ปลดปล่อยยารักษาโรคตาจากเลนส์สัมผัส (ตอนที่ 3)

ปลดปล่อยยารักษาโรคตาจากเลนส์สัมผัส (ตอนที่ 3)

ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)

ระยะเวลาการปลดปล่อยยาจากเลนส์สัมผัสนั้นถือได้ว่าเป็นหัวข้อวิจัยสำคัญที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากหากระยะเวลาการปลดปล่อยยาที่สั้นเกินไปจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้งาน ทำให้ผู้ใช้ต้องมีการเปลี่ยนเลนส์สัมผัสบ่อยครั้ง ซึ่งจะลดความสะดวกและเพิ่มค่าใช้จ่าย ดังนั้น งานวิจัยส่วนใหญ่จึงเป็นการมุ่งเน้นการเพิ่มระยะการปลดปล่อยยาสำหรับทุกประเภทของยา โดยทั่วไปแล้ววิธีการใส่ยาในเลนส์สัมผัสที่ง่ายและสะดวกที่สุดคือ การแช่เลนส์สัมผัสในสารละลายของยาเพื่อให้ยาเกิดการดูดซับเข้าไปในเลนส์ ซึ่งถึงแม้จะพบว่าปริมาณยาที่ปลดปล่อยออกมามีปริมาณสูงกว่าการหยอดยาตา แต่วิธีนี้มีข้อด้อยคือ ปริมาณการดูดซับนั้นยังคงค่อนข้างต่ำ โดยปริมาณการดูดซับนั้นจะขึ้นกับความเข้มข้นของสารละลายยาที่ใช้ ความหนาของเลนส์สัมผัส น้ำหนักโมเลกุลของยา ความสามารถในการละลายของยาในเจล นอกจากนี้อัตราการปลดปล่อยยาออกจากเลนส์สัมผัสที่ใส่ยาด้วยการแช่ในสารละลายยานั้นจะค่อนข้างรวดเร็วมาก โดยจะปลดปล่อยยาออกมาหมดภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นมากเกินไป

แทนที่จะแช่ในสารละลายยาตามปกติ มีการศึกษาการใช้เทคนิคการประทับโมเลกุล (molecular imprint) ซึ่งทำโดยการสร้างช่องว่างในเนื้อเลนส์สัมผัสที่มีความสามารถในการยึดเกาะกับโมเลกุลของยาที่ต้องการใช้งานได้สูง ทำโดยการผสมยาที่ต้องการใช้งานเข้าไปกับมอนอเมอร์หรือสารตั้งต้นในการเตรียมพอลิเมอร์สำหรับผลิตเป็นเลนส์สัมผัส จากนั้นทำการบ่มให้แข็งตัว ในระหว่างการเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชั่นนั้น มอนอเมอร์ที่ใช้งานจะเข้าล้อมรอบยาและเกิดการแข็งตัวในลักษณะการจัดเรียงดังกล่าว เนื่องจากการเชื่อมขวางในระหว่างการเกิดปฏิกิริยา เมื่อทำการสกัดยาและมอนอเมอร์ที่ไม่เกิดปฏิกิริยาออกก็ทำให้เกิดช่องว่างในเลนส์สัมผัสที่มีลักษณะที่รับรู้ลักษณะของโมเลกุลยาดังกล่าว เมื่อทำการใส่ยาเข้าไปอีกครั้งในเลนส์สัมผัสด้วยการแช่ในสารละลายยาจะทำให้โมเลกุลยาสามารถเข้าไปยึดเกาะได้ดีในรูปแบบที่เหมาะสมกับการยึดเกาะสูงสุดที่สร้างไว้ก่อนหน้า ส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการใส่ยาและช่วยชะลอการปลดปล่อยยาออกจากเลนส์สัมผัสได้ โดยเทคนิคดังกล่าวได้นำไปทดลองการปลดปล่อยยาประเภทต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ทิโมลอล (timolol), นอร์ฟล็อกซาซิน (norfloxacin), คีโททิเฟน ฟูมาเรต (ketotifen fumarate) และกรดไฮยาลูโรนิก เป็นต้น จากการศึกษาในกระต่ายทดลองพบว่า เลนส์สัมผัสแบบนิ่มที่ใส่ยาทิโมลอลด้วยวิธีประทับโมเลกุลนี้จะสามารถคงความเข้มข้นของยาในน้ำตาได้นานกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับการแช่เลนส์สัมผัสในสารละลายยาโดยตรงเท่านั้น หรือนานกว่าสามเท่าเมื่อเทียบกับการหยอดยาตา

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่