ปลดปล่อยยารักษาโรคตาจากเลนส์สัมผัส (ตอนที่ 2)

ปลดปล่อยยารักษาโรคตาจากเลนส์สัมผัส (ตอนที่ 2)

ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)

การนำส่งยาผ่านทางเลนส์สัมผัสถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเทคนิคทางเลือกที่ได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ในการนำส่งยาแบบไม่ต้องผ่าตัดรุกล้ำและสะดวกต่อการใช้งาน เนื่องจากเลนส์สัมผัสนั้นเป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีการใช้งานปกติโดยบุคคลทั่วไปและพบเห็นทั่วไปในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว โดยในการใช้งานนั้น เลนส์สัมผัสจะวางคลุมอยู่ด้านบนของส่วนกระจกตาพอดี และถูกแยกจากกันด้วยฟิล์มน้ำตาที่มีความหนาเพียง 2-3 ไมครอนที่บริเวณด้านหลังของเลนส์สัมผัสเท่านั้น ซึ่งด้วยเหตุที่ฟิล์มน้ำตาด้านหลังเลนส์สัมผัสนี้จะเกิดการรวมตัวกับน้ำตาบริเวณอื่นในปริมาณที่จำกัดมาก ทำให้ยาที่ปลดปล่อยออกจากเลนส์สัมผัสจะสามารถแพร่ผ่านทางฟิล์มน้ำตาด้านหลังนี้ไปยังกระจกตาได้โดยไม่สูญเสียไป โดยประมาณว่า 50-70 เปอร์เซ็นต์ของยาที่บรรจุในเลนส์สัมผัสนั้นจะสามารถแพร่ผ่านกระจกตาไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงมากเมื่อเทียบกับการใช้ยาหยอดตา ส่งผลให้ใช้ปริมาณยาน้อยลงเพื่อให้ได้ระดับความเข้มข้นของยาในการรักษาที่ต้องการ ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายและลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากความเป็นพิษของยาจากการใช้งานในปริมาณสูงได้

 

เลนส์สัมผัส อุปกรณ์การแพทย์ที่สามารถนำมาใช้ปลดปล่อยยารักษาโรคทางตาได้[9]

 

ภาพแสดงฟิล์มน้ำตาที่กั้นระหว่างเลนส์สัมผัสและกระจกตา[10]

 

นอกจากจะสามารถช่วยเพิ่มชีวปริมาณออกฤทธิ์ หรือชีวประสิทธิผลของยาแล้ว การปลดปล่อยยาผ่านทางเลนส์สัมผัสนั้นยังมีข้อดีคือ มีแนวโน้มที่จะสามารถช่วยเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาตามสั่ง (Patient Compliance) ซึ่งเป็นปัญหาหลักในการรักษาโดยการใช้ยาทั่วไป โดยเฉพาะในการรักษาโรคที่ต้องใช้ระยะเวลานานและโรคที่ต้องมีความถี่ในการให้ยาสูง เนื่องจากการใส่เลนส์สัมผัสเพียงครั้งเดียวสามารถออกแบบให้ปลดปล่อยยาออกมาได้ตามระยะเวลาและรูปแบบที่กำหนดโดยไม่ต้องดำเนินการโดยผู้ใช้งาน นอกจากนั้นการให้ยาผ่านทางเลนส์สัมผัสนั้นยังมีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่า เนื่องจากมีความต่อเนื่องและสม่ำเสมอในการปลดปล่อยยามากกว่าการให้ยาผ่านทางการหยอดตา เนื่องจากในการหยอดตานั้นจะมีช่วงเวลาที่ความเข้มข้นของยาในเนื้อเยื่อจะมีค่าสูงเมื่อเริ่มต้นที่อาจส่งผลต่อความเป็นพิษของยาได้ และจะมีค่าลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเวลาผ่านไปจากสาเหตุต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จนมีระดับความเข้มข้นของยาที่ต่ำกว่าระดับการรักษา ทำให้จะมีบางช่วงเวลาปราศจากยาในการรักษาในระหว่างแต่ละครั้งของการหยอดยาอีกด้วย จะเห็นได้ว่าความเข้มข้นของยาที่ให้จากการหยอดยาตานั้นจะมีรูปแบบที่ไม่สม่ำเสมอ จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า การให้ยาเพื่อรักษาโรคต้อหินผ่านทางเลนส์สัมผัสสามารถลดความดันในลูกตาได้เท่ากับการให้ยาทางการหยอดยา ถึงแม้ว่าจะใช้ปริมาณยาในเลนส์สัมผัสเพียง 1 ใน 6 ส่วนของยาหยอดตา

 

ภาพเปรียบเทียบปริมาณความเข้มข้นของยาในฟิล์มน้ำตาที่ระยะเวลาต่าง ๆ ระหว่างการใช้การหยอดยาตาและการปลดปล่อยยาผ่านเลนส์สัมผัส[9]

 

โดยหลักการแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีข้อดีจำนวนมาก แต่การใช้งานเลนส์สัมผัสนั้นยังคงมีความท้าทายที่ต้องก้าวข้ามก่อนที่จะสามารถนำมาใช้งานได้จริง ข้อแรกคือ การใส่ยาเข้าไปในเลนส์สัมผัสนั้นจะต้องไม่ส่งผลต่อสมบัติการใช้งานของเลนส์สัมผัส เช่น ความใส ความแข็งแรง การซึมผ่านของออกซิเจน การแก้ไขสายตา เป็นต้น นอกจากนี้ที่สำคัญคือ ระยะเวลาในการปลดปล่อยยาผ่านทางเลนส์สัมผัสนั้นจะต้องมีระยะเวลาที่นานเพียงพอและควบคุมได้ จากการศึกษาพบว่า ระยะเวลาในการปลดปล่อยยานั้นจะขึ้นอยู่กับสมบัติของเลนส์สัมผัสเองและประเภทของยาที่ใช้งานว่ามีสมบัติชอบน้ำมากน้อยเพียงใดและมีน้ำหนักโมเลกุลมากน้อยเพียงใด โดยพบว่าระยะเวลาในการปลดปล่อยยาบางประเภทที่มีสมบัติชอบน้ำและมีน้ำหนักโมเลกุลต่ำนั้นจะค่อนข้างรวดเร็วภายในเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ยาบางประเภทที่ละลายน้ำได้น้อยและมีน้ำหนักโมเลกุลสูงอาจจะสามารถถูกปลดปล่อยได้นานหลายสัปดาห์ผ่านเลนส์สัมผัสที่มีสมบัติชอบน้ำต่ำ ซึ่งหากมีระยะเวลาการปลดปล่อยยาที่สั้นเกินไป เช่น ไม่กี่ชั่วโมงดังกล่าว จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้งานที่ผู้ใช้ต้องมีการเปลี่ยนเลนส์สัมผัสบ่อยครั้ง ซึ่งจะลดความสะดวกและเพิ่มค่าใช้จ่าย ซึ่งการเพิ่มระยะการปลดปล่อยยาสำหรับทุกประเภทของยานื้ถือได้ว่าเป็นหัวข้อวิจัยสำคัญที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน

ในบทความตอนหน้า เรามาดูกันต่อว่าจะมีพัฒนาการทางด้านการเพิ่มระยะเวลาการปลดปล่อยยาจากการใช้เลนส์สัมผัสอย่างไรบ้าง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ใช้งานจะได้รับความสะดวกในการใช้งานพร้อมกับประสิทธิภาพในการรักษาที่เหมาะสม

 

เอกสารอ้างอิง

1. http://www.verticalpharmacy.net/eyecare/timolol-eye-drops-430.html

2. http://journal.frontiersin.org/Journal/10.3389/fphar.2012.00188/full

3. http://www.dryeye.org/inserts.htm

4. http://www.intechopen.com/books/biomedical-engineering-frontiers-and-challenges/photocrosslinkable-polymers-for-biomedical-applications

5. http://www.clspectrum.com/articleviewer.aspx?articleID=107608

6. http://www.eurekalert.org/pub_releases/2010-03/acs-cll030910.php

7. http://www.masseyeandear.org/news/press_releases/archived/2013/2013_Drug_Dispensing_Contacts/

8. http://www.sciencedaily.com/releases/2010/03/100324121002.htm

9. http://www.gizmag.com/contact-lenses-deliver-eye-medication/20504/

10. http://canovision.com/info/contacts.htm