ภก.ปรีชา หนูทิม

ภก.ปรีชา หนูทิม
อ่อนน้อมถ่อมตน ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

โครงการคัดเลือกคนดีศรีสาธารณสุขและหน่วยงานดีเด่นด้านการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี พ.ศ. 2556 เป็นโครงการที่แก้วกัลยาสิกขาลัย สถาบันพระบรมราชชนก จัดทำขึ้นเพื่อสรรหาบุคลากรสาธารณสุขที่มีจรรยาบรรณที่ดีงาม มีผลงานดีเด่น ยึดมั่นในคุณธรรมและศีลธรรมอันดี ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อุทิศตนและสามารถปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีมนุษยสัมพันธ์อันดี มีน้ำใจเอื้ออาทร และเป็นแบบอย่างที่ดีงาม รวมถึงยังเป็นการยกย่องเชิดชูประกาศเกียรติคุณ สร้างขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจแก่ผู้ได้รับการคัดเลือก เป็นแรงบันดาลใจให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในการทำความดี ยึดถือเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตนและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานและประชาชนเป็นอย่างดี โดยบุคคลผู้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีและทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมสมควรแก่การได้รับรางวัลคนดีศรีสาธารณสุข ประจำปี พ.. 2556 ได้แก่ ภก.ปรีชา หนูทิม รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย (ด้านบริหาร) และรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ภก.ปรีชา เป็นคนจังหวัดพัทลุง สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้นจึงไปทำงานด้านการผลิตยาและงานแพทย์แผนไทยที่โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จนเป็นที่รู้จักและได้พัฒนาการผลิตยาแผนไทยอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะย้ายมาทำงานที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จนปัจจุบันการผลิตยาของโรงพยาบาลอู่ทองได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP

สำหรับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกนั้น ภก.ปรีชา กล่าวว่า ผมดูแลทางด้านงานวิจัย เนื่องจากในขณะนั้นงานด้านการแพทย์แผนไทยยังไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังไม่เคยมีงานวิจัยมาก่อนเลย ซึ่งโดยส่วนตัวถ้าถามผมว่าชอบงานวิจัยหรือไม่ ผมตอบได้ทันทีว่าไม่ ผมไม่เคยชอบงานวิจัยและไม่อยากทำ แต่เมื่อต้องมารับผิดชอบจึงได้เริ่มศึกษาใหม่ทั้งหมด โดยผมได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (The Ethic Committee for Research in Human Subjects in the Fields of Thai Traditional and Alternative Medicine) โดยสาเหตุที่เราต้องจัดตั้งสำนักงานฯ ขึ้นเองนั้น เนื่องจากในการศึกษาวิจัยของแพทย์แผนไทยนั้นจะนำไปเทียบกับแผนปัจจุบันไม่ได้ และเมื่อเรามีสำนักงานและคณะกรรมการแล้วแต่เราก็ยังประสบกับปัญหาคือ ขาดข้อมูลงานวิจัย รวมถึงสถานที่ทำการวิจัย เพราะไม่มีโรงพยาบาลใดที่จะรับให้เราทดลองยาสมุนไพร ด้วยเหตุนี้จะทำอย่างไรที่จะทำให้สมุนไพรไทยได้รับการรับรอง เราจึงต้องจัดให้มีการฝึกอบรม จัดประชุมเพื่อให้งานทางด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นที่รู้จักและยอมรับ

“สมัยที่เริ่มต้นนั้นยอมรับว่าไม่รู้อะไรเลย เพราะตอนนั้นพี่หัวหน้าก็ลาไปศึกษาต่อ ส่วนหัวหน้าอีกคนหนึ่งก็ลาออก เนื่องจากทิศทางยังสับสนจึงเหลือแต่เฉพาะเด็กใหม่ซึ่งมีเจ้าพนักงานสาธารณสุข 3 คนรวมทั้งผม และลูกจ้างอีก1 คน ในความรู้สึกตอนนั้นรู้สึกสับสนว่าเราจะเดินไปในทิศทางใด เนื่องจากงานวิจัยก็ไม่มี อีกทั้งจะเขียนโครงการเพื่อจัดฝึกอบรมเครือข่ายด้านการแพทย์แผนไทยก็ทำไม่เป็น แต่ผมก็ไม่ย่อท้อ พยายามเรียนรู้จัดทำกันมาเรื่อย ๆ เริ่มจากการทำวิจัยง่าย ๆ โดยผมเป็นผู้ดูแลคลินิกต้นแบบของสถาบันการแพทย์แผนไทย ซึ่งโครงการแรกที่เริ่มทำคือ สำรวจการใช้สมุนไพรของหมอพื้นบ้านแม้ว่าจะมีสำนักการแพทย์พื้นบ้านไทยทำอยู่ก็ตาม แต่ยังไม่มีรูปแบบการเก็บข้อมูลที่ชัดเจน ผมจึงจัดทำบัญชียาสมุนไพรเป็นรูปธรรมขึ้น จากนั้นจึงค่อยพัฒนาองค์ความรู้มาเรื่อย ๆ”

