คำถามสำคัญกว่าคำตอบ

ภก.วิสุทธิ์ สุริยาภิวัฒน์

คำถามสำคัญกว่าคำตอบ

ถามเรื่อง "ความร่ำรวย" เราก็จะหาคำตอบเรื่องความรวย ถามเรื่อง "ความสุข" เราก็จะหาคำตอบเรื่องความสุข "คำถาม" จึงเป็นการบอก "ทิศ" ส่วน "คำตอบ" เป็นเพียงการบอก "ทาง" ถ้า "ทิศ" ผิด "ทาง" ก็ไม่มีวันถูกต้อง โลกนี้จะ "สุข" หรือ "ทุกข์" อยู่ที่เราตั้งคำถามกับชีวิตอย่างไร "Imagination is more important than knowledge" – จินตนาการสำคัญกว่าความรู้

คำถามเปลี่ยนชีวิต

มีปริศนาที่อยากให้ช่วยกันเฉลยหน่อย "ทำไมนกกระยางจึงยืนขาเดียวเวลาหลับ" ถ้าครุ่นคิดอยู่นานแล้วเรายังคิดไม่ออก นั่นเพราะเรามัวแต่จะถามตัวเองใช่ไหมว่า...ทำไมมันยืนขาเดียว ทำไมมันไม่ยืนสองขา ทีนี้ลองเปลี่ยนมาถามตัวเองใหม่สิว่า... ทำไมมันหดขาเดียว ทำไมมันไม่หดสองขา เท่านี้แหละ คำตอบก็มาทันทีว่า "ถ้ามันหดทั้งสองขา มันก็ล้มนะสิ" ปริศนาข้อนี้ตอบได้ง่ายหากเราเปลี่ยนมุมมอง หรือตั้งคำถามเสียใหม่ นกกระยางขาเดียวกับนกกระยางหดขาเดียว ที่จริงก็คือสิ่งเดียวกัน แต่เป็นภาพอันเกิดจากมุมมองที่ต่างกัน และสามารถชักนำความคิดของเราไปคนละทิศละทางได้ การเปลี่ยนคำถามหรือมุมมองมีผลเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราได้

คงมีหลายครั้งที่เรารู้สึกเศร้าสร้อยน้อยใจ เฝ้าแต่บ่นในใจว่า "ทำไมคนอื่นเขาจึงไม่ยอมเข้าใจเราเลย" การตอกย้ำกับตัวเองด้วยความคิดอย่างนี้ ไม่ได้ทำให้ปัญหามันดีขึ้นเลยและมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ นอกจากตัวเองจะทุกข์แล้วยังทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแย่ลงไปอีก ลองเปลี่ยนมุมมองหรือตั้งคำถามใหม่สิว่า "แล้วตัวของเราเองล่ะ ได้มีความเข้าใจคนอื่นเขาบ้างหรือเปล่า" การถามแบบนี้อาจช่วยให้เราพบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาก็ได้ เพราะอันที่จริง เราเองก็คงไม่ได้เข้าใจคนอื่นเขาเหมือนกัน สัมพันธภาพของผู้คนในสังคมมักมีปัญหาเพราะทุกคนคิดแต่จะเรียกร้องให้คนอื่นเข้าใจตนเอง แต่ไม่พยายามหรือแม้กระทั่งคิดที่จะเข้าใจคนอื่น ถึงตรงนี้คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่า "ทำไมเขาไม่เข้าใจเรา" แต่อยู่ที่ "ทำไมเราถึงไม่เข้าใจเขา" และ "ทำอย่างไรเราถึงจะเข้าใจเขาได้" ในทำนองเดียวกัน สำหรับคนที่ชอบบ่นในใจว่า "ทำไมฉันถึงได้โชคร้ายอยู่ตลอดอย่างนี้" หากเปลี่ยนมาถามตัวเองว่า "ทำอย่างไรฉันจึงจะโชคดีขึ้นมาได้" เขาอาจได้คิดและลุกขึ้นมาสู้ใหม่ ไม่ท้อแท้ หรืองอมืองอเท้าเหมือนเดิมอีกต่อไป

