การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรค 

            การวินิจฉัย (diagnose) โรค (disease) ขึ้นอยู่กับการซักประวัติ (จากผู้ป่วยและญาติ) การตรวจร่างกายที่ดี อย่างเป็นระบบเป็นหลัก ซึ่ง 2 อย่างนี้จะสามารถวินิจฉัยโรคได้ถึง 50-80% จากนี้เราจึงตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมถ้าจำเป็น เพื่อยืนยันการวินิจฉัยหรือการสันนิษฐานของเรา อาจตรวจตั้งแต่ปัสสาวะ อุจจาระ เลือด เอกซเรย์ต่าง ๆ  จนถึงการตรวจด้วยการส่องกล้อง ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ฯลฯ โดยมีหลักการว่าต้องตรวจเท่าที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเท่านั้น โดยเริ่มจากการตรวจที่ง่ายที่สุดไปหาที่ยากที่สุด จากที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนไปหาวิธีการที่อาจมีภาวะแทรกซ้อน (จากที่ไม่เจ็บตัวไปที่เจ็บตัว) และจากที่มีราคาถูกที่สุดไปหาวิธีการแพงที่สุด ต้องมีความรู้ ความชำนาญที่จะตรวจเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อย่าตรวจไปหมดเหมือนยิงปืนกลกราดไปทั่ว ต้องยิงทีละนัดอย่างหวังผล และเมื่อเห็นลูกกะตาข้าศึก!

            การซักประวัติมีความสำคัญมาก อาจมากที่สุดด้วยซ้ำสำหรับโรคส่วนใหญ่ จะสามารถบอกเราทันทีได้ว่าเป็นโรคอะไร หรือระบบโรคอะไร เช่น อาจบอกได้ว่าน่าจะเป็นโรคหัวใจ ปอด ไต เส้นประสาท ระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ บางโรคเราแทบจะพึ่งการซักประวัติอย่างเดียวโดยไม่ต้องพึ่งการตรวจร่างกายหรือการตรวจเพิ่มเติมอย่างอื่นเลย เช่น ในโรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease, GERD) และโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome, IBS) แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำจากการซักประวัติเท่านั้น (ถ้ามีประวัติชัดเจน) โดยไม่ต้องพึ่งการตรวจร่างกายหรือการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เลย (แต่ก็ต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียดเผื่อมีโรคอื่นร่วมอยู่ด้วย) และสามารถให้การรักษาได้ทันทีเลย แต่ถ้าประวัติไม่ชัดเจนหรือถ้าสงสัยเป็นโรคอื่นก็ต้องตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม

            การซักประวัติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นศิลปะ หรือเป็น art แพทย์จะต้องอ่านมาก มีประสบการณ์มาก จะได้รู้ว่าโรคต่าง ๆ มีอาการอย่างไร มีอาการอะไรที่สำคัญที่สุดของแต่ละโรค อาการอะไรที่มีความหมาย อาการ (หรือ symptom) คือ สิ่งที่ผู้ป่วยเล่า เช่น อาการปวดหัว ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก เจ็บหน้าอก ฯลฯ ส่วนอาการแสดง (หรือ sign) คือสิ่งที่แพทย์ตรวจพบ แต่บางทีอาการก็เป็นทั้งอาการและอาการแสดง เช่น เหลืองหรือดีซ่าน กล่าวคือผู้ป่วยบอกว่าสังเกตว่าตัวเองเหลือง (ดีซ่าน หรือ jaundice) และแพทย์ก็ตรวจพบว่าผู้ป่วยตัวเหลือง ตัวเหลืองจึงเป็นทั้งอาการและอาการแสดง หรืออาการไข้ หรืออาการท้องโต ฯลฯ

            การซักประวัติที่ดีควรให้ผู้ป่วยเล่าให้ฟังอย่างละเอียด ปล่อยให้ผู้ป่วยพูดเอง อย่าเอาสิ่งที่เราต้องการหรือคิดว่าเป็นไปใส่ให้ผู้ป่วยตอบ ฟังผู้ป่วยให้มาก ๆ ครูแพทย์มักพูดเสมอว่า “listen to the patients” หรือให้ฟังผู้ป่วย เราจะต้องฟังจนจบแล้วจึงถามเพิ่มเติมในสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอาการของผู้ป่วยที่ผู้ป่วยไม่ได้พูด ถ้าผู้ป่วยพูดนานไป หรือวกวน แพทย์ต้องมีความสามารถในการตะล่อมให้ผู้ป่วยกลับเข้าเรื่อง

            แต่เป็นที่น่าเสียดายที่แพทย์ปัจจุบันนี้ (และผู้ป่วยบางราย) ไม่ค่อยให้ความสำคัญ สนใจ ต่อการซักประวัติ จะรีบ ๆ ซัก ซักอย่างรวดเร็ว แล้วไปตรวจร่างกาย (อย่างรวดเร็วเช่นกัน) แต่หวังพึ่งการตรวจเพิ่มเติมโดยเฉพาะเอกซเรย์ที่มีราคาแพงโดยอาจไม่จำเป็น เช่น computer scan, MRI มากกว่า การตรวจ CT หรืออื่น ๆ เป็นเพียงวิธีการหาข้อมูลเพิ่มเติมเท่านั้น บางครั้งบางวิธีของการตรวจเพิ่มเติมไม่สามารถช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้ จะต้องขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจของแพทย์ด้วยเหตุและผลเมื่อได้ข้อมูลต่าง ๆ ครบถ้วน

            ผมอยากให้แพทย์ทุกคนพยายามใช้เวลาตรวจผู้ป่วยรายใหม่ 30 นาทีต่อคน แต่ในภาครัฐคงเป็นไปไม่ได้ แต่ภาคเอกชนเป็นไปได้ ผมแนะนำลูกศิษย์เสมอว่าในการตรวจที่คลินิกเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนควรให้เวลา 30 นาทีต่อผู้ป่วย 1 คน และคิดค่าแพทย์ในระดับสูงของเพดานค่าตรวจเลย (เช่น ถ้าแพทย์มีสิทธิได้ค่าตรวจผู้ป่วยรายใหม่ 300-800 บาท ให้คิด 800 ไปเลย) เมื่อแพทย์พูดถึงโรคที่ผู้ป่วยอาจเป็นเสร็จแล้ว อาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทั่ว ๆ ไป การรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยาเสพติด เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย โรคอ้วน ฯลฯ ซึ่งถ้าเป็นวิธีนี้ผมคิดว่าผู้ป่วยไม่น่าจะว่า แพทย์จะต้องมีความสามารถในการสื่อสาร พูดภาษาชาวบ้านอย่างง่าย ๆ พูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี