม่

          เนื่องจากโรคนี้มี “คน” เป็นพาหะนำโรคติดตัวไปในที่ต่าง ๆ การป้องกันโรคนี้จึงต้องมีการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยการจำกัดการเดินทางและการติดต่อระหว่างผู้คน เนื่องจากทุกคนที่ยังไม่ได้รับการตรวจพบเชื้อก็ต้องถือว่าเป็นผู้ที่อาจมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้ หรือเป็นผู้มีความเสี่ยงที่จะป่วย

           การแพร่ระบาดของโควิด-19 แพร่ระบาดโดยทางลมหายใจ ทางละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ จากการพูด คุย ไอ จาม โดยเชื้อไวรัสนี้ก็ปนเปื้อนมาด้วย และอาจไปเกาะติดอยู่ในเครื่องเรือน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ พื้นผิวต่าง ๆ รวมทั้งยังล่องลอยอยู่ในอากาศได้ด้วย

          ผู้ที่หายใจเอาอากาศที่มีละอองฝอยจากสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อไวรัสก็จะได้รับไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ในช่วงแรก ๆ ไม่คิดว่าเชื้อไวรัสล่องลอยอยู่ในอากาศได้นานถึง 8 ชั่วโมง ฉะนั้นคนที่หายใจเอาอากาศที่มีเชื้อไวรัสล่องลอยอยู่ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคเข้าไปด้วย นอกจากนั้นเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนกับละอองฝอยจากการไอ จาม หรือตะโกนเสียงดังที่ไปติดกับพื้นผิวต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู ราวจับในรถโดยสารสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งถ้าคนจับหรือสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ เหล่านี้ เชื้อไวรัสก็จะเกาะติดมือ ถ้าใช้มือหยิบจับอาหารกิน หรือใช้มือแคะจมูก ปาก หรือขยี้ตา เชื้อโรคที่ติดอยู่กับมือก็เข้าสู่ร่างกายได้

          ฉะนั้นทางการแพทย์จึงได้แนะนำมาตรการในการป้องกันโรคระบาดนี้ โดยจำกัดการพบปะใกล้ชิดกันของผู้คนในสังคม ได้แก่ การปิดเมือง ปิดประเทศ (ห้ามผู้คนจากต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศ) ปิดโรงเรียน สถานที่ราชการ สถานที่ทำงาน ภัตตาคาร ร้านค้า ศูนย์การค้า การจำกัดการเดินทางไปทำธุรกิจต่าง ๆ แม้การประชุม การเรียน การทำงานหรือประชุม ก็ถูกปิดถูกเลื่อนออกไป แต่ก็ยังโชคดีที่โลกปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบการสื่อสารทางระบบอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ได้ช่วยให้คนเราสามารถติดต่อสื่อสารทางไกลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นปัจจุบัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ติดต่อพูดคุยสื่อสารกันได้ สามารถทำงานจากที่บ้าน เรียนทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ประชุมทางไกล เพื่อไม่ให้คนออกมาแพร่เชื้อไวรัสให้คนอื่น

          มาตรการปิดเมืองหรือ lock down นี้นับว่าเป็นมาตรการที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ผลดี ทำให้โรคแพร่กระจายได้น้อยลง หลาย ๆ ประเทศที่ใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวด เช่น ไทย จีน ก็สามารถควบคุมจำนวนผู้ป่วยได้ แต่ก็มีผลเสียต่อเศรษฐกิจ สังคม ทำให้คนต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน จะออกนอกบ้านได้เฉพาะเวลาที่ไปซื้อหาอาหารและของใช้ที่จำเป็น ทำให้หลาย ๆ คนประสบปัญหาความเครียด ปัญหาสุขภาพจิต เนื่องจากระบบการป้องกันโรคระบาดอย่างเข้มงวดทำให้ผู้คนขาดการติดต่อทางสังคม เกิดความเครียด ซึมเศร้า เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตในรูปแบบทางสังคมตามปกติ 

          และเมื่อการระบาดสงบลงในระดับหนึ่ง รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง เปิดโรงเรียน เปิดร้านค้า และติดต่อค้าขายได้ แต่ภายใต้การแนะนำหรือบังคับให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 2 เมตร (ซึ่งนับเป็นระยะห่างที่ปลอดภัยจากละอองฝอยของการจาม ไอ) และการเน้นให้ประชาชนรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัดคือ การล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์ 70% รักษาความสะอาดของร่างกาย เครื่องนุ่งห่ม บ้านเรือนที่อยู่อาศัย และอาคารสถานที่ทั่วไป รวมทั้งรถโดยสารสาธารณะ และห้ามการชุมนุมของคนหมู่มากที่ไม่มีมาตรการรักษาระยะห่าง และใส่หน้ากากอนามัย

