ความประทับใจในการซ้อมภัยพิบัติ

ความประทับใจในการซ้อมภัยพิบัติ

ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง  ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน   คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

            ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้จัดให้มีการฝึกซ้อมทีมเคลื่อนที่เร็วในการตอบโต้ภัยพิบัติ (Disaster Medical Emergency Response Team, DMERT) โดยขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ให้ส่งทีมมาร่วมฝึกซ้อม ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กองทัพเรือ กองทัพอากาศ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวนมากมาย รวมแล้วได้ทั้งหมด 20 โรงพยาบาล

            การฝึกซ้อมแบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้

            ส่วนที่ 1 ฟังบรรยายและซ้อมแผนที่ท่าอากาศยานดอนเมือง

ส่วนที่ 2 ซ้อมในค่ายทหารที่เขาอีโต้ จังหวัดปราจีนบุรี

ส่วนที่ 3 ซ้อมร่วมกับองค์กรอื่น ๆ เช่น กองทัพบก ซ้อมกับทีมนานาชาติ

จากการซ้อมร่วมกันก็สามารถสร้างความเป็นทีมและผูกพันกันจนเกิดความประทับใจขึ้นมากมายระหว่างทีมฝึกซ้อมและทีมวิทยากร

การซ้อมในป่าเขาอีโต้มีการฝึกหลายภารกิจ ได้แก่ การตั้งเต็นท์ การสื่อสารหลายทาง การประสานงานเป็นทีมกับชุมชนท้องถิ่น ซ้อมภัยสารเคมี ซ้อมการค้นหาผู้บาดเจ็บในป่า ซ้อมโหนเชือกจากตึก ซ้อมขนย้ายทางน้ำ ซ้อมขนย้ายทางอากาศ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้คุ้มค่าตลอดจนการฝึกแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

การซ้อมในป่าเขาอีโต้นั้น แต่ละทีมต้องทำการกางเต็นท์ในป่าและต้องพึ่งตนเองอยู่ได้นาน 72 ชั่วโมง ซึ่งหลายทีมก็หาทางอยู่รอดโดยหาของป่ากิน ได้แก่ ดักจับแมงนูนที่มาเล่นไฟเอามาทอดกิน หรือไปเก็บเห็ดป่าโดยเลือกชนิดที่สีไม่สดแล้วเอามาต้มกิน เหล่านี้เป็นต้น

ยามกลางคืนก็มีสมาชิกของบางทีมกางเปลนอนดูดาวด้วยกัน

บางทีมพกมีดติดตัวกันทุกคน ได้แก่ กองทัพเรือ เพื่อเอาไว้ถางทางเดินในป่า แต่ตอนเดินป่าจริง ๆ ก็กลับไม่ได้ใช้อาจเพราะลืมไปว่าพกมาด้วย

แต่กลับเอามีดมาโชว์ให้ทีมวิทยากรดู…ไม่รู้ว่าเอามาขู่กันหรือเปล่า?

ส่วนบางทีมได้ให้แต่ละคนในทีมแบกสัมภาระช่วยชีวิตไปพร้อมกับอาหารและน้ำดื่มในการเข้าป่าเพื่อค้นหาผู้บาดเจ็บ ทั้งนี้เพื่อว่าถ้าเกิดหลงป่าขึ้นมาแล้ว สมาชิกแต่ละคนก็สามารถดำรงชีพประทังรอการตามไปช่วยเหลือได้นาน 1 วัน

ในการฝึกซ้อมมีการสร้างสถานการณ์อพยพผู้ป่วยทางน้ำ ระหว่างรอทีม DMERT มาช่วยเหลืออยู่นั้น ทีมวิทยากรจึงอนุญาตให้ผู้ป่วยจำลองซึ่งเป็นทหารเกณฑ์ลงว่ายน้ำรออย่างสนุกสนานเพื่อคลายเครียด

 พอทีมแพทย์มาถึง วิทยากรก็รีบแจ้งให้ผู้บาดเจ็บจำลองที่ตัวเปียกน้ำทั้งหลายรีบไปนอนตามสุมทุมพุ่มไม้หรือ

โขดหินต่าง ๆ เพื่อให้ทีม DMERT ทำการฝึกซ้อมค้นหาเพื่อช่วยเหลือ

มีการสร้างสถานการณ์ให้ทหารเกณฑ์ปลอมตัวเป็นชาวบ้านมาให้ยืมเรืออพยพแต่ต้องจ่ายค่าเช่าเรือ ซึ่งทีม DMERT ก็สามารถต่อรองให้ยืมเรือได้ด้วยดี ทั้งนี้เป็นการฝึกสอนให้ทีม DMERT ทราบว่าไม่ควรให้เงินค่าจ้างเรือแก่ชาวบ้านและไม่ควรต่อล้อต่อเถียงกับชาวบ้าน เพราะพวกเขาอาจก่อกวนการทำงานได้ แต่ทีม DMERT ควรพูดเจรจาต่อรองให้จากกันด้วยดีเพื่อช่วยให้การอพยพผู้ป่วยทางน้ำเป็นผลสำเร็จด้วยดี

