Jubilee Course, St. Andrews

Jubilee Course, St. Andrews

 

            วันที่ 2 (อังคารที่ 25 มิถุนายน 2556) เราก็ไปตีกอล์ฟกันอีกครั้งที่สนาม Jubilee คราวนี้ยิ่งแย่ใหญ่ จองรถกอล์ฟได้เพียง 2 คันเท่านั้น เพราะทั้งสนามมีเพียง 3 คัน!!! ส่วนใหญ่ทางสนามเขาจะให้เดิน ท่านประธานวรวุฒิจึงใช้สิทธิประธานยึดรถทั้ง 2 คันไว้สำหรับก๊วนเรา (4 คนเดิม) วันนี้เราตีครบ 18 หลุม และทุก ๆ คนตีดีขึ้น ได้พาร์กันหลายหลุม มันยากตรงที่ตาเราไม่ค่อยดี มองไม่เห็นว่าลูกตกตรงไหน วิ่งไปที่ไหน

            สนาม Old Course และ Bobby Jones มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง เนื่องจาก Jones ได้เล่นที่นี่เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1921 และตีตกทรายในหลุมที่ 11 ซึ่งที่นี่หลุมทรายสูงมากเหมือนปล่องไฟหรือเป็นทรงกระบอก หลังจากที่ตี 4 ครั้งแต่ไม่ขึ้น Jones เลิกเล่นและเดินออกจากสนามไปเลย! อีก 6 ปี Jones กลับมาเล่นที่นี่และได้รับชัยชนะ  Jones เป็นคนแรกที่เล่นกอล์ฟสมัครเล่นที่ชนะ Open Championship ติดต่อกัน คือชนะอีกในปี ค.ศ. 1930 Jones ยังได้ชัยชนะอีกทั้ง 3 majors ทำให้เป็นคนเดียวและคนแรกที่ชนะ Grand Slam (ทั้ง 4 majors ในปีเดียว) Jones ตกหลุมรักกับสนาม Old Course มาก Jones เคยกล่าวว่า “If I had to select one course upon which to play the match of my life, I should have selected the Old Course” หรือ “ถ้าจะให้ผมเลือกว่าจะให้เล่นให้ดีที่สุดในชีวิตผมที่สนามไหน ผมจะต้องเลือก The Old Course” ในปี ค.ศ. 1958 เมือง St. Andrews ได้ให้กุญแจเมืองแก่ Bobby Jones ซึ่งเป็นคนอเมริกันคนที่ 2 เท่านั้นที่ได้รับเกียรตินี้ต่อจาก Benjamin Franklin ซึ่งได้ในปี ค.ศ. 1759 Jones พูดว่า “I could take out of my life everything but my experience here in St. Andrews and I would still had a rich and full life” หรือ “ถ้าเอาทุก ๆ อย่างออกจากชีวิตผมหมด ยกเว้นประสบการณ์การเล่นที่ St. Andrews ผมก็ยังจะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จอย่างเต็มที่”

            The Old Course มีลักษณะพิเศษคือ มี 7 กรีนที่มีหลุมร่วมกัน คือ หลุม 2 กับ 16, 3 กับ 15, 4 กับ 14, 5 กับ 13, 6 กับ 12, 7 กับ 11, 8 กับ 10  สะพาน Swilcan อยู่ระหว่างหลุม 1 และ 18 เป็นสะพานที่มีอายุ 700 ปี และมีชื่อเสียงโด่งดังมาก พวกเราก็ได้ไปถ่ายรูปกันด้วยบนสะพานนี้ มีเพียงหลุม 1, 9, 17, 18 เท่านั้นที่มีกรีนของตนเอง ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ สนามนี้จะเล่นไปทางไหนก็ได้ ตามเข็มนาฬิกาหรือทวนเข็มนาฬิกา และสนามนี้มี bunkers ถึง 112 หลุม ซึ่งแต่ละหลุมจะมีชื่อของตนเอง เช่น ในหลุมที่ 14 มีหลุมทรายที่มีความลึกถึง 10 ฟุต มีชื่อว่า “Hell Bunker” และในหลุมที่ 7 จะมี “Road Hole Bunker”

            สนาม Old Course จะปิดวันอาทิตย์ ยกเว้นกรณีพิเศษ เช่น Open Championship, Dunhill Links Championship, St. Andrews Links Trophy and St. Rule Trophy บางอาทิตย์ประชาชนสามารถใช้สนามเป็นสวนสาธารณะสำหรับเดินเล่นหรือมี picnic ได้!!!