          ซึ่งมาตรการในการควบคุมโรคโควิด-19 ต่าง ๆ ดังกล่าวทำให้การติดต่อธุรกิจ การเดินทางท่องเที่ยว กิจการค้าขาย การท่องเที่ยว  อุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร พืชผักผลไม้และผลิตภัณฑ์การเกษตรไม่สามารถส่งไปถึงผู้บริโภค ผู้คนตกงาน เมื่อไม่มีการเดินทาง กิจการที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยว โรงแรม กิจการเดินทางและขนส่งก็หยุดชะงัก คนตกงาน กิจการล้มละลาย ซึ่งเป็นผลกระทบจากทุกประเทศทั่วโลก ประเทศที่ไม่มีการปิดเมืองก็จะมีการแพร่ระบาดมาก และยังประสบปัญหาความยากลำบากในด้านเศรษฐกิจและสังคมเช่นเดียวกัน

           เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้ออุบัติใหม่ ทางวงการแพทย์ก็ยังต้องแสวงหาวิธีการรักษาและการป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจาย ซึ่งค่อย ๆ พัฒนาการป้องกันโรคว่าการป้องกันโรคที่ได้ผลดีคือ การใส่หน้ากากอนามัยในที่ชุมชนในคนหมู่มาก พร้อมทั้งมีการแนะนำการรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างน้อยคนละ 2 เมตรดังกล่าวแล้วข้างต้น และให้ตรวจวัดอุณหภูมิทุกคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ รวมทั้งการตรวจหาเชื้อทุกคนที่เดินทางเข้าประเทศ รวมทั้งให้กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศไว้อย่างน้อย 14 วัน (ซึ่งเป็นระยะเวลาเฉลี่ยของระยะฟักตัว คือระยะเวลาที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายและมีอาการป่วย) หรือจนกว่าจะตรวจไม่พบว่ามีเชื้อโควิด-19 อยู่ในร่างกาย ส่วนผู้ติดเชื้อที่มีอาการป่วยก็จะถูกส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่อไป

          แต่เมื่อโรคนี้แพร่ระบาดมาถึงประเทศเมียนมาร์ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยมากถึง 110,667 คน มีผู้ติดเชื้อใหม่ เพิ่มขึ้นในวันนี้ถึง 1,115 คน และมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2,319 คน ซึ่งเมียนมาร์เป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีชายแดนติดกันถึง 2,400 กิโลเมตร รวม 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี  ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง โดยพลเมืองของทั้งสองประเทศก็เดินทางข้ามชายแดนได้ตามช่องทางธรรมชาติ โดยไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของทางราชการ และไม่ผ่านมาตรการตรวจหาเชื้อและการกักกันตัวให้พ้นระยะฟักตัว 14 วัน ข้ามชายแดนเมียนมาร์เข้าไทย และเมื่อมาถึงไทยแล้วก็เดินทางไปตามใจชอบจนเกิดการพบผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอีกในประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงได้เพิ่มการเฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองโดยไม่ผ่านด่านชายแดน และเตือนให้ประชาชนทำตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ทุกอย่าง ได้แก่ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง และไม่ร่วมชุมนุมกับคนหมู่มากโดยไม่จำเป็น

         อาการของผู้ได้รับเชื้อโควิด-19 ในส่วนอาการของผู้ติดเชื้อนั้น ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี อาจจะไม่แสดงอาการป่วยเลย และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ และมีร่างกายแข็งแรงปกติดังเดิม ซึ่งคนในวัยเด็กและหนุ่มสาวนับว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงน้อยที่จะมีอาการป่วยจากโรคนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีคนในช่วงวัยนี้ที่เกิดอาการป่วย เพราะมีการรายงายผู้ป่วยในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาวด้วย

          ฉะนั้นจึงมีคำแนะนำแก่ประชาชนทั่วไปว่าทุกคนควรให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการป่วย ซึ่งหลักในการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงและมีภูมิต้านทานดีก็คือ การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ไม่ขาดสารอาหาร เกลือแร่ และวิตามินทุก ๆ วัน การออกกำลังกายทั้งในร่มและกลางแจ้ง ให้ได้รับแสงแดดเพื่อจะได้ไม่ขาดวิตามินดี และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และการพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัว ญาติมิตร เพื่อให้อารมณ์สงบและเบิกบาน