การรู้จักตั้งคำถามเป็นศิลปะสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต ทุกวันนี้เราถูกสอนให้สนใจคำตอบจนลืมว่า คำถามนั้นสำคัญกว่าคำตอบมาก คำถามนั้นเป็นตัวกำหนดคำตอบ พูดอีกอย่างก็คือ คำถามเป็นตัวกำหนดความคิดและการกระทำของเรา ถ้าตั้งคำถามผิดก็พาความคิดของเราหลงทาง พาชีวิตพลาดเป้าหมายไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น คนส่วนมากชอบถามในใจเวลามีงานกองอยู่ข้างหน้าว่า "ฉันจะทำได้หรือ" คำถามอย่างนี้ชวนให้ท้อ เหนื่อยหน่าย ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือทำงาน แต่ความรู้สึกของเขาจะเปลี่ยนไปทันที หากเขาถามตัวเองใหม่ว่า "ทำไมฉันจะทำไม่ได้และฉันจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร" อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งอุปสรรคไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า ทำได้หรือไม่ได้ หากอยู่ที่แรงจูงใจ มีคำถามหนึ่งซึ่งคุณหมอประเวศ วะสี บอกว่าเป็นคำถามที่น่าเกลียดที่สุด แต่เป็นคำถามที่กำลังระบาดไปทั่วสังคมไทย นั่นก็คือ คำถามว่า "ทำแล้วฉันจะได้อะไร" คำถามอย่างนี้ทำให้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น ทำให้เป็นคนใจแคบ และหาความสุขได้ยาก จะไม่ดีกว่าหรือหากเราถามใหม่ว่า "ทำแล้วส่วนรวม (หรือสังคม) จะได้อะไร" การคำนึงถึงส่วนรวม โดยเริ่มต้นจากคำถามแบบนี้จะช่วยให้สังคมไทยน่าอยู่มากขึ้น และคนที่เสียสละเพื่อส่วนรวมก็จะได้ไม่ต้องมาคอยตอบคำถามของญาติมิตรว่า "ทำแล้วเธอได้อะไร" หรือถูกตั้งข้อสงสัยว่า "ได้ไปเท่าไหร่" การถามว่า ใคร กับ ทำไม ให้ผลที่แตกต่างกันมาก เวลาเกิดเหตุร้ายขึ้นมา คนส่วนใหญ่มักสนใจว่า ใครทำ แต่ไม่ค่อยถามว่า ทำไมเขาจึงทำ คำถามแรกนั้นเพียงแต่สนองความอยากรู้อยากเห็น แต่คำถามหลังช่วยให้เห็นสาเหตุของปัญหา และอาจนำมาเป็นบทเรียนแก่ตนเองได้ คุณโสภณ สุภาพงษ์ เล่าว่า ตอนที่ไปบริหารโรงกลั่นน้ำมันบางจากใหม่ ๆ โรงกลั่นอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก อุบัติเหตุเกิดขึ้นประจำ ขาดทุนมหาศาล ขณะที่ขวัญของพนักงานไม่ดีเพราะมีปัญหาสืบเนื่องจากเจ้าของเดิม คุณโสภณเล่าว่า เวลาเกิดอุบัติเหตุในโรงกลั่นจะไม่ถามพนักงานว่า "ใครทำ" แต่จะถามว่า "ทำไมถึงเกิดขึ้น" วิธีการดังกล่าวมีผลคือ ทำให้พนักงานช่วยกันหาสาเหตุและวิธีป้องกันแก้ไข แทนที่จะซัดทอดหรือกล่าวโทษกัน ซึ่งมีแต่จะทำให้แตกความสามัคคีกันมากขึ้น ในเวลาไม่นาน โรงกลั่นก็แทบไม่มีอุบัติเหตุเลย กำไรก็เพิ่มมากขึ้นจนมีสถานะมั่นคง ส่วนพนักงานก็ทำงานอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คงไม่มีคำถามใดสำคัญเท่ากับคำถามเกี่ยวกับชีวิตจิตใจของเราเอง ถ้าเราเริ่มรู้สึกเหนื่อยอ่อนกับการถามตัวเองไม่รู้จบว่า "เมื่อไหร่ฉันถึงจะรวยเสียที" ลองเปลี่ยนมาเป็นคำถามว่า "เมื่อไหร่ฉันถึงจะพอเสียที" ลองย้อนกลับมาดูรอบตัวเรา ตอนนี้เรามีกินมีใช้มากกว่าคนรอบกายเรามากมายอยู่แล้ว แต่ยัง (มีความรู้สึก) ไม่พอใจเสียที เพราะเอาแต่ชะเง้อมองคนอื่นที่มีมากกว่า การรู้จักพอโดยนิสัยพึงพอใจไว้เสมอในสิ่งที่ตนมีอยู่แล้ว แล้วเราจะพบกับความสมบูรณ์ (ร่ำรวย) ชนิดที่ไม่มีใครสามารถมาแย่งชิงได้

