หัวใจล้มเหลวจากลำไส้ทะลุเข้าในช่องหัวใจ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

หัวใจล้มเหลวจากลำไส้ทะลุเข้าในช่องหัวใจ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

Traumatic Bowel Herniation Causing Cardiac Tamponade (A Case Report)

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์*

*รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

เป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่า การทำงานของหัวใจนั้นประกอบด้วย 2 กระบวนการหลักคือ “การบีบและการคลายตัว” การบีบเป็นการที่จะบีบไล่เลือด (แดง) ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และไล่เลือดดำที่ได้รับมาไปสู่ปอดเพื่อการฟอกให้เป็นเลือดดี (เลือดแดง) ส่วนการคลายตัวเป็นการที่หัวใจขยายตัวเพื่อรับเลือด (ดำ) ที่เลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และเลือดดำ (คือเลือดแดงที่ฟอกแล้วจากปอด) กลับเข้ามาสู่หัวใจเพื่อการบีบตัวไล่เลือดแดง (เลือดดี) ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กระบวนการบีบและคลายตัวนั้นจะกระทำใน “ช่องเยื่อหุ้มหัวใจ” (pericardial cavity) ซึ่งหากมีบางสิ่งมาครอบครองหรือแย่งพื้นที่หรือแย่งปริมาตร (occupied) แล้ว การทำงานของหัวใจย่อมไม่อาจทำได้อย่างสมบูรณ์ ผลที่ตามมาคือ เลือด (ดำ) ที่จะถูกนำไปฟอกไม่อาจกระทำได้ และเลือด (ดี) ที่จะไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็ไม่อาจกระทำได้เช่นเดียวกัน ร่างกายจึงเปรียบเสมือนกับ “ขาดเลือดมาเลี้ยง” โดยปริยาย และผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ “เสียชีวิต” นั่นเอง

 

……………..การที่ลำไส้ขนาดยาวประมาณ 15 เซนติเมตร (ขดตัว) อยู่ในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ทำให้หัวใจถูกดันขึ้นไปชิดกับขอบบนของช่องเยื่อหุ้มหัวใจ (traumatic herniation) (ภาพที่ 5) เป็นผลให้หัวใจไม่สามารถทำงานตามปกติได้ (cardiac tamponade) กล่าวคือ การบีบตัวเพื่อไล่เลือดไปสู่ปอดเพื่อการฟอกเลือดและการที่บีบเลือด (สูบฉีด) ไปเลี้ยงร่างกายไม่อาจกระทำได้ เปรียบเสมือนกับร่างกายไม่มีเลือดไปเลี้ยง (ขาดเลือด) และเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั่นเอง

 

อุทาหรณ์ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

ผู้ป่วยหญิงอายุ 30 ปี รูปร่างสันทัด ถูกนำตัวส่งมาเพื่อรับการตรวจ (ทางนิติเวชศาสตร์) อย่างละเอียดตามกฎหมาย (มาตรา 151 และมาตรา 152)1 โดยพนักงานสอบสวน (ภาพที่ 1) ภายหลังจากการชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นแล้ว

การตรวจศพ: กระทำโดยแพทย์ในวันรุ่งขึ้น ได้ผลการตรวจดังนี้ (มาตรฐานทางนิติเวชศาสตร์)2-4

สภาพศพภายนอก: (ภาพที่ 2)

- ศพหญิงอายุประมาณ 30 ปี รูปร่างสันทัด ตัวยาวประมาณ 155 เซนติเมตร ผมสีดำยาวประมาณ 25 เซนติเมตร

- ศพแข็งตัวเต็มที่แล้ว พบเลือดตกลงสู่เบื้องต่ำภายหลังเสียชีวิตที่หลังได้ชัดเจน

- ขาทั้งสองข้างงอผิดรูปที่บริเวณต้นขา

- ตรวจพบบาดแผลดังต่อไปนี้ (ภาพที่ 2 และภาพที่ 3)

