ปลดปล่อยยารักษาโรคตาจากเลนส์สัมผัส (ตอนที่ 1)

ปลดปล่อยยารักษาโรคตาจากเลนส์สัมผัส (ตอนที่ 1)

ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)

การรักษาโรคทางตา โดยเฉพาะในบริเวณด้านหน้าของลูกนัยน์ตาโดยการใช้ยาหยอดตานั้นถือได้ว่าเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม และถือเป็นเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของการใช้ยาทั้งหมด แต่วิธีการหยอดยาตาดังกล่าวนี้กลับมีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากพบว่าประมาณ 1-5 เปอร์เซ็นต์ของยาที่หยอดนั้นสามารถแทรกซึมผ่านกระจกตาเข้าไปถึงเนื้อเยื่อตาที่ต้องการรักษา ส่วนยาอีก 95-99 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือนั้นกลับสูญเสียไปด้วยสาเหตุต่าง ๆ  เช่น การระเหย การเกิดเมตาบอลิซึมของยา การยึดเกาะกับโปรตีน การสูญเสียไปกับการกะพริบตา การดูดซึมผ่านเยื่อบุตาซึ่งมีพื้นที่ใหญ่กว่า หรือไหลไปยังท่อน้ำตาและถูกดูดซับเข้ากระแสเลือด ทำให้ยาที่หยอดนั้นมีระยะเวลาอยู่ที่บริเวณลูกนัยน์ตาเพื่อการแทรกซึมผ่านทางกระจกตาเพียงแค่ประมาณ 2-5 นาที ซึ่งยาที่สูญเสียไปนั้นถือว่าเป็นการเสียค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง และปริมาณยาส่วนใหญ่ที่ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดยังอาจส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยได้ ส่งผลให้ไม่สามารถให้ปริมาณยาจำนวนมากในการรักษาได้ นอกจากนี้ด้วยประสิทธิภาพที่ต่ำนี้ทำให้ผู้ป่วยต้องมีการหยอดยาหลายครั้งต่อวัน ซึ่งผู้ป่วยอาจจะหลงลืมและส่งผลต่อความตรงเวลาต่อแผนการรักษาของการใช้ยาดังกล่าวได้

 

หยอดยาตา วิธีปกติที่ใช้ในการรักษาโรคตาบริเวณลูกนัยน์ตาด้านหน้า[1]

 

ภาพไดอะแกรมแสดงการเดินทางในลูกนัยน์ตาภายหลังการหยอดยา[2]

 

ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามในการเพิ่มประสิทธิภาพของการนำส่งยาผ่านทางการหยอดตาอย่างมากในปัจจุบัน โดยอาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลักคือ การเพิ่มชีวปริมาณออกฤทธิ์ หรือชีวประสิทธิผลของยา (bioavailability) และการพัฒนาระบบควบคุมการนำส่งยา ในกรณีของการเพิ่มชีวปริมาณออกฤทธิ์ของยานั้น มักจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับของยาผ่านทางเนื้อเยื่อให้เพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มระยะเวลาการคงอยู่ของยาบนบริเวณที่ใช้งานและลดการสูญเสียของยาจากบริเวณที่หยอดยา ตัวอย่างเช่น การใช้สารปรับค่าความหนืดของยาหยอด การใช้สารช่วยเพิ่มการแทรกซึมผ่านกระจกตา การเพิ่มความชอบน้ำหรือไขมัน การใช้เจล การใช้สารแขวนลอย และการใช้อนุภาคระดับนาโน เป็นต้น ในส่วนของการพัฒนาระบบควบคุมการนำส่งยานั้น เป็นการกักเก็บยาในวัสดุประเภทต่าง ๆ เพื่อที่จะควบคุมการปลดปล่อยยาออกมาอย่างช้า ๆ และควบคุม เช่น การใช้อนุภาคระดับจุลภาคของพอลิเมอร์และยากระจายตัวในของเหลว ซึ่งเมื่อหยอดยาที่นัยน์ตาแล้ว อนุภาคดังกล่าวจะค้างอยู่ในบริเวณนัยน์ตาและปลดปล่อยยาออกมาอย่างช้า ๆ หรือการใช้ยาสอดฝัง (ocular insert) ซึ่งเป็นของแข็งที่เป็นยาหรือพอลิเมอร์ผสมยาที่จะถูกสอดเข้าไปในบริเวณนัยน์ตาเพื่อการปลดปล่อยยา และการใช้วัสดุฝังใน (implant) ที่จะต้องถูกผ่าตัดเพื่อฝังเข้าไปด้านในของลูกนัยน์ตา เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเภทนั้นก็จะมีประสิทธิภาพ ข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป เช่น การใช้อนุภาคระดับจุลภาคนั้นจะง่ายในการใช้งานเนื่องจากเป็นการหยอดยาตามปกติ แต่จะมีประสิทธิภาพในการส่งยาค่อนข้างต่ำกว่า ในขณะที่การใช้ยาสอดฝังนั้นจะมีประสิทธิภาพในการส่งยาสูงกว่า ทำให้ลดจำนวนครั้งของการใช้ยาได้ แต่ก็จะใช้งานลำบากกว่าเนื่องจากจะต้องสอดฝังในลูกนัยน์ตา และอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือหลุดออกมาได้ ส่วนการใช้วัสดุฝังในนั้นถือได้ว่ามีประสิทธิภาพและระยะเวลาในการนำส่งยาที่นานที่สุด แต่มีข้อด้อยคือ จะต้องมีการผ่าตัดเพื่อฝังวัสดุเข้าไปในด้านในลูกนัยน์ตา โดยวัสดุที่ใช้จะมีทั้งที่เป็นวัสดุที่สลายตัวได้และไม่สลายตัว

     

ภาพแสดงยาสอดฝังในสำหรับการใส่เพื่อการปลดปล่อยยาในบริเวณลูกนัยน์ตา[3]

 

ภาพแสดงเทคนิคการให้ยาแบบหยอดยาตามปกติเมื่อเทียบกับเทคนิคการส่งยาที่มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งยามากขึ้น[4]

 

            นอกจากเทคนิคที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว การนำส่งยาผ่านทางเลนส์สัมผัสถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ในการนำส่งยาแบบไม่ต้องผ่าตัดรุกล้ำและสะดวกต่อการใช้งาน เนื่องจากเลนส์สัมผัสเป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีการใช้งานปกติและพบเห็นทั่วไปในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ในบทความตอนหน้า เรามาดูกันว่าพัฒนาการทางด้านการใช้เลนส์สัมผัสในการนำส่งยารักษาโรคตานั้นมีความก้าวหน้าอย่างไรบ้าง

 

เอกสารอ้างอิง

            1. http://www.verticalpharmacy.net/eyecare/timolol-eye-drops-430.html

            2. http://journal.frontiersin.org/Journal/10.3389/fphar.2012.00188/full

            3. http://www.dryeye.org/inserts.htm

            4. http://www.intechopen.com/books/biomedical-engineering-frontiers-and-challenges/photocrosslinkable-polymers-for-biomedical-applications

            5. http://www.clspectrum.com/articleviewer.aspx?articleID=107608

            6. http://www.eurekalert.org/pub_releases/2010-03/acs-cll030910.php

            7. http://www.masseyeandear.org/news/press_releases/archived/2013/2013_Drug_Dispensing_Contacts/

            8. http://www.sciencedaily.com/releases/2010/03/100324121002.htm