          เกี่ยวกับอาการของผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ จะเริ่มจากอาการไอ เจ็บคอ เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย บางคนจะรู้สึกว่าจมูกไม่ได้กลิ่น เบื่ออาหารและหายใจลำบาก ซึ่งถ้ามีอาการเล็กน้อยก็รักษาตัวตามอาการ เช่น รับประทานยาลดไข้ ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย นอนพักผ่อนมาก ๆ และกักตัวเองอยู่ที่บ้าน ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยนี้ยังอาจต้องใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ กว่าอาการจะหายไป

          สำหรับผู้ที่มีอาการหนักกว่านั้น ซึ่งมักจะเกิดขึ้นประมาณ 7-10 วันหลังจากการได้รับเชื้อจะมีไข้ 88.7%  ไอ 67.8% จะเริ่มมีอาการหายใจลำบากเนื่องจากปอดอักเสบ แต่อาการหายใจลำบากจะรุนแรงกว่าพยาธิสภาพของปอด เนื่องจาก cytokine storm จากปฏิกิริยาของร่างกายเพื่อต่อต้านการติดเชื้อ และทำให้มีอวัยวะต่าง ๆของร่างกายได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งถ้ามีอาการมากก็อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องเข้ารับการรักษาในหน่วย ICU และอาจต้องใช้เวลาในการรักษานานหลายสัปดาห์กว่าจะหายเป็นปกติ ซึ่งทำให้หลาย ๆ ประเทศที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ไม่มีเตียง ICU และไม่มีบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอ โดยเฉพาะพยาบาล แพทย์ ขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งอุปกรณ์ในการป้องกันการติดเชื้อ แม้กระทั่งหน้ากากอนามัย และ PPE ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดชุด PPE ของไทยต้องผลิตหน้ากากอนามัย หรือใช้เสื้อกันฝนหรือถุงขยะมาดัดแปลง สวมแทนชุด PPE 

          นอกจากการขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว วงการแพทย์ยังต้องทดสอบและทดลองหายาที่สามารถนำมาใช้รักษาให้มีประสิทธิผล มีการทดลองนำยารักษามาลาเรีย เช่น คลอโรควิน ยารักษาโรคเอดส์ มาใช้รักษาโรคนี้ กว่าจะได้ข้อยุติว่าควรใช้ยาอะไรที่จะได้ผลดีในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

          ปัจจุบันยาที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ได้แก่ ยาโลพินาเวียร์ (LPV/r) และยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)ปัจจุบันจะรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ก่อนมีอาการหนัก ซึ่งจะได้ผลดีกว่าและช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลียเรื้อรังหลังจากการฟื้นไข้ และลดเวลานอนใน ICU ด้วย นอกจากนี้แล้วการนำสารสกัดจากพลาสมาของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 มารักษาผู้ป่วย โดยในพลาสมาของผู้ป่วยที่หายดีแล้วจะมีภูมิต้านทาน (antibody) ต่อโรคโควิด-19 และทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการป่วยได้ ซึ่งมีการทดลองใช้ในจีน สหรัฐอเมริกา และไทยด้วย

          ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคเส้นเลือดหัวใจ (coronary artery disease and atherosclerotic cardiovascular disease) พบว่าอาจมีโรคแทรกซ้อนคือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และหัวใจล้มเหลว (heart failure) และยังพบว่ามี arterial and venous thromboembolic events จาก potential interaction ระหว่าง artherosclerosis, myopathy และ hyperinflammation syndrome จาก SARS-CoV-2 infection

           ผู้ป่วยอาการหนักที่ได้รับการรักษาจนหายกลับบ้านได้แล้ว ผู้ป่วยบางคนก็อาจจะมีอาการเครียดหลังจากผ่านการป่วยร้ายแรง (post-traumatic stress disorder) หรือผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวใน ICU เป็นระยะเวลานานก็อาจจะมีอาการกล้ามเนื้อลีบ ผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการสร้างกล้ามเนื้อ และบางคนอาจต้องรับการรักษาทางกายภาพบำบัด และบางคนยังรู้สึกเหนื่อย เพลีย หรืออ่อนล้าไปอีกนาน ซึ่งผลระยะยาวหลังจากป่วยด้วยโรคโควิด-19 ก็คงต้องติดตามกันต่อไป