1. บาดแผลถลอกที่ใบหน้าด้านซ้ายและริมฝีปากเล็กน้อย

2. บาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบ รูปค่อนรี มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 และ 3.5 เซนติเมตรตามลำดับ ที่บริเวณหน้าท้องด้านซ้ายส่วนล่าง

3. บาดแผลถลอก ช้ำ เป็นแนวขวางหลายรอยตั้งแต่บริเวณกลางหน้าท้องด้านซ้าย มาจรดที่เชิงกรานด้านซ้าย

4. แผลผ่าตัดเก่าที่บริเวณหัวหน่าว ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร

5. แผลช้ำที่ต้นขาสองข้าง สามารถจับงอได้อย่างผิดรูปอย่างชัดเจน แสดงถึงการหักของกระดูกต้นขาทั้งสองข้าง

- อวัยวะอื่น ๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติจากการตรวจภายนอก

สภาพศพภายใน:

- หนังศีรษะและใต้ชั้นหนังศีรษะโดยทั่วไปปกติ ยกเว้นมีรอยช้ำที่หนังศีรษะส่วนหลังด้านซ้ายเล็กน้อย (ภาพที่ 4)

- กะโหลกศีรษะปกติ ทั้งในส่วนบนและฐานกะโหลกศีรษะ

- เนื้อสมองและสมองน้อย รวมถึงแกนสมองอยู่ในเกณฑ์ปกติ

- กระดูกสันหลังส่วนคอและอกปกติ

- กระดูกซี่โครงซ้ายที่ 7 และ 8 ส่วนข้างหัก

- กะบังลมด้านซ้ายฉีกขาดมีขนาดยาว 15 เซนติเมตร กว้าง 8 เซนติเมตร

- พบลำไล้เล็กส่วนกลางผ่านจากรอยฉีกขาดของกะบังลม ทะลุเข้ามาในช่องหัวใจ และครอบครองปริมาตรเกือบทั้งหมด เบียดหัวใจให้อยู่ติดชิดกับด้านบนของเยื่อหุ้มหัวใจ (ภาพที่ 5)

- เยื่อหุ้มหัวใจส่วนล่างฉีกขาดมีความยาวประมาณ 8 เซนติเมตร กว้าง 6 เซนติเมตร (ภาพที่ 6)

- ปอดซ้ายช้ำ มีเลือดออกในช่องอกซ้ายประมาณ 250 ลบ.ซม.

- เลือดออกในช่องท้องเล็กน้อย

- เลือดออกในอุ้งเชิงกรานประมาณ 200 ลบ.ซม. เนื้อเยื่ออุ้งเชิงกรานช้ำกระจายทั่วไป

- กระดูกเชิงกรานทั้งสองข้างแตกหลายตำแหน่ง และกระดูกหัวหน่าวแยก (ภาพที่ 7)

- กระเพาะปัสสาวะและมดลูกช้ำ และฉีกขาดบางส่วน

- การดูกสันหลังส่วนเอวปล้องสุดท้ายและกระดูกก้นกบแยกออกจากกัน

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ:

- เลือดหมู่ โอ

- ตรวจไม่พบเอทานอลในเลือด

- ตรวจไม่พบยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนในเลือดและของเหลวจากกระเพาะอาหาร

- ตรวจไม่พบยาฆ่าแมลงในกลุมคาร์บาร์เมทและกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตจากของเหลวในกระเพาะอาหาร

- ตรวจไม่พบสารไซยาไนด์จากของเหลวในกระเพาะอาหาร

- ตรวจไม่พบสารเมทแอมเฟตามีนในเลือดและปัสสาวะ

- ตรวจไม่พบสารอนุพันธ์ของมอร์ฟีนในเลือด

สาเหตุตาย:

- ระบบไหลเวียนล้มเหลวจากการทำงานของหัวใจถูกขัดขวางจากลำไส้ทะลุเข้าในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ (bowel herniation)

พฤติการณ์ที่ตาย:

เข้าได้กับ “การตายเนื่องจากอุบัติเหตุจราจร” (พิจารณาจากสิ่งที่ตรวจพบและประวัติที่ได้จากเอกสารของพนักงานสอบสวน “ใบนำส่งผู้บาดเจ็บหรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตร” (ภาพที่ 1)

 

วิเคราะห์และวิจารณ์

ผู้ตายรายนี้เกิดเหตุบนท้องถนนตามรายละเอียดในเอกสารของพนักงานสอบสวน (ภาพที่ 1) ซึ่งสามารถพิจารณาประการต่าง ๆ ได้ดังนี้

ประการที่ 1: การตรวจสภาพศพจากภายนอกโดยทั่วไป

พบว่ามีรอยช้ำเล็กน้อยที่บริเวณคอ แต่พบรอยช้ำขนาดใหญ่และถลอกกระจายที่บริเวณหน้าท้องส่วนล่างด้านซ้าย และยังพบว่ามีบาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบ ขนาดรูปค่อนรี ประมาณ 2.5 เซนติเมตร กว้าง 1 เซนติเมตร ที่ท้องน้อยด้านซ้ายแสดงให้เห็นถึงสภาพแห่งความร้ายแรงหรืออันตรายที่ร่างกายบริเวณดังกล่าวได้รับ (ภาพที่ 3) อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงการบาดเจ็บในช่องท้องและอุ้งเชิงกรานแล้วก็ยังพบว่า บริเวณอุ้งเชิงกรานมีลักษณะช้ำโดยทั่วไป และมีกระดูกเชิงกรานแตกหลายตำแหน่ง (ภาพที่ 7)

 

ประการที่ 2: พยาธิสภาพในช่องท้องเป็นผลต่อการฉีกขาดของกะบังลมและเยื่อหุ้มหัวใจ

เมื่อมีแรงกดหรือกระทำอย่างรุนแรงต่อช่องท้องส่วนล่างและอุ้งเชิงกราน ย่อมส่งผลให้เกิดแรงดันขึ้นจากช่องท้องไปยังช่องอก ส่งผลให้เกิดแรงดันกะบังลมและเยื่อหุ้มหัวใจจนฉีกขาด และมีลำไส้เล็กทะลักเข้าสู่ช่องอกและช่องเยื่อหุ้มหัวใจ (ภาพที่ 5)

จากพยาธิสภาพที่ลำไส้เข้าครอบครองในช่องหัวใจ (pericardium tamponade by bowel หรือ bowel herniation in pericardium cavity) ส่งผลต่อระบบไหลเวียน กล่าวคือ

. หน้าที่และการทำงานของหัวใจ

หัวใจมีหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย โดยการที่บีบเลือดในหัวใจไปสู่ปอดเพื่อการฟอกเลือดและบีบเลือดจากหัวใจไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อการเลี้ยง (ให้ออกซิเจน) แก่ส่วนต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยการบีบและการคลาย เมื่อหัวใจบีบตัวได้แต่ไม่อาจคลายตัวเพื่อให้เลือดเข้าสู่หัวใจได้อีกจึงทำให้ไม่มีเลือดในห้องต่าง ๆ ของหัวใจที่จะบีบ (สูบฉีด) ทำให้เสมือนกับการที่ร่างกายขาดเลือดไปเลี้ยงนั่นเอง และเป็นผลทำให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายในที่สุด

. พยาธิสภาพของช่องเยื่อหุ้มหัวใจกับการทำงานตามหน้าที่ของหัวใจ

ข้อ 1: การที่ลำไส้ขนาดยาวประมาณ 15 เซนติเมตร (ขดตัว) อยู่ในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ทำให้หัวใจถูกดันขึ้นไปชิดกับขอบบนของช่องเยื่อหุ้มหัวใจ (traumatic herniation) (ภาพที่ 5) เป็นผลให้หัวใจไม่สามารถทำงานตามปกติได้ (cardiac tamponade) กล่าวคือ การบีบตัวเพื่อไล่เลือดไปสู่ปอดเพื่อการฟอกเลือดและการที่บีบเลือด (สูบฉีด) ไปเลี้ยงร่างกายไม่อาจกระทำได้ เปรียบเสมือนกับร่างกายไม่มีเลือดไปเลี้ยง (ขาดเลือด) และเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั่นเอง