            แต่นอกเหนือจากการที่มีชื่อเสียงมากทางด้านกอล์ฟแล้ว St. Andrews ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ยังมีมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของ Scotland และเก่าแก่ที่สุดเป็นที่สามของโลก (ที่พูดภาษาอังกฤษ) ซึ่งได้รับการก่อตั้งขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1410-1413 เป็นมหาวิทยาลัยที่ Prince William (หรือ Duke of Cambridge ในปัจจุบัน) ไปศึกษาและพบรักกับ Catherine ซึ่งต่อมาเป็น Duchess of Cambridge

            เมือง St. Andrews อยู่บนชายฝั่งทางทิศตะวันออกของ Fife, Scotland มีประชากรเพียง 16,680 คน และในช่วงเทอมของการศึกษา นิสิตของมหาวิทยาลัยจะมีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด นอกจากนั้นยังเคยมี St. Andrews Cathedral ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1160 และเคยเป็น cathedral ที่ใหญ่ที่สุดใน Scotland แต่ขณะนี้มีแต่ซากปรักหักพังเท่านั้น

            เป็นที่น่าเสียดายที่เราอยู่ที่นี่เพียง 2 คืน และมีเวลาตีกอล์ฟได้เพียง 2 สนามจากทั้งหมด 7 สนาม มองในแง่ดี เราจะได้หาเวลากลับมาเล่นอีก 5 สนามที่เหลือ นอกจากตีกอล์ฟ 2 ครั้งแล้ว เรายังได้ไปรับประทานอาหารพื้นเมืองที่อร่อย ๆ ถึง 2 ครั้งใน pub (public house หรือร้านขายแอลกอฮอล์) และได้ดื่มเบียร์พื้นเมืองอย่างช่ำปอด นอกจากนั้นเราก็ได้ไปซื้อของที่ระลึกจากร้านของ The Old Course ซึ่งมีราคาแพงมาก เสื้อ polo shirt มีตรา St. Andrews มีราคา 60-80 ปอนด์ หมวกใบละ 20 ปอนด์ แต่ทุก ๆ คน รวมทั้งผมด้วยก็ซื้อกันอย่างเมามัน ปกติผมจะไม่ซื้อของเลยยกเว้นที่สหรัฐอเมริกา แต่มาคราวนี้ซื้อที่ St. Andrews, Old Trafford (Home of Man U) ที่ Gretna Green ที่ Mark and Spencer ใกล้ ๆ ที่พักใน London และที่ Harrods! ปกติเข้า Harrods จะไม่ซื้ออะไรเลย แต่คราวนี้เข้าเมืองตาหลิ่วก็หลิ่วตาตาม! (เพื่อน ๆ ซื้อกันหมดทุก ๆ คน)

            ผมคิดว่าผมจะหาเวลาว่าง ๆ ขับรถพาหลานชาย 2 คนที่ศึกษาที่อังกฤษไปทั่ว Scotland ค่ำไหนนอนนั่น (Bed and Breakfast, B&B) ตีกอล์ฟในที่ต่าง ๆ เช่น St. Andrews และสนามอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียง 10 อันดับแรกของ Scotland คือ 2) Muirfield  3) Royal Dornoch  4) Turnberry  5) Carnoustie  6) Kingsbarns  7) Royal Troon  8) Loch Lemond  9) North Berwick  10) Royal Aberdeen

            ซึ่งก็คงเป็นหนึ่งในความฝันอันสูงสุดของนักกอล์ฟ