          เนื่องจากโรคโควิด-19 ส่งผลต่อประชาชนทั่วโลกอย่างรุนแรง รวดเร็ว กว้างขวาง มาตรการในการป้องกันการแพร่กระจายดังกล่าวมาแล้วคือ การลดการติดต่อใกล้ชิดระหว่างคนในสังคม มาตรการปิดเมืองและต้องการให้ทุกคนอยู่บ้าน ทำให้ชีวิตปกติของผู้คนเปลี่ยนไป ไม่มีการเดินทางท่องเที่ยว ไม่มีการบริการร้านอาหารและเครื่องดื่ม กิจการผลิตสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรมหยุดหรือชะลอการผลิต การแข่งขันกีฬา การแสดงคอนเสิร์ต และการเรียนการสอน หรือกิจกรรมที่ร่วมกันทำระหว่างคนหมู่มากต้องหยุดชะงัก ทำให้คนส่วนมากในทุกภาคส่วนตกงาน และเกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเหมือนที่เคยเกิดในภาวะสงครามโลก แต่เป็นสงครามระหว่างประชาคมทั้งโลกกับไวรัส ซึ่งหนทางเดียวที่จะป้องกันและกำจัดเชื้อโรคนี้ให้หมดไปก็คือ การผลิตวัคซีนป้องกันโรคนี้ เพื่อฉีดให้แก่คนทั่วโลกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิจัยและผลิตวัคซีนกันอย่างเร่งรีบ และทำการทดลองตามขั้นตอน 3 phase จนสามารถแน่ใจว่าวัคซีนมีประสิทธิผลและความปลอดภัยในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ คือให้ผลในการป้องกันโรคได้ไม่ต่ำกว่า 90% ทั้งนี้มีหลายบริษัทในหลาย ๆประเทศสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้สำเร็จ ผ่านกระบวนการทดลองและตรวจสอบครบ 3 เฟส และได้ผ่านการรับรองของรัฐบาลในหลายประเทศอย่างรวดเร็วเร่งด่วนหรือฉุกเฉิน (emergency) และเริ่มกระบวนการฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการจะได้รับเชื้อโควิด-19 และผู้สูงอายุใน nursing home ก่อนที่จะมีวัคซีนเพียงพอที่จะฉีดให้แก่บุคคลส่วนมากทั่วไป

          คาดว่าจะมีการผลิตวัคซีนให้เพียงพอที่จะฉีดให้แก่คนทั่วโลกได้ภายในปีหน้า ฉะนั้นในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประชาชนไทยก็ยังคงต้องอาศัยวิธีการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อที่ได้ผลดีมาแล้ว คือการใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ การรักษาระยะห่างทางสังคม การล้างมือให้สะอาดก่อนที่จะใช้มือจับหน้า จมูก ปาก อาหาร การรักษาความสะอาดของบ้านเรือน/ที่อยู่อาศัย/สถานที่ทำงาน/อาคารสาธารณะ ให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก การรักษาความสะอาดของเครื่องนุ่งห่ม อาหาร การออกกำลังกายกลางแจ้ง การได้รับแสงแดดอ่อน ๆ ตอนเช้าหรือเย็น การรับประทานอาหารที่สะอาดครบ 5 หมู่ ไม่ขาดวิตามิน เกลือแร่ การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ การเล่นกีฬา และการพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงทั้งกายและใจ เพื่อให้ไม่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 อีกต่อไป จนกว่าจะมีวัคซีนที่ปลอดภัยในการป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับประชาชนส่วนมากหรือทุกคน

          ซึ่งคาดว่าประเทศไทยอาจจะมีวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไปภายในปี พ.ศ. 2564 แต่หลังจากมีวัคซีนแล้ว ก็ยังจะต้องมีการตรวจสอบว่าวัคซีนจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคได้เป็นระยะเวลานานมากน้อยแค่ไหน จะต้องฉีดซ้ำทุกปีเหมือนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่หรือไม่ 

          ฉะนั้นในขณะที่ระยะเวลาในการป้องกันโรคจากวัคซีนโควิด-19 ยังไม่ชัดเจน ประชาชนจึงควรรักษามาตรการในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้ผลมาแล้ว คือการรักษาระยะห่างทางสังคม การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือให้สะอาด การรักษาความสะอาดของอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม ยังเป็นพฤติกรรมที่ประชาชนทุกคนยังต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรค และป้องกันไม่ให้ตนเองแพร่กระจายเชื้อโรค (ในกรณีติดเชื้อแต่ไม่รู้ตัวหรือไม่มีอาการป่วย) ไปให้บุคคลอื่น ก็จะช่วยควบคุมการระบาดได้

เอกสารอ้างอิง

  1. https://www.google.com/search?kgmid=/g/11j2cc_qll&hl=en-TH&q=%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%AA&kgs=8feda65d346bc4ff&shndl=0&source=sh/x/kp/osrp&entrypoint=sh/x/kp/osrp
  2. https://www.ahajournals.org/doi/full/10.1161/JAHA.120.017756
  3. https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue037/rama-rdu