สิ่งละอันพันละน้อยที่…ปราก

สิ่งละอันพันละน้อยที่…ปราก

ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง  ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

            การเดินทางไปปรากใช้เวลาหลายชั่วโมง ซึ่งการเดินทางด้วยเครื่องบินก็ควรเลือกที่นั่งติดทางเดินที่เรียกว่า aisle seat เพื่อจะได้เข้าห้องน้ำได้สะดวก หรือเลือกที่นั่งซึ่งมีที่เหยียดขาด้านหน้าได้กว้างที่เรียกว่า bulkhead seats ซึ่งมักติดกับห้องเตรียมอาหารของพนักงานบนเครื่อง

            ปรากเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งมีปราสาทมากมายและสามารถเดินเที่ยวได้ทั่วเมือง อย่างไรก็ดี การเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินก็สะดวกเช่นกัน วัฒนธรรมส่วนใหญ่ยังคงเหมือนประเทศในยุโรปทั่วไป นั่นคือผู้คนชอบเดินเล่นกลางแจ้ง หรือนั่งรับประทานอาหารกลางแจ้ง

ร้านอาหารกลางแจ้งมักมีผ้าห่มสีแดงผืนใหญ่อยู่ตามเก้าอี้นั่ง เพื่อเอาไว้ห่มตัวกันหนาวในขณะนั่งรับประทานอาหารกลางแจ้ง

 

อาหารของเช็กมักมีรสเค็มมาก อาหารประจำชาติเป็นขาหมูที่กินกับแป้งนิ่ม ๆ และผักกาดดอง แม้แต่ไส้กรอกที่มีขายอยู่ดาษดื่นก็มีรสเค็มน้อยไปจนถึงเค็มมาก บางครั้งก็เอาแผ่นแป้งโรตีมาพันไส้กรอกให้เดินกิน

 มันฝรั่งทอดก็หั่นเป็นแว่นบาง ๆ มาทอด ซึ่งรสเค็มมากเช่นกัน ทั้งที่หลังทอดเสร็จแล้วก็ไม่เห็นว่าเขาจะโรยเกลือเลย ก็ไม่รู้ว่าแอบใส่เกลือเข้าไปในตอนทอดหรือเปล่า

อัตราการบริโภคเบียร์ของชาวเช็กต่อคนถือว่าสูงที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยการบริโภคอยู่ที่ 150 ลิตร/คน/ปี ราคาของเบียร์ในร้านอาหารส่วนใหญ่ถูกกว่าราคาของเครื่องดื่มที่ไม่ใส่แอลกอฮอล์

            สาธารณรัฐเช็กไม่เพียงแต่ขึ้นชื่อในเรื่องการเป็นนักดื่มเบียร์ แต่ยังได้รับการยอมรับเรื่องการเป็นผู้ส่งออกเบียร์ติดอันดับ 10 ของโลกอีก สำหรับตลาดเบียร์ในสาธารณรัฐเช็ก ประชาชนส่วนใหญ่ดื่มเบียร์สด (Draught  Beer) ที่ผลิตภายในประเทศมากกว่า สำหรับเบียร์กลั่น (Lager Beer) ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออกไปขายนอกประเทศ

รสนิยมการบริโภคเบียร์ของชาวเช็ก ส่วนใหญ่ค่อนข้างจะเป็นกลุ่มอนุรักษ์ ประการแรก คือ ชอบการดื่มเบียร์ท้องถิ่นมากกว่าเบียร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนแบ่งการตลาดในเช็กของเบียร์นำเข้ามีเพียงเล็กน้อย คืออยู่ที่ประมาณน้อยกว่าร้อยละ 5  

          ประการที่สอง ชาวเช็กนิยมเบียร์ที่มีรสชาติขม ซึ่งไม่เหมือนชนชาติอื่น ๆ และประการที่สาม ชาวเช็กไม่นิยมดื่มเบียร์ที่มีการปรุงรสชาติ (Favoured Beer) ซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศยุโรปที่ผู้บริโภคนิยมเบียร์ที่มีรสชาตินุ่มละมุน แต่ชาวเช็กกลับชอบรสชาติที่เป็นแบบดั้งเดิมมากกว่า 

ร้านสะดวกซื้อในปรากที่นิยมกันคือ albert supermarket ซึ่งก็ขายของใช้ประจำวันคล้ายร้าน 7-eleven ที่เราเห็นแพร่หลายในเมืองไทย แต่หลายครั้งร้านกลับสร้างอยู่ใต้ดินตามทางเดิน