ข้อ 2: พยาธิสภาพที่ปรากฏอันเป็นสาเหตุแห่งการตายในผู้ตายรายนี้นั้น เกิดขึ้นได้ยาก ทั้งนี้เพราะลำไส้ที่ปกติอยู่ในช่องท้องยากที่จะไหลทะลุกะบังลมและเยื่อหุ้มหัวใจมาขดตัวในช่องเยื่อหุ้มหัวใจจนทำให้หัวใจไม่อาจทำงานได้ตามปกติ

 

ประการที่ 3: สาเหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย

จากพยาธิสภาพที่ตรวจพบจากศพดังกล่าวแล้วข้างต้น รวมถึงสภาพแห่งการทำงานของร่างกาย (pathophysiology) ในการถูกขัดขวางการทำงานของหัวใจเป็นเหตุทำให้ “ระบบสูบฉีดโลหิตหรือระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว” ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย

สาเหตุที่ตายรายนี้:

คือ ระบบไหลเวียนล้มเหลวจากการทำงานของหัวใจถูกขัดขวางจากลำไส้ทะลุเข้าในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ

พฤติการณ์ที่ตาย:

เข้าได้กับ “อุบัติเหตุจราจร” มากที่สุด (สอดคล้องกับเอกสารของพนักงานสอบสวน) (ภาพที่ 1)

วิเคราะห์สาเหตุของการทำงานของหัวใจล้มเหลว:

การที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ หรือ “หัวใจทำงานล้มเหลว” หรือ “ระบบไหลเวียนล้มเหลว” นั้น โดยทั่วไปอาจเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุดังนี้

. มีพยาธิสภาพที่หัวใจเอง

1. พยาธิสภาพที่กล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือด หมายถึง การที่กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถที่จะทำหน้าที่แห่งตนได้ เช่น

1.1 การเกิดเนื้อเยื่อพังผืดจำนวนมากทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งและขาดความยืดหยุ่นตัว การรองรับเลือดที่จะทำการสูบฉีดจึงเป็นการทำได้ไม่เต็มที่ และจำเป็นต้องบีบตัวถี่เพื่อให้ได้ปริมาณของเลือดไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างพอเพียง (ซึ่งจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อหัวใจเอง)

1.2 การที่หัวใจฉีกขาดอันเนื่องจากได้รับอันตราย เช่น จากการถูกของแข็งทับ เป็นต้น

2. พยาธิสภาพที่เส้นประสาทการนำไฟฟ้าเพื่อบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นพยาธิสภาพที่เกิดกับเส้นประสาทโดยตรง ซึ่งมีผลต่อการทำงานของหัวใจเพราะหัวใจจะทำงาน (บีบตัวได้) ต้องมีกระแสไฟฟ้าในหัวใจ

2.1 การทำงานของหัวใจ3

หลักการทำงานของหัวใจคือ “การบีบตัวอย่างเป็นจังหวะ” (จังหวะปกติ หรือ sinus rhythm) ทำให้ร่างกายได้รับเลือด (โลหิต) ไปเลี้ยงตามปกติ โดย

ก. เริ่มต้นจากตำแหน่งที่หัวใจห้องบนขวา ที่เรียกว่า SA node (Sinoatrial node) ผ่านกระแสไฟฟ้าในหัวใจไปตามผนังหัวใจห้องบนขวาและซ้าย ทำให้เกิดการบีบตัวของหัวใจห้องบน จากนั้นกระแสไฟฟ้าดังกล่าวจะลงมาสู่บริเวณที่เรียกว่า AV node (Atrioventricular node)