ในการซ้อมสถานการณ์ภัยสารเคมีก็มีการเผาไม้ให้เกิดควันไฟ และปาลูกปิงปองเป็นระยะ ๆ ให้เกิดเสียงเหมือนระเบิดจนชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบ ๆ นั้นพากันตกใจไปหมด มีชาวบ้านรายหนึ่งถึงกับขับรถมอเตอร์ไซค์ล้มจนแขนถลอกก็เพราะตกใจไปกับเสียงระเบิดลูกปิงปองนั้นเอง

ที่น่าขำคือ ระหว่างที่ทีม DMERT กำลังมะรุมมะตุ้มทำการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจำลองกันอยู่นั้น ก็เกิดมีรถเข็นปลาหมึกย่างฝ่ากลางวงเข้ามา จนต้องรีบไปเชิญออกแทบไม่ทัน

ทั้งนี้รถเข็นปลาหมึกคงรู้สึกว่า...ที่ไหนมีคนอยู่กันเยอะก็ย่อมต้องกินแน่เลย!!!

การฝึกซ้อมทีมเคลื่อนที่เร็วในการตอบโต้ภัยพิบัติ (Disaster Medical Emergency Response Team, DMERT) มักเน้นการประสานงาน วิธีใช้ระบบสื่อสาร รู้จักบริหารจัดการทรัพยากรที่จำกัด และฝึกแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นสำคัญ

การประสานงาน

ควรประสานงานกับชุมชนท้องถิ่นในการเข้าไปร่วมงานกับทีมท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นกรมป้องกันภัย อาสาสมัครกู้ชีพ หรือทีมช่วยเหลือของโรงพยาบาลท้องถิ่นก็ควรประสานงานกันด้วยดี หลายครั้งควรถามว่า

“สถานการณ์เป็นอย่างไร” อันแสดงว่าเราจะเข้ามาช่วยควบคุมสถานการณ์ร่วมกับทีมเขา แต่ถ้าเราถามว่า “มีอะไรให้ช่วยเหลือบ้าง” ก็มักกลายเป็นว่ามาเป็นลูกมือของเขาจนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใด ๆ ทั้งนี้คำถามที่ดีย่อมสื่อให้เห็นว่าเรามีประสิทธิภาพมากแค่ไหนที่จะมาช่วยเหลือพวกเขา

แม้เพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ก็มีส่วนทำให้การบริหารจัดการภัยพิบัติสำเร็จลงได้ด้วยดี

ระบบสื่อสาร 

ควรตั้งเสาสัญญานสื่อสารก่อนการตั้งเต็นท์ เพื่อให้เริ่มสื่อสารกันได้รวดเร็ว มีการเปิดคลื่นความถี่ 3

ช่องทาง ได้แก่ ช่องติดต่อกับศูนย์สั่งการใหญ่ ช่องสื่อสารกันเองในทีม DMERT และช่องสื่อสารระหว่างทีม DMERT

การบริหารจัดการทรัพยากรที่จำกัด

การดูแลผู้ป่วยที่จุดเกิดเหตุควรมีชุดประจำตำแหน่งของทีม เช่น ทีมคัดกรอง (triage officer), ผู้บัญชาการ (field commander), ทีมขนย้าย (loading officer) เป็นต้น รวมทั้งเน้นรีบเอาผู้ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุโดยทีมทัพเรือมีการใช้สเกตลากออกมา หรือให้ทีมไปตั้งอุปกรณ์ในจุดกลางป่า จากนั้นให้ทีมกระจายตัวค้นหาผู้บาดเจ็บโดยทำสัญลักษณ์ทางเดินเอาไว้ เมื่อกลับมาแจ้งที่จุดกลางแล้วค่อยกระจายกำลังอาสาสมัครกู้ชีพออกไปนำผู้บาดเจ็บออกมา

การดูแลผู้บาดเจ็บที่จุดเกิดเหตุควรทำการรักษาเบื้องต้นเท่านั้น เช่น ขาหักก็ใช้เชือกมัดขาสองข้างติดกันเพื่อเป็นการดามขา ใช้ผ้ากดปิดแผลที่เลือดไหลแล้วรีบนำออกมาเลย มีวัตถุทิ่มแทงอวัยวะก็ใช้ผ้ากดเอาไว้แต่ไม่ดึงวัตถุนั้นออก ทั้งนี้เพื่อรีบนำผู้ป่วยออกไปจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด

 