ภก.ปรีชา กล่าวถึงการปรับตัวเพื่อผ่านปัญหาและอุปสรรคในช่วงนั้นให้ฟังเพิ่มเติมว่า สำหรับการปรับตัวยอมรับว่ากว่าจะผ่านตรงจุดนี้ยากมาก เพราะตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยเขียนโครงการเลย รู้สึกงงมาก เขียนโครงการเพื่อของบประมาณในปีแรก ไม่ได้เงินเลยสักบาท แต่ด้วยความที่เราเป็นเด็กมีความนอบน้อม จากประสบการณ์ที่เคยทำงานในโรงพยาบาลเมื่อจบใหม่เรามีความตั้งใจในการทำงาน แต่ด้วยบุคลิกและความตั้งใจมากจึงทำให้ดูเป็นคนก้าวร้าวและได้รับการต่อต้านในช่วงแรก แต่เมื่อเราปรับตัวใช้ความอ่อนน้อมด้วยการสวัสดีและให้ความเคารพกับผู้สูงอายุนั้นสามารถเปลี่ยนทุกอย่างได้ ผมคิดว่าสิ่งเดียวที่เราจะเอาใจคนได้คือ การยิ้มทักทาย ยกมือสวัสดี และการให้ความเคารพ ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตามต้องให้เกียรติ ผมนำสิ่งที่เกิดในโรงพยาบาล ความทุกข์ไม่สบายใจ และการแก้ปัญหาในช่วงนั้นนำมาใช้ที่กรมฯ คือการสวัสดีทักทาย นอบน้อมถ่อมตน เราจะได้รับความเมตตาช่วยเหลือจากทุกคนจนทุกอย่างผ่านไปด้วยดี

นอกจากบทบาทหน้าที่ในการดูแลการทำวิจัยแล้ว ภก.ปรีชา ยังรับผิดชอบด้านนิเทศของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนด้วย โดย ภก.ปรีชา กล่าวว่า สำหรับการทำงานในกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกนั้น เนื่องจากกรมฯ เป็นหน่วยงานส่วนกลางมีหน้าที่หลักคือ การวางแผนจัดทำนโยบาย ดังนั้น หน้าที่ของเราคือการนำงานของกรมฯ ที่ถูกบูรณาการมาถ่ายทอดสู่การปฏิบัติ โดยในส่วนกลางและต่างจังหวัดต้องทำควบคู่กันไป โดยมีเราเป็นคนเชื่อมงานระหว่างผู้ปฏิบัติว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคอย่างไรบ้างเพื่อนำมาเสนอในกรมฯ เพื่อหาทางช่วยเหลือและแก้ไข เป็นการกำกับติดตามงานช่วยประสานระหว่างกรมฯ กับภูมิภาค หรือโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“ทั้งนี้ผมเป็นคนไม่เคยปฏิเสธงานที่ผู้ใหญ่มอบหมายให้ แม้จะไม่ใช่งานทางด้านเภสัชกรรมก็ตาม ผมจะลองศึกษาทำก่อนและถ้าทำไม่ได้หรือมีปัญหาก็จะรายงานให้ผู้ใหญ่ทราบ โดยผมจะไม่โทษสิ่งแวดล้อมหรือโทษอะไร เนื่องจากผมคิดเสมอว่า เรามีหน้าที่อย่างไรก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นผมจะมีคำขวัญประจำตัวเพียงอย่างเดียวคือ ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด ผมพอใจและภูมิใจที่ทำงานตรงนี้ ผมมีความสุขกับการทำงานมาก ซึ่งจะต่างจากความรู้สึกในสมัยก่อนที่เวลาลงพื้นที่คนมักจะถามว่ากรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นอย่างไร รู้สึกไม่มีความสุขที่จะไป ต่างจากปัจจุบันมีความสุขเพราะคนยอมรับมากขึ้น แต่เราก็ยืนหยัดและภูมิใจเพราะเราเป็นตัวแทนของกรมฯ ที่ทำเพื่อประชาชนไม่ใช่เพื่อสิ่งของหรืออะไร ส่วนตัวแม้ผมจะเหนื่อยก็ตามแต่ผมจะบอกกับน้อง ๆ ในทีมงานถึงเหตุผลในการลงชุมชนเสมอว่าในสักวันหนึ่งถ้าผมรู้สึกอิ่มตัวหรือไม่ได้ทำตรงจุดนี้แล้ว เราก็จะไม่มีโอกาสได้กลับมาทำแล้ว เพราะฉะนั้นในเวลานี้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้จะขอทำให้ดีที่สุด”