ส่วนร้านที่เรียกว่า hypermarket จะเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่มากกว่า supermarket และมีของใช้หลากหลายทั้งที่ใช้ในชีวิตประจำวันไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ ๆ

เวลาใช้บันไดเลื่อนขาขึ้น ผู้คนมักพากันยืนชิดซ้าย และบันไดเลื่อนขาลงก็พบว่าผู้คนพากันยืนชิดขวา ทั้งนี้เพื่อเหลือช่องทางอีกด้านหนึ่งให้คนที่รีบสามารถวิ่งผ่านไปได้ พบว่าผู้คนที่อยู่ในช่องทางเร่งรีบนี้มักไปถึงเป้าหมายได้เร็วกว่ายืนคอยให้บันไดเลื่อนไปถึงเป้าหมายเอง

หลังจากเดินเที่ยวไปทั่วเมือง ก็มักพบร้านขายรองเท้ายี่ห้อบาจา กระจายอยู่ในหลายแห่ง ฉันก็เพิ่งรู้ว่ารองเท้าบาจา (Bata - ภาษาเช็ก) มีต้นกำเนิดมาจากสาธารณรัฐเช็กนี่เอง โดยครอบครัวของ Tomas Bata ช่างซ่อมรองเท้าได้รับออร์เดอร์สั่งตัดรองเท้าจำนวนมากจากกองทัพทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และจากนั้นก็พัฒนามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นธุรกิจรองเท้าบาจาที่โด่งดังไปทั่วโลก

แหมหลงคิดว่าเป็นของไทยมาตลอดนะเนี่ย

เมืองปรากเต็มไปด้วยเสียงเพลง เวลาเดินไปที่ใดก็ตามมักมีเสียงเพลงล่องลอยมาให้ได้ยินอยู่เสมอ ๆ บางครั้งก็แอบเห็นคนเล่นดนตรีอยู่ตามมุมต่าง ๆ บนทางเดิน เช่น เห็นหญิงสาวยืนสีไวโอลินอยู่ข้างโบสถ์พร้อมกับมีกล่องรับเงินอยู่ด้านหน้า บางครั้งก็เห็นวงดนตรีที่เพื่อน ๆ มารวมตัวกันเล่นอยู่ที่จตุรัสเมืองเก่าหรือบนสะพานชาร์ลส์

 

            ความนิยมของยุโรปทั่วไปอีกแบบหนึ่งคือ การนั่งแข็งเป็นหุ่นในลักษณะต่าง ๆ ตามที่สาธารณะพร้อมกับมีกล่องรับเงินอยู่ด้วย เช่น ข้างสะพานชาร์ลส์ก็มีหญิงสาวทาหน้าขาวมานั่งห่มผ้าขาว แล้วทำท่าแข็งเป็นหุ่นอยู่ข้างสะพาน ซึ่งบางครั้งคนเดินผ่านไปมาแล้วไม่ทันสังเกตก็อาจเผลอเดินไปเหยียบได้

ป้ายบอกทิศทางในปรากมักเป็นภาษาเช็ก ดังนั้น ต้องจำให้ขึ้นใจว่าสะพานชาร์ลส์มีชื่อในภาษาเช็กว่า  Karlův most ไม่งั้นจะหาป้าย Charles Bridge ให้ตายก็ไม่เจอ

      บนสะพานชาร์ลส์จะมีแผ่นเหล็กรูปนักบุญซึ่งมีคนมาถูจับจนขึ้นเงา สังเกตว่าด้านล่างมีลูกกุญแจคล้องอยู่ ซึ่งก็ดูคล้ายวัฒนธรรมการคล้องกุญแจคู่รักที่โซลทาวเวอร์ในประเทศเกาหลี

สำหรับสุขอนามัยและสถานพยาบาลในปรากนั้น ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนใด ๆ ก่อนเดินทางไปยังปราก แต่ควรแน่ใจว่ามีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักแล้ว ปรากมีระบบการดูแลรักษาสุขภาพที่ดีเยี่ยม พลเมืองของสหภาพยุโรปสามารถเข้ารับการรักษาและดูแลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงแสดงบัตรประกันสุขภาพกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังไม่หมดอายุ

ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอื่น ๆ นอกสหภาพยุโรปควรแน่ใจว่ามีประกันสุขภาพที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาทางแพทย์ที่อาจเกิดขึ้น แม้สาธารณรัฐเช็กจะมีบริการรักษาฉุกเฉินฟรีสำหรับทุกคน แต่ค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากนี้ผู้ใช้บริการต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด อย่างไรก็ดี ภายในเมืองก็มีร้านขายยาซึ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงตั้งอยู่ทั่วไป