ความพิสดารของ “การขายยา”

ภก.วิสุทธิ์ สุริยาภิวัฒน์

ความพิสดารของ “การขายยา”

โจทก์ (อัยการจังหวัดลำพูน) ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 18.15 น. จำเลยซึ่งได้รับอนุญาตขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ ขายยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาอันตรายและขายยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาควบคุมพิเศษให้แก่ประชาชนผู้ซื้อในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายยา จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 32, 107 ปรับ 4,000 บาท แต่มีเหตุบรรเทาโทษ คงให้ปรับเพียง 3,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ขึ้นป้ายว่าเภสัชกรไม่อยู่ ไม่ขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ และไม่ได้ล็อกตู้ยา หรือใช้ผ้าบังเพื่อจะแสดงให้เห็นว่าจะไม่ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ อันเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ผู้ประกอบการร้านขายยาจะไม่อาจขายยาประเภทดังกล่าวได้ในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ การที่จำเลยไม่มีการดำเนินการดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นว่า จะไม่มีการขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ แต่กลับเปิดร้านขายยาตามปกติ ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยเจตนาที่จะขายยาทุกประเภทที่อยู่ในร้าน รวมถึงยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษด้วย จึงต้องถือว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยมีไว้เพื่อขายซึ่งยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ ซึ่งอยู่ในความหมายของคำว่า “ขาย” ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 32 ประกอบมาตรา 4 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นความผิดต่อเมื่อร้านขายยานั้นไม่ได้รับใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน หรือผู้ได้รับใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันได้ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษจริง ๆ ในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่กรณีมีไว้เพื่อขายนั้น เห็นว่า คำว่า “ขาย” ในพระราชบัญญัติยาหมายความว่า ขายปลีก ขายส่ง จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการมีไว้เพื่อขายด้วย ฉะนั้น การขายหรือมีไว้เพื่อขายยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่จึงถือเป็นความผิดอย่างเดียวกันโดยไม่จำเป็นต้องมีการขายจริง

เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ มีนาย ก. เป็นเภสัชกรควบคุมการขายยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษประจำร้านในเวลา 17.00-20.00 น. แต่ในวันเกิดเหตุจำเลยเปิดร้านขายยาโดยมียาอันตรายและยาควบคุมพิเศษอยู่ในร้าน และไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ประจำร้าน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานผู้รับอนุญาตขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 32 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

ดังกล่าวข้างต้นคือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14905/2556 ที่ผู้เขียนได้รับความเอื้อเฟื้อสำเนาคำพิพากษาจาก ภญ.ช้องมาศ นิติศฤงคาริน ท่านนายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ถือว่าเป็นคำพิพากษาที่เป็นประโยชน์ต่อเภสัชกรชุมชนและผู้ประกอบการร้านขายยาที่จะได้ศึกษาเชิงลึกถึงความพิสดารของการขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรชุมชนโดยตรง ประการสำคัญที่สุดคือ ความผิดตามลักษณะที่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมข้างต้นนี้เป็นความผิดตามกฎหมายยาเท่านั้น ส่วนความผิดของตัวเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านยาแห่งนี้ ยังต้องว่ากล่าวกันอีกในเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมต่อไป ทั้งนี้เพราะว่านิยามของวิชาชีพเภสัชกรรมนั้นมีอยู่ว่า

วิชาชีพเภสัชกรรม” หมายความว่า วิชาชีพที่เกี่ยวกับการกระทำในการเตรียมยา การผลิตยา การประดิษฐ์ยา การเลือกสรรยา การวิเคราะห์ยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยา การปรุงและจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ รวมทั้งการดำเนินการปรุงยาและการขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา

ความหมายของ “การขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา” นี้ หมายความรวมถึง “ยา” ทุกชนิดที่อยู่ในกำกับดูแล หรือการควบคุมดูแลของเภสัชกร ทั้งนี้หมายถึงยาในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510; พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518; พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพราะว่ากฎหมายทั้ง 3 ฉบับได้บัญญัติไว้ถึงหน้าที่ของเภสัชกรไว้ด้วยอย่างแจ้งชัด จึงเห็นได้ว่า หากเภสัชกรผู้มีหน้าที่ได้ปฏิบัติได้กระทำผิดต่อการขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา 3 ฉบับนี้ ย่อมอยู่ในนิยามของวิชาชีพเภสัชกรรม และเกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณวิชาชีพ

ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ คืออะไร

ในกฎหมายยา มาตรา 32 บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรหรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่” ลองมาติดตามดูว่ายาอันตรายและยาควบคุมพิเศษคือยาอะไร

ในกฎหมายยาบัญญัติศัพท์ “ยาอันตราย” ไว้ว่า หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาอันตราย และ “ยาควบคุมพิเศษ” หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาควบคุมพิเศษ

เห็นได้ว่า ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษนั้น เป็นได้ทั้งยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับสรรพคุณการรักษาหรือพิษของยาว่าจะอันตรายจริงหรือไม่ ยาตัวใดจะถือว่าเป็นยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษจะต้องออกเป็นประกาศกฎกระทรวงโดยรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีที่มีอำนาจรักษาการกฎหมายยานี้คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั่นเอง กฎกระทรวงนี้เป็นอำนาจทางบริหารที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสามารถออกแก้ไขเพิ่มเติมได้ตลอดเวลาตามคำแนะนำของคณะกรรมการยา โดยขึ้นกับความเหมาะสมของสภาพสังคม วิทยาการใหม่ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการขายยาและเภสัชกรชุมชนที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ยาใดที่อยู่ในครอบครองเป็นยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ เพื่อจะได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายยาตลอดเวลา

ยาใดบ้างที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ

ในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ กฎหมายห้ามมิให้มีการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เภสัชกร ดังนั้น ยาหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ร้านยาย่อมขายได้ตามปกติ ยาต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น

“ยาใช้ภายนอก” หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่มุ่งหมายสำหรับใช้ภายนอก ทั้งนี้ไม่รวมถึงยาใช้เฉพาะที่

“ยาใช้เฉพาะที่” หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่มุ่งหมายใช้เฉพาะที่กับหู ตา จมูก ปาก ทวารหนัก ช่องคลอด หรือท่อปัสสาวะ

“ยาสามัญประจำบ้าน” หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาสามัญประจำบ้าน

“ยาบรรจุเสร็จ” หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่ได้ผลิตขึ้นเสร็จในรูปต่าง ๆ ทางเภสัชกรรม ซึ่งบรรจุในภาชนะหรือหีบห่อที่ปิดหรือผนึกไว้ และมีฉลากครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้

“ยาสมุนไพร” หมายความว่า ยาที่ได้จากพฤกษชาติ สัตว์ หรือแร่ ซึ่งมิได้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ

นอกจากนี้แล้ว ยังมีพวกเครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคอื่น เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ใบมีดโกน หวี แว่นกันแดด เหล่านี้ก็เป็นสินค้าที่อยู่นอกรายการของยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษเช่นกัน

ความหมายของคำว่า “ขาย” ในกฎหมายใกล้เคียงกับกฎหมายยา

การส่งมอบให้โดยยังไม่มีการชำระเงินค่าสินค้าก็ถือเป็นการขายสำเร็จแล้ว ดังในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7095/2542 พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4บัญญัติว่า ขาย หมายความรวมถึง ส่งมอบ ดังนี้การที่จำเลยตกลงขายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้ผู้ซื้อถึงขั้นส่งมอบเมทแอมเฟตามีนแล้ว แม้ผู้ซื้อยังไม่ได้ชำระราคาก็เป็นความผิดฐานขายเมทแอมเฟตามีนสำเร็จ โดยมิพักต้องวินิจฉัยในแง่กฎหมายแพ่ง

แม้การซื้อนั้น ผู้ซื้อจะมิได้ประสงค์จะซื้อไปใช้ หรือนำของกลางนั้นไปใช้เอง เช่น ใช้ให้เด็กหรือคนงานมาซื้อให้ แล้วทางร้านมีการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษนั้นไป ก็ถือว่าเป็นการขายสำเร็จแล้ว ดังในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2542 ธนบัตรของกลางเป็นพยานวัตถุที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย แม้จะมิได้ลงบันทึกประจำวันไว้ โจทก์ก็อ้างเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 226 เพราะไม่มีกฎหมายห้าม แผนที่เกิดเหตุเป็นเพียงพยานเอกสารจำลองถึงที่เกิดเหตุตามที่พนักงานสอบสวนได้จัดทำขึ้น แม้จะมีระเบียบให้พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นเพื่อประกอบคดี แต่ถ้าพนักงานสอบสวนมิได้จัดทำก็หาทำให้พยานหลักฐานอื่นที่โจทก์นำสืบเสียไปแต่อย่างใดไม่ หากพยานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยได้โดยไม่จำต้องมีแผนที่เกิดเหตุ การที่จำเลยเอาเมทแอมเฟตามีนมาขายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ แม้สายลับจะไม่มีเจตนาซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยมาเพื่อเสพหรือแสวงหาประโยชน์อื่นใดจากเมทแอมเฟตามีนก็ถือว่าจำเลยได้ขายเมทแอมเฟตามีนตามบทนิยามคำว่าขายที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4 แล้ว

อุทาหรณ์ที่น่าศึกษาคือ แม้ยังมิได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ แต่ว่าผู้ขายได้รับชำระเงินค่าสินค้าไว้แล้ว กรณีนี้ก็ถือว่าเป็นการซื้อขายสำเร็จแล้ว ดังในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4490/2541 จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อขายให้แก่สายลับ โดยขณะจำเลยถูกจับ จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ก็เพื่อขายให้แก่สายลับตามที่จำเลยได้รับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนจากสายลับไปแล้วนั่นเอง แม้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายเมทแอมเฟตามีนแก่สายลับก็มีผลไม่แตกต่างกัน เนื่องจากคำว่า ขาย รวมความหมายถึงจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ส่งมอบหรือมีไว้เพื่อขายด้วย ตามคำจำกัดความของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สายลับขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย จำเลยรับเงินแล้วแต่ยังไม่ได้มอบเมทแอมเฟตามีนแก่สายลับเนื่องจากขณะนั้นจำเลยไม่มีเมทแอมเฟตามีนขายให้ การขายจึงยังไม่เกิดขึ้น ฟังไม่ได้ว่าจำเลยขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องนั้นย่อมเป็นการไม่ถูกต้อง

ในกฎหมายยานิยามคำว่าขายในขอบเขตเพียง “...ให้หมายความรวมถึงการมีไว้เพื่อขายด้วย” ตีความได้ว่าถ้ามีการครอบครองยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษให้ถือว่าเป็นการขายด้วย โดยมิได้ระบุว่าการมียาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษนั้นถือว่าเป็นความผิด ดังนั้น หากมีการขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่ได้อยู่ปฏิบัติการ ถือว่าเป็นความผิดฐานขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น จึงเป็นความผิด ฐาน “ขายฯ” ประการเดียว ซึ่งแตกต่างจากการครอบครองและการขายในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่ถือว่าเป็นความผิดต่างกรรมกัน ดังในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3799/2541 การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ลักษณะของการกระทำแตกต่างกัน เป็นการกระทำต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ ทั้งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ไม่ได้นิยามความหมายของคำว่าจำหน่ายว่า ให้มีความหมายรวมถึงการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ดังนี้แสดงว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มุ่งประสงค์จะลงโทษการมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษทั้งสองกรณี การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยก็มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกระทงหนึ่งแล้ว ครั้นจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไปบางส่วนให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ จำเลยก็มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยมิได้เป็นความผิดกรรมเดียว

ความพิสดารของการขายยา

ยาเป็นสินค้าที่มีคุณอนันต์และมีโทษมหันต์ ผลิตภัณฑ์สินค้าอื่นเมื่อผู้ผลิตทำสำเร็จแล้วก็นำออกสู่ตลาดขายให้ผู้บริโภคได้เลย แต่ยา (ทุกตำรับ) นั้นจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับทะเบียนอนุญาตเสียก่อนจึงจะนำมาขายได้ และจะต้องขายในร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตแล้วเท่านั้น (ยกเว้นยาบางประเภทที่กฎหมายยายกเว้นให้ เช่น ยาสามัญประจำบ้าน ยาสมุนไพร) ที่พิสดารขึ้นมาอีกคือ แม้จะเป็นยาที่มีในร้านขายยาแล้ว ยาก็ยังถูกจัดแบ่งออกเป็นหลายประเภทอีก ประเภทของยาที่ถูกจัดให้เข้มงวดในการขายคือ ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษที่จะต้องขายภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเท่านั้น แม้แต่เจ้าของร้าน บุคคลอื่นในร้านจะขายเองก็ไม่ได้ถ้าเภสัชกรไม่อยู่ในขณะมีการขายนั้น ความพิสดารต่อมาคือ การขายตามกฎหมายยานี้ให้หมายความรวมทั้งการให้ฟรี การแลกเปลี่ยนยากันในร้าน หรือการเก็บยา (ทุกชนิด) ในสถานที่ขายยานั้น กฎหมายให้ถือว่าเป็นการขายยาด้วย สิ่งที่พึงสังวรตามนิยามขายยานี้คือ แม้จะเป็นตัวอย่างยาที่บริษัทยาให้มา สินค้ายาที่หมดอายุ (จะเก่าเก็บโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม) สินค้ายาที่ชำรุด มีฉลากหรือเลขทะเบียนไม่สมบูรณ์ครบถ้วน สินค้าดังกล่าวเหล่านี้ ถ้ามีอยู่ในครอบครองของร้านจึงถือว่าเป็นการมีไว้เพื่อขายทั้งสิ้น ถ้าวันดีคืนร้ายมีเจ้าหน้าที่ไปขอตรวจและพบสินค้าเหล่านี้จะเป็นความผิดฐานขายยาเสื่อมคุณภาพ ขายยาปลอมได้อีกหลายกระทง

ดังกล่าวแล้วนี้ เป็นความพิสดารของคำว่า “ขาย” ในกฎหมายยา แล้วเราจะดำเนินกิจการร้านขายยาของเราให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีความมั่นคงเจริญก้าวหน้า รวมทั้งจะป้องกันความผิดพลาดจากการประมาทเลินเล่อเหล่านี้ได้อย่างไร มีเคล็ดลับที่ไม่ลับเพียงนิดเดียว นิดเดียวจริง ๆ นั่นคือ ปฏิบัติตามหลักการที่ดี 5 ข้อของร้านยาคุณภาพ เพื่อให้ร้านยาของเราเป็น “ร้านยาคุณภาพ” เท่านั้นเอง
 

บรรณานุกรม :

พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 76 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาระบุ

(1) ตำรายา

(2) วัตถุที่เป็นยา

(3) ยาที่เป็นยาอันตราย

(4) ยาที่เป็นยาควบคุมพิเศษ

(5) ยาที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน

(6) ยาที่เป็นยาแผนโบราณ

(7) ยาที่ต้องแจ้งกำหนดสิ้นอายุไว้ในฉลาก

(8) อายุการใช้ของยาบางชนิด

(9) ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยา และข้อความของคำเตือน