ภก.ปรีชา ยังกล่าวถึงปัญหาด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้ฟังว่า เนื่องจากเราชินกับการแพทย์แผนปัจจุบันมานาน ในขณะที่แพทย์แผนปัจจุบันเจริญก้าวหน้ามากขึ้นเท่าไร แพทย์แผนไทยก็ถูกปิดกั้น เป็นระยะเวลาหลายสิบปีแล้วที่แพทย์แผนไทยไม่ได้รับการยอมรับในระบบบริการสาธารณสุข ทำให้การเชื่อมต่อตรงจุดนี้หายไป รวมถึงภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยที่สืบต่อกันมาส่วนใหญ่จะเป็นความลับที่แฝงอยู่ในภูมิปัญญา ไม่ได้มีการจดบันทึกที่ชัดเจน ทำให้การดึงกลับมาจึงค่อนข้างยาก ซึ่งตอนนี้ผมพยายามร่วมมือกับเพื่อนเพื่อบูรณาการทางด้านการแพทย์แผนไทยกับการแพทย์แผนปัจจุบันเข้าด้วยกัน แม้ว่าปัจจุบันนี้การจัดตั้งคลินิกแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไปจะค่อนข้างยากเนื่องจากระบบที่ซับซ้อน อีกทั้งการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันก็อัดแน่นในโรงพยาบาลแล้วก็ตาม แต่เราก็พยายามขับเคลื่อนไป ขณะนี้เราเข้าไปส่งเสริมให้มีคลินิกแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลส่งเริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชน โดยทำร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการบูรณาการแพทย์แผนไทยให้เกิดในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงพยายามสร้างเครือข่ายสหวิชาชีพช่วยกัน

“ข้อดีในการรักษาด้วยวิธีการแพทย์แผนไทยถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีคุณภาพที่มาช่วยเสริมด้านการรักษา เพราะทุกคนก็อยากจะมีทางเลือกของชีวิตไม่ใช่เดินเพียงทางเดียว ไม่เช่นนั้นวันหนึ่งอาจจะถึงทางตัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทางเลือกก็จะต้องมีมาตรฐาน แนวทางไกด์ไลน์ (Guideline) ที่ชัดเจน และถ้ายิ่งช่วยเสริมกันได้ก็ยิ่งดี ด้วยเหตุนี้ข้อดีของการแพทย์แผนไทยคือ เพิ่มอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ป่วยหรือประชาชนในการเลือกที่จะดูแลสุขภาพอีกแบบหนึ่ง”

สุดท้ายนี้ ภก.ปรีชา ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้ฟังว่า ทุกคนภูมิใจในความเป็นไทย ภูมิใจในสมุนไพรของชาติ ทุกคนยอมรับในสิ่งนี้ แต่ในการตัดสินใจในเวลาที่ไม่สบาย ถ้าจะถามว่าให้ใช้สมุนไพรรักษาหรือไม่ ส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่ แม้กระทั่งตัวเราเองต้องยอมรับว่าเราก็ลังเล เพราะฉะนั้นอย่าหวังว่าคนอื่นจะไม่ลังเล เนื่องจากทุกวันนี้เราอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลซึ่งแพทย์แผนไทยยังขาดทั้งข้อมูลและอะไรอีกหลายอย่าง เมื่อถึงวินาทีสุดท้ายที่ต้องเลือกจึงยากในการตัดสินใจ ซึ่งถ้าถามความเห็นส่วนตัว ผมมองว่าการแพทย์แผนไทยดีแต่ต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ เพราะถ้าเราเอากลไกทางวิทยาศาสตร์มาจับด้านการแพทย์แผนไทยก็เป็นการอยุติธรรมกับแพทย์แผนไทยเกินไป ดังนั้น แพทย์แผนไทยจึงต้องหากลไกหนึ่งกลไกที่สามารถอธิบายให้แก่แพทย์แผนปัจจุบันเพื่อให้เขาเข้าใจให้ได้ ซึ่งการที่จะอธิบายได้ เราต้องศึกษา ต้องมีขั้นตอนการวิจัยที่ชัดเจนน่าเชื่อถือที่ได้ตามมาตรฐาน ถ้ามีสิ่งนี้ทุกคนก็จะยอมรับ ซึ่งคิดว่าทั้งสองอย่างสามารถผสมผสานกันได้ ไม่มีอะไรดีหรือแย่ที่สุด