ส่วนการดูแลที่หน่วยรักษาพยาบาล (mobile unit) ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ห่างจากจุดเกิดเหตุค่อนข้างมาก แล้วควรทำการรักษาที่ดีพอจะประทังส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลปลายทางได้อย่างปลอดภัย เช่น มีลมรั่วในปอดแต่ความดันเลือดปกติก็ไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าความดันเลือดตกก็ให้ใช้เข็มเจาะเอาลมออก หรืออาจใส่สาย ICD แล้วนำถุงมือมาปิดปลาย ICD พร้อมเจาะรูที่นิ้วถุงมือเพื่อระบายลมหรือน้ำออก ทีมควรพยายามประหยัดน้ำเกลือ ท่อช่วยหายใจ และออกซิเจนให้มาก โดยตัดสินใจใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เป็นต้น

            ระหว่างส่งต่อควรประเมินให้ผู้บาดเจ็บเดินทางไปถึงปลายทางได้อย่างปลอดภัย เช่น ถ้าผู้ป่วยต้องการออกซิเจนมากหรือมีโอกาสหยุดหายใจกลางทางก็ให้ใส่ท่อช่วยหายใจไปเลย เพราะการทำหัตถการระหว่างทางจะไม่สะดวกเลย

ทีมควรคิดว่าอาจมีโรคเจ็บป่วยเล็กน้อยอะไรที่อาจเกิดขึ้นได้บ้าง เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย และเตรียมยาสามัญประจำบ้านไปเพื่อเป็นที่พึ่งแก่ผู้ป่วยที่ไม่สะดวกในการเดินทางออกมารับยาที่โรงพยาบาลด้านนอก หรือควรมีคำแนะนำว่าเมื่อไรควรรีบไปโรงพยาบาล เป็นต้น

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น

ตกดึกมีการให้คนเมาไปอาละวาดที่เต็นท์ พบว่าบางทีมก็มัดคนเมาพร้อมกับนำส่งสถานีตำรวจปลายทางกันคนละเที่ยวรถ เป็นต้น

ตอนทีม DMERT เข้าไปช่วยเหลือต้องประเมินเขตปลอดภัยจากสารเคมีระเบิดเอง โดยเขตปลอดภัยควรเป็น 100 เมตรจากจุดเกิดเหตุโดยประมาณ ในการฝึกได้ให้กรมป้องกันภัยกั้นเขตปลอดภัยใกล้จุดเกิดเหตุมากเกินไป และตั้งเต็นท์ล้างตัวไว้ทางด้านใต้ลม พบว่าบางทีมไม่เฉลียวใจและเข้าไปอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุมากจนเกิดปนเปื้อนไปตาม ๆ กัน แต่บางทีมเฉลียวใจจึงไปตั้งเต็นท์อีกด้านหนึ่ง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเต็นท์ล้างตัวของกรมป้องกันภัย

ทีมได้ตัดสินใจโทรศัพท์ติดต่อกับศูนย์สั่งการใหญ่ของตนเองเพื่อขอให้ส่งผู้บาดเจ็บมาอีกด้านหนึ่ง ซึ่งกรมป้องกันภัยไม่ยอมย้ายเต็นท์ จากนั้นหัวหน้าของแต่ละศูนย์จึงตกลงกันให้ทีม DMERT ย้ายไปตั้งทีมช่วยเหลือทางฝั่งเดียวกับเต็นท์ล้างตัวแต่อยู่ไกล 100 เมตร ก็นับว่าปลอดภัย เป็นต้น

เมื่อต้องย้ายทีม DMERT ออกจากจุดเกิดเหตุโดยด่วน ทีมควรตะโกนให้ผู้บาดเจ็บที่พอช่วยตนเองได้เดินตามออกมาด้วย รวมทั้งมีการตกลงกันในทีมก่อนเข้าที่เกิดเหตุว่าเมื่อสั่งให้หนีต้องหนีตามเวลาโดยไม่มีการรอกัน ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้เป็นที่เข้าใจกันในทีมโดยไม่เข้าใจผิดว่าทิ้งกันไป

ท้ายสุดของการฝึกมีคนบอกว่า

“งานนี้ ฉลอง ภักดีวิจิตร มาเองเลยนะเนี่ย เพราะมีทั้งระเบิดกลางป่า อพยพทางน้ำ หนีขึ้นเครื่องบิน โหนเชือกจากตึกสูง และหนีภัยสารเคมี”

ภายหลังการฝึกทุกคนเหน็ดเหนื่อยกันมาก แต่ทุกคนก็ยังคงมีรอยยิ้มบนใบหน้าแม้จะผ่านการฝึกที่โหดกันขนาดนี้ได้ พร้อมกับฝากทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า

“พวกผมจำหน้าของวิทยากรซึ่งเป็นทีมงานของ ฉลอง ภักดีวิจิตร ได้ทุกคน...ไม่รู้ลืมครับ”