การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

การสร้างงานคุณภาพในโรงพยาบาลถือเป็นมาตรฐานหนึ่งที่ทุกโรงพยาบาลควรพยายามสร้างให้เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ป่วยที่มารับบริการของเรา

เมื่อไม่นานมานี้ ฉันได้ติดตามผู้ตรวจงานคุณภาพของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ในการตรวจเยี่ยมห้องคลอดของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ห้องคลอดของโรงพยาบาลแห่งนั้นค่อนข้างกว้างขวาง มีอุปกรณ์ครบครัน เตียงผู้ป่วยก็ดูสะอาดสะอ้าน

แต่กลับมีจุดหนึ่งที่ผู้ตรวจรายนี้ตรวจพบและน่าสนใจคือ ไม่มีห้องสำหรับให้สามีมาเฝ้าภรรยาหลังคลอด ซึ่งน่าสนใจว่าความต้องการของสามีที่ต้องการดูแลและให้กำลังใจแก่ภรรยาซึ่งผ่านความทรมานจากการคลอดบุตรมา ย่อมทำให้คุณแม่หมาด ๆ ชุ่มชื่นใจได้ไม่น้อย

เพียงแค่...เอาใจของคนไข้...มาใส่ใจของเรา ก็ย่อมทำให้เกิดความคิดขึ้นมากมายในการพัฒนางานบริการรักษาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย อันสามารถพัฒนาต่อยอดจนสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ป่วยได้ จนในที่สุดก็สร้างความโดดเด่นที่แตกต่างจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ได้

การพยายามสร้างงานคุณภาพจนได้รับการยอมรับ หรือที่เรียกกันว่า Hospital Accreditation นั้นมักเพิ่มภาระมากขึ้นต่องานประจำที่มีล้นมืออยู่แล้ว

จนบางครั้ง...เราเกิดท้อใจ

ถ้าเรามีความสุขที่จะทำสิ่งใด ย่อมทำให้เรามุ่งมั่นทำสิ่งนั้นต่อไปอย่างไม่รู้เบื่อ จนเกิดเป็นงานที่ดีไปพร้อมกับความสุขใจของผู้ทำ

เปรียบเหมือนงานคุณภาพของโรงพยาบาลนั่นเอง ถ้าเรามีความสุขที่จะทำงานคุณภาพ ย่อมทำให้เกิดความคิดพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้กระทำ

HA คือ Hospital Accreditation….งานคุณภาพของโรงพยาบาล

SHA คือ Sustainable Healthcare & Health promotion by Appreciation & Accreditation... การพัฒนางานคุณภาพอย่างยั่งยืนด้วยการสร้างความประทับใจและเป็นที่ยอมรับจากผู้รับบริการ

HA และ SHA จึงเปรียบเหมือนหยินและหยางที่ช่วยเหลือเกื้อกูลและเติมเต็มกัน เพราะถ้าเราสามารถสร้างทั้งความประทับใจให้เกิดในงานรักษาพยาบาลไปพร้อมกับมีมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับ ก็ย่อมทำให้งานคุณภาพนั้น ๆ เกิดการพัฒนาต่อเนื่องไปได้อย่างยั่งยืน และเราจะพยายามสร้างสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นไปตามฝันนั้น และฝันนี้เรื่อย ๆ ไปได้อย่างไม่รู้จักเบื่อ... ไม่ใช่แค่การสร้างขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวต่อเมื่อถูกตรวจเยี่ยมจากทีม สรพ. แค่นั้น

 

Spirituality เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างงานคุณภาพ

การเติม spirituality เข้าไปในงานรักษาพยาบาลนั้นเหมาะกับวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก

เพราะวัฒนธรรมไทยชอบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่แล้ว ยิ่งสำหรับผู้ป่วยซึ่งอ่อนแอทั้งกายและใจก็ย่อมไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะช่วยกันเติม spirituality เข้าไปเพื่อเอื้ออาทรต่อผู้ป่วยทั้งหลาย

 

ยังมีงานรักษาพยาบาลอีกมากมายที่เราในฐานะบุคลากรทางการแพทย์สามารถเติมเต็มให้การรักษานั้นสมบูรณ์ได้โดยไม่ยาก

โดยทั่วไปเมื่อมีผู้ป่วยเสียชีวิตในห้องฉุกเฉิน บุคลากรก็มักจะสกัดญาติให้ออกห่างจากผู้ตายเพื่อเช็ดตัวทำความสะอาดศพก่อนส่งไปยังห้องดับจิต แต่มีห้องฉุกเฉินแห่งหนึ่งได้คิดเติม spirituality ลงไปในการรักษาพยาบาลด้วยการสร้างห้องอโหสิกรรมขึ้น

เมื่อผู้ป่วยรายใดตายลงในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแห่งนั้น ก็จะมีการนำศพเข้าไปยังห้องที่เงียบสงบห้องหนึ่งซึ่งอยู่ด้านข้าง พร้อมกับเชิญญาติ แพทย์ และพยาบาล รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ตายเข้ามารวมกันในห้องแห่งนี้ เพื่อร่วมกันยืนไว้อาลัยไปพร้อมกับขออโหสิกรรมซึ่งกันและกัน

ช่วงเวลาที่ยืนสงบ… เพื่อไว้อาลัยต่อผู้ตายนับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่พวกเราได้เจริญมรณานุสติ เตือนตนถึงความตายที่อาจมาถึงทุกคนได้ทุกเมื่อ จนเกิดความรู้สึกอยากเร่งสร้างความดีให้เกิดขึ้นภายในช่วงเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ไม่มากในแต่ละคน

แล้วคุณผู้อ่านล่ะคะ จะเติม spirituality อย่างไรเข้าไปในการรักษาพยาบาลกันบ้าง