ข. ณ ตำแหน่ง AV node นี้จะมีการหน่วงเวลาเล็กน้อย 0.04 sec ก่อนที่จะส่งกระแสไฟฟ้าต่อไปยังกลุ่มประสาท Bundle of His และแยกเป็น 2 แขนงกระแสคือ แขนงซ้ายและขวา โดยแขนงขวาจะมาตามผนังกั้นห้องล่าง (interventricular septum) ส่วนแขนงซ้ายจะทะลุ (septum) แยกเป็น 2 ทางคือ ด้านหน้าและด้านหลังของหัวใจ ไปสู่ใยประสาทฝอย (Purkinje fibers) ซึ่งอยู่ใต้ต่อเยื่อบุด้านในสุดของกล้ามเนื้อหัวใจ (endocardium) และกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างให้ทำการบีบตัวเพื่อสูบฉีดโลหิต

2.2 พยาธิสภาพเส้นประสาทของการทำงานของหัวใจ

เป็นการทำงานผิดปกติของระบบไฟฟ้าภายในกล้ามเนื้อหัวใจอันเนื่องจากภายในกล้ามเนื้อหัวใจเอง เช่น การเกิดเป็นแผลเป็นที่กล้ามเนื้อหัวใจหรือเส้นประสาท เป็นต้น ทำให้การนำไฟฟ้าภายในกล้ามเนื้อหัวใจผิดไปจากปกติ

. มีพยาธิสภาพของส่วนรอบหัวใจ

หมายถึงการที่รอบ ๆ หัวใจมีสิ่งที่ให้หัวใจไม่อาจทำหน้าที่แห่งตนเองได้ เช่น การที่มีของเหลวมาอยู่ในช่องหัวใจทำให้หัวใจเลือดออก (hemopericardium) จึงอยู่ในสถานภาพที่ไม่อาจขยายตัวได้ จึงเท่ากับไม่อาจทำหน้าที่ได้นั่นเอง

. มีพยาธิสภาพต่อเส้นประสาทหัวใจ

เป็นกรณีที่ “หัวใจและส่วนรอบหัวใจปกติทุกประการ” แต่เส้นประสาทในการบีบตัวของหัวใจถูกทำให้ผิดปกติ เกิดขึ้นจากการที่กระแสไฟฟ้าของการกระตุ้นการบีบตัวของหัวใจถูกทำให้ผิดปกติไป เช่น การถูกกระแทกอย่างรุนแรง การที่ถูกกระแสไฟฟ้าไหลผ่านที่หัวใจอันเป็นผลต่อกระแสการให้หัวใจเต้นตามปกติ

 

ประการที่ 4: ปัจจัย (สาเหตุ) เสริมในการทำให้เสียชีวิตในผู้ตายรายนี้

ในผู้ป่วยรายนี้ยังมีการตรวจพบว่ามีร่างกายส่วนอื่น ๆ (อวัยวะอื่น) ได้รับบาดเจ็บด้วย และอาจเป็นปัจจัยเสริมในการทำให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย เช่น

ก. การที่มีปอดซ้ายช้ำและมีเลือดออกในช่องอกซ้าย แม้ว่าในกรณีนี้จะมีเลือดออกเพียง 250-300 ลบ.ซม. ก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่มากนัก แต่ก็เป็นเหตุเสริมทำให้ถึงแก่ความตายได้ (volume depletion)

ข. เลือดออกในช่องท้องเล็กน้อย การที่มีเลือดออกในช่องท้องเล็กน้อยก็อาจทำให้ร่างกายขาดเลือดโดยรวมได้หากเป็นการที่มีเลือดออกจากหลายตำแหน่ง

ค. เลือดออกในอุ้งเชิงกราน มีเลือดออกอยู่พอควรประมาณ 300 ลบ.ซม. ก็อาจจะเป็นสาเหตุเสริมเลือดออกจากตำแหน่งอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน

ง. กระดูกเชิงกรานแตกจำนวนหลายชิ้นหลายตำแหน่ง และกระดูกหัวหน่าวแยก ทำให้เกิดอันตรายต่อกระดูกสันหนัง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะช็อกได้ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่ทำให้ถึงแก่ความตาย

จ. กระดูกสันหลังส่วนเอวแตกแยกจากกระดูกก้นกบ แสดงถึงความรุนแรงของการได้รับบาดเจ็บเท่านั้น แต่ก็มิใช่สาเหตุที่ทำให้ตายโดยตรง

โดยรวมแล้วผู้ตายรายนี้ยังมีเหตุและปัจจัยประกอบซึ่งทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ แต่เป็นเพียงสาเหตุรองเท่านั้น

หมายเหตุ: การเกิดแรงดันในช่องท้องที่ทำให้กะบังลมทะลุเข้าในช่องอกและช่องเยื่อหุ้มหัวใจนี้กลับไม่ทำให้อวัยวะภายในช่องท้อง เช่น ลำไส้ ตับ กระเพาะอาหาร ได้รับอันตรายหรือฉีกขาดเลย

 

ประการที่ 5: เทียบเคียงการที่ปอดไม่อาจทำงานได้ตามปกติเพราะถูกครอบครองปริมาตร

การที่หัวใจไม่สามารถที่จะขยายตัวเพื่อรับเลือดได้ เท่ากับไม่สามารถนำเลือดไปสู่ปอดเพื่อการฟอกเลือด และไม่สามารถนำเลือดไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (สูบฉีดโลหิต) ได้นั้นอาจเทียบเคียงได้กับกรณีที่เกิดขึ้นกับการที่ปอดไม่สามารถทำงานได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ

กรณีที่ 1: ปริมาตรในช่องอกถูกครอบครองโดยของเหลว (occupied pleural cavity)

การที่ปริมาตรในช่องอกถูกครอบครองโดยของเหลว เช่น การที่มีเลือดออกในช่องอก (hemothorax) หรือการที่มีของเหลวในช่องอก (pleural effusion) ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของปอดทำให้ปอดไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้การหายใจไม่มีประสิทธิภาพ เกิดสภาวะของการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการขาดอากาศ (asphyxia)

กรณีที่ 2: หน้าอกถูกของมีน้ำหนักมากทับจนทำให้ผนังหน้าอกไม่อาจขยายตัวเพื่อให้ปอดขยายรับอากาศเข้าสู่ปอด (traumatic asphyxia)

เป็นกรณีที่ปอดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติในการขยายตัวเพื่อการรับอากาศจากภายนอก ทำให้ไม่มีอากาศจากภายนอกที่ถือว่าเป็น “อากาศดี (มีปริมาณออกซิเจนสูง)” เข้าสู่ปอด หรือมีแต่เป็นจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการฟอกเลือด (ฟอกอากาศเสียจากปอดให้เป็นอากาศดี) จึงมีผลทำให้เลือด (โลหิต) ที่มาสู่ปอดไม่สามารถถูกฟอกที่ปอดได้อย่างเต็มที่ จึงเสมือนกับมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่งค้างในเลือดอยู่ในปริมาณมาก (hypercapnia, hypercarbia) ส่งผลให้ร่างกาย “ขาดอากาศ” (asphyxia) และถึงแก่ความตายเนื่องจากการขาดอากาศนั่นเอง

 

สรุป

ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวอาจเกิดขึ้นเนื่องจากพยาธิสภาพที่หัวใจเอง เช่น การที่มีการฉีกขาดหรือถูกกระทบกระแทกอย่างรุนแรง อาจเกิดจากเส้นประสาทของหัวใจที่ทำงานไม่ได้ปกติ และอาจเกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถขยายตัวได้เพราะช่องหัวใจมีสิ่งอื่นเข้ามาครอบครอง ในกรณีตามอุทาหรณ์เป็นการที่ลำไส้เข้ามาอยู่ในช่องหัวใจ (bowel herniation) ทำให้หัวใจไม่สามารถทำงานได้เป็นผลทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย

 

เอกสารอ้างอิง

1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf

2. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.

3. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”.

4. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555.

5. การทำงานของหัวใจ. http://www.thaiheartclinic.com/data2.asp