ในอดีต ความรู้ที่เป็นคำตอบรูปนั้นมีน้อย ดังนั้น ผู้ที่ศึกษาหาความรู้และสามารถหาคำตอบได้เร็วก็จะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้มากกว่า แต่ในยุคปัจจุบันนี้ เราก้าวเข้ามาถึงยุคความรู้ท่วมจอ (คอมพิวเตอร์) อาจารย์กูร์ (google) ดูจะเป็นครูที่ความรู้มากที่สุดคนหนึ่ง เป็นครูที่มีคนถามมากทั่วโลก เราเข้ามาสู่ยุคที่คำตอบหาง่าย ดังนั้น ความแตกต่างของการเรียนรู้จึงไม่ได้อยู่ที่คำตอบแล้วในโลกปัจจุบัน หากแต่อยู่ที่คำถามต่างหาก ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงตั้งแต่ในอดีต แต่ในปัจจุบันมันมีความเด่นชัดยิ่งขึ้น ผู้ที่ตั้งคำถามได้ถูก ตั้งคำถามได้ดีก็จะเป็นผู้ที่ได้ความรู้ที่มีอยู่แล้ว เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด การเรียนเพื่อท่องจำ เพื่อหาคำตอบจึงล้าสมัย สูตรสำเร็จการทำข้อสอบได้เก่งจึงเป็นสิ่งที่วัดคุณภาพคนได้ยาก... ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด เป็นสุภาษิตที่เหมาะกับกาลสมัยเสมอ ผู้ที่มีจินตนาการ รู้จักสังเกต รู้จักตั้งคำถามจะเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าเสมอ เพราะความรู้มิได้จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียนและการสอบอีกต่อไปแล้ว

คำถามคือ ทิศ คำตอบคือ ทาง

หากตั้งคำถามได้แล้วจะมีผลให้ได้คำตอบที่มีคุณค่าเสมอ คำตอบนั้นจะไม่ใช่เพียงแต่ว่าตอบถูก หรือตอบผิด แต่คำถามนั้นจะเป็นผู้ชี้ “ทิศ” เพื่อที่จะได้ไปสู่คำตอบใน “ทาง” ที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงของผู้ตั้งคำถามหรือไม่ต่างหาก สมมติว่าจะมีโครงการการสร้างเขื่อนในจังหวัดหนึ่ง หากตั้งคำถามว่า ควรสร้างเขื่อนในจังหวัดนี้หรือไม่ หนทางแห่งคำตอบก็มีเพียงสร้างกับไม่สร้าง เมื่อมีให้เลือกได้เพียงสองทางก็จะเกิดคนสองฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านการสร้างเขื่อน เกิดความแตกแยกในความคิดเห็นของคนในพื้นที่ แต่ถ้าหากเปลี่ยนคำถามเสียใหม่ โดยตั้งคำถามเป็นว่า เราจะช่วยกันพัฒนาลุ่มน้ำในจังหวัดของเราอย่างไรให้ประชาชนทุกคนมีน้ำใช้กันในหน้าแล้ง แล้วหน้าน้ำหลากไม่เดือดร้อนด้วย คำตอบจาก “ทาง” หลังนี้ ประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์ จึงไม่มีแบ่งแยกเป็นฝ่าย ผลของคำตอบนี้คือไม่เกิดการทะเลาะกัน แต่ทุกคนจะร่วมกันคิดหาทางออก เมื่อทิศถูกต้องแล้ว ทางเดินข้างหน้าก็จะไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ได้ (ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน : http://www.applicadthai.com/business/prapas-talks/question-is-more-important-than-answer#sthash.ZqbPcdKW.dpuf)

อีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ การตั้งคำถามของปัญหาขยะในเมืองใหญ่ ผู้บริหารและนักวิชาการมากมายมักตั้งคำถามว่า “เราจะกำจัดขยะในเมืองให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร” เมื่อถามด้วยคำถามนี้ คำตอบจึงออกมามากมาย เช่น ต้องมีการสร้างเตาเผาขยะที่ทันสมัย ต้องหาที่ฝังกลบให้ถูกสุขอนามัย ต้องทำการแยกขยะก่อนทิ้ง ต้องออกกฎหมายลงโทษคนทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง และคำตอบอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาขยะที่ปลายเหตุ โดยที่ขยะยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทีนี้ถ้าลองตั้งคำถามใหม่เป็นว่า “เราจะลดปริมาณขยะลงได้อย่างไร” จะได้คำตอบเป็นอีกแนวทางที่แตกต่างจากคำถามแรกเป็นอย่างมาก จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่า ประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ยิ่งกว่านั้นอาจทำให้เราเห็นภาพได้ว่า ปริมาณสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลายที่มีในร้านสะดวกซื้อ ในห้างสรรพสินค้า ภายหลังการบริโภคแล้วล้วนเป็นบ่อเกิดของขยะทั้งสิ้น อย่างเช่น นมสดหนึ่งโหลที่บรรจุในภาชนะกล่องเป็นต้นกำเนิดของขยะสิบสองชิ้น เป็นต้น เราจะให้ผู้ผลิตช่วยลดปริมาณขยะเหล่านั้นได้อย่างไร

ในด้านของการเจ็บไข้ได้ป่วย คนไข้จะมีคำถามว่าเขาเป็นอะไร จะหายได้อย่างไร เมื่อไปหาหมอ หมอวินิจฉัยจนได้คำตอบว่าเขาเป็นโรคอะไร แล้วรู้คำตอบว่าต้องจ่ายยาอะไรให้ เมื่อได้รับยาจากเภสัชกร เภสัชกรก็มีคำตอบว่าควรใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย เหล่านี้ล้วนเป็นคำตอบที่ดีระดับหนึ่ง แต่น่าจะมีใครสักฝ่ายหนึ่งตั้งคำถามว่า “แล้วเราจะทำให้คนไข้นั้นไม่ป่วยได้อย่างไร” ด้วยคำถามหลังนี้ บทบาทของคนไข้ บทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่งทันที

ในด้านสาธารณสุข เรามีคำถามว่า “เราจะรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นทุกวันได้อย่างไร” จึงนำพาไปสู่การสร้างสถานพยาบาลอย่างมากมาย ต้องผลิตบุคลากรทางการแพทย์ในทุกสาขา ต้องลงทุนจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา แต่หากมีการตั้งคำถามใหม่ว่า “เราจะให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพที่ดีและไม่ป่วยได้ อย่างไร” จะทำให้ได้คำตอบที่ท้าทายมากกว่า และเป็นการแก้ที่ต้นตอของปัญหา เป็นการ “ลด” จำนวนของผู้ป่วย อันสามารถนำพาไปสู่การลดการสร้างสถานพยาบาล สร้างบุคลากร และลดปริมาณการใช้ยาได้อย่างมากมายมหาศาลด้วย อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในด้านการบริโภค วิถีชีวิตประจำวัน ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

จอห์น ดูวีย์ (John Dewey) นักปรัชญาชาวอเมริกัน กล่าวว่า “การค้นพบในวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ทุกอย่าง เกิดจากจินตนาการที่แรงกล้ากว่าเดิม” (Every great advance in science has issued from a new audacity of imagination.) เมื่อนักวิทยาศาสตร์เกิดจินตนาการ เขาต้องสามารถ “โยง” จินตนาการนั้นให้เชื่อมต่อกับความรู้เดิมที่มีอยู่ด้วยหลักเหตุผล เพื่อให้เกิดการค้นพบเป็น “ความรู้” ขึ้นมาได้ ไม่อย่างนั้นความรู้ก็จะไม่มีวันเกิดจากจินตนาการ เหมือนคนธรรมดาที่ถูกลูกแอปเปิ้ลตกใส่หัวก็อาจจินตนาการว่านี่เป็นการลงโทษจากพระเจ้า เพราะไม่มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ กลศาสตร์ และไม่ได้กำลังคิดเรื่องแรงโน้มถ่วงเหมือนเซอร์ไอแซก นิวตัน ถ้างั้นความขี้เกียจคงเป็นแขนงหนึ่งของจินตนาการ เพราะทำให้คนดิ้นรนหาหนทางที่ง่ายกว่า แต่ให้ผลใกล้เคียงกัน

จินตนาการใช้ได้กับทุกอาชีพ ทุกเรื่อง ทุกอย่างในโลกนี้ที่มีวิวัฒนาการ มีการพัฒนา ก็เกิดจากจินตนาการ อยากมี อยากได้ ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ทั้งนั้น จนคิดค้นสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา ก็ล้วนแต่เริ่มมาจากฝันทั้งนั้น บางคน แค่ฝัน แค่จินตนาการ ไม่มีความรู้ หรือไม่ค่อยจะมี หรือด้อยกว่าคนที่เรียนมาเหมือน ๆ กัน แต่หากเขามีจินตนาการ หรือวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้า แปลก ไม่เหมือนใคร ก็ทำให้ประสบความสำเร็จได้ดีกว่า มีความรู้ไม่มาก แต่ถ้ามีความคิดสร้างสรรค์ ขีด ๆ เขียน ๆ บอกให้คนอื่นทำก็ได้ หรือทำเองก็ได้ เหมือนกับจบชั้นประถมก็ยิ่งใหญ่ได้ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในปัจจุบันคือ นักธุรกิจที่ติดอันดับมีสินทรัพย์มากที่สุดสิบอันดับของไทย โดยเฉพาะในอันดับต้น ๆ ส่วนมากมีการศึกษาเพียงระดับมัธยมเท่านั้น แต่เขาเหล่านี้ล้วนมีจินตนาการในการสร้างอาณาจักรธุรกิจของเขาได้อย่างกว้างไกลและครบวงจรมากกว่ามาก และถ้าจะพูดให้ใกล้วิชาชีพด้านสาธารณสุขเข้ามา พ่อค้ายาทั้งร้านขายยาและโรงงานยา เจ้าของส่วนมากมิได้เป็นบุคคลที่จบการศึกษาด้านสาธารณสุข แต่ด้วยจินตนาการในการสร้างธุรกิจยา เขากล้าพอที่จะเสนอตัวเป็นนายจ้างเพื่อว่าจ้างเภสัชกรไว้เป็นลูกจ้างของเขา ยิ่งกว่านั้นยังมีสถานพยาบาลเอกชนอีกมากมายที่เป็นของนายทุนที่มิได้จบการศึกษาด้านเวชกรรม แต่เขาก็พร้อมที่จะเป็นนายจ้างที่จ้างแพทย์ชั้นนำของประเทศมาเป็นลูกจ้างของเขา โดยมีจินตนาการสร้างธุรกิจเครือข่ายโรงพยาบาลที่ยิ่งใหญ่ของเขาให้ปรากฏเห็นในสังคมไทยดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

ความสำเร็จของร้านขายยา อุตสาหกรรมยา และสถานพยาบาลเอกชน น่าจะเป็นตัวอย่างชัดแจ้งที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องของการตั้งคำถาม (จินตนาการ) ที่ทำให้ได้คำตอบดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ลองตั้งคำถามใหม่ดู วิชาชีพเภสัชกรรมอาจเปลี่ยนโฉมเลยก็ได้

ถ้าคำถามผิด เราจะไม่มีทางได้คำตอบที่ถูกเลย แต่ถ้าคำถามถูก คำตอบนั้นอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ ไม่เป็นไร ตราบใดที่คำถามยังถูกอยู่ เราก็มีทางที่เดินไปยังทิศทางของคำถามนั้นได้ ช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาก เรามีรัฐบาลที่เน้นเรื่องประชานิยมให้แก่ประชาชน เน้นการแก้ปัญหาจราจรด้วยการสร้างถนน เพิ่มรถเมล์ฟรี แต่ปัญหากลับมากขึ้น โดยเกิดบริการนอกระบบ มีรถตู้จอดริมถนนมากมาย มีวินมอเตอร์ไซค์แทบทุกซอกซอย ยิ่งเป็นการเพิ่มความคับคั่งให้การจราจรเสียอีก เป็นการเบียดเบียนสิทธิของประชาชนคนเดินเท้า แล้ววันดีคืนดีก็มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้แสดงเจตนาและปฏิบัติการอย่างจริงจังในการคืนผิวจราจรให้แก่ประชาชน ด้วยการจัดระเบียบของวินรถตู้ และวินมอเตอร์ไซค์เสียใหม่ให้มีการขึ้นทะเบียนจำกัดจำนวน และอำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งน่าจะเกิดจากผู้นำของคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ตั้งคำถามว่า “(แล้วเราจะ) คืนความสุขให้ประชาชน คืนความสุขให้เธอ... ประเทศไทย (ได้อย่างไร?)”

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธคำถามที่มักถามในวงการยาของเราว่า “ประชาชนจะเข้าถึงยาได้อย่างไร” แต่จะดีกว่าไหมถ้าวิชาชีพของเราจะตั้งคำถามเพิ่มเข้าไปอีกว่า “เภสัชกรจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีได้อย่างไร” แล้วบทบาทของวิชาชีพเภสัชกรรมบนเวทีการสาธารