อารมณ์

อารมณ์

ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน

โดยทั่วไปบุคลากรทางการแพทย์มักถูกสอนให้ควบคุมอารมณ์ระหว่างปฏิบัติงาน

แต่หลายครั้งที่อารมณ์ก็มีประโยชน์ต่องาน

ฉันจำได้ว่า เมื่อสมัยฉันเป็นนักศึกษาแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่มาช่วยในงานคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อระดมเงินบริจาคไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยยากจน

ในคอนเสิร์ตครั้งนั้นได้เชิญศิลปินชื่อดัง….ธงไชย แมคอินไตย์ มาแสดง

ปรากฏว่าผู้ชมส่วนใหญ่เป็นหมอและพยาบาล โดยที่มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมน้อยมาก

ระหว่างดูคอนเสิร์ต…ผู้ชมต่างพากันเงียบกริบ

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะบุคลากรทางการแพทย์ถูกสอนมาให้ควบคุมอารมณ์ จนกระทั่งลามไปควบคุมอารมณ์ของญาติ ๆ ที่เราต่างพามาดูคอนเสิร์ตด้วย

จนทำให้การแสดงของพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ในครั้งนั้นมีแต่ความเงียบจากผู้ชมทั่วทั้งห้องประชุม

ในที่สุดพี่เบิร์ดถึงขั้นแสดงต่อไปไม่ไหวจนต้องเอ่ยปากขอร้องให้ผู้ชมในห้องประชุมช่วยกันออกท่าทางหรือปรบมือเพื่อสร้างอารมณ์สนุกสนานร่วมไปกับการแสดง

“เป็นหมอหรือพยาบาลก็สนุกกันได้นะครับ”

หลังจากผู้ชมพากันร้องเพลงตามและปรบมือกันอย่างสนุกสนานจึงทำให้พี่เบิร์ดกลับมาสร้างพลังและเสน่ห์ให้กับการแสดงได้ในที่สุด

บางสถานการณ์…การควบคุมอารมณ์..ก็อาจไม่เหมาะ

ในการอบรมผู้บริหารมักสอนว่า หลายครั้งที่ลูกน้องมาแจ้งเรื่องปัญหาในที่ทำงานให้ฟัง ผู้บริหารควรนั่งฟังเฉย ๆ อย่างไตร่ตรอง…อย่าเชื่อเขาไปทั้งหมด

ทั้งนี้เพราะในปัญหาที่ลูกน้องเล่ามามักมีเนื้อหาจริงเพียง 50% ส่วนที่เหลือมักเป็นอารมณ์ล้วน ๆ

ดังนั้น เพียงผู้บริหารรับฟังปัญหาที่เขาคับข้องใจก็อาจทำให้ปัญหานั้นคลี่คลายไปได้แล้วมากกว่า 50% โดยที่ยังไม่ได้ลงมือแก้ปัญหาเลยแม้แต่น้อย

ในปัญหา…ประกอบด้วยความจริงและอารมณ์…คู่กัน

ในห้องฉุกเฉินมีผู้ป่วยมารับการรักษาอย่างแออัด มีทั้งคนที่เอะอะโวยวาย ทั้งที่อาการไม่มาก หรืออาการรุนแรงมากจนหมดสติไม่รู้สึกตัวก็ได้

เคยมีผู้ป่วย 2 รายที่มาด้วยโรคเลือดออกในข้ออันเกิดจากโรคฮีโมฟีเลียเหมือนกัน

ปรากฏว่า ผู้ป่วยรายที่ 1 ร้องโวยวายเพื่อร้องขอยาแก้ปวด

แต่อีกคนกลับนอนนิ่งกัดฟันเพื่อทนรับความเจ็บปวดตามลำพัง

ทุกครั้งที่เห็น ฉันมักเดินมุ่งไปหาผู้ป่วยที่นอนนิ่งกัดฟันด้วยความเจ็บปวดก่อนเสมอ ทั้งนี้เพราะเขาทนรับความเจ็บปวดเอาไว้จนกระทั่งฉันเกิดอารมณ์สงสาร

ในขณะที่ผู้ป่วยที่ร้องโวยวายนั้นมักก่อเกิดอารมณ์หมั่นไส้ให้แก่ฉันจนกระทั่งไม่อยากเดินไปหา

ทั้งที่เป็นความเจ็บปวดเหมือนกัน แต่กิริยาน่าสงสารของผู้ป่วยกลับทำให้ฉันอยากให้การรักษามากกว่า

อารมณ์ที่สัมพันธ์กันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยมีความสำคัญมากในการรักษาพยาบาล

อารมณ์สงสารเมื่อนำมาใช้ถูกที่ถูกเวลาก็ทำให้งานมีคุณภาพได้

ดังเช่น สึนามิซึ่งเกิดที่ภูเก็ตในปี พ.ศ. 2547 อันก่อความเสียหายแก่ประเทศไทยอย่างมากมาย แต่กลับได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่า ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศสงบที่ไม่เคยมีแผนต้านรับต่อภัยพิบัติมาก่อน

หมอและพยาบาลที่ว่างจากเวรของโรงพยาบาลในช่วงนั้นพากันไปช่วยยกศพไปเก็บที่วัด หรือมาเป็นอาสาสมัครเพื่อแจกอาหารและยา หรือช่วยดูแลผู้ป่วย รวมทั้งเป็นล่ามให้แก่ผู้ป่วยชาวต่างชาติกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

เพราะอารมณ์สงสารที่อยากช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จนทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนั้นประสบความสำเร็จได้ด้วยดีจนเป็นที่กล่าวยกย่องไปทั่วโลก

ทั้งนี้เพราะความมีน้ำใจอยากช่วยเหลือผู้อื่นอันเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลงในใจคนไทยเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

โดยทั่วไปบุคลากรทางการแพทย์มักถูกสอนให้หัดควบคุมอารมณ์ แต่ในบางครั้งอารมณ์ก็มีประโยชน์เมื่อถูกใช้ในจังหวะที่เหมาะสม

อารมณ์ที่เหมาะ…ใช้กับสถานการณ์ที่เหมาะ…ก็เกิดประโยชน์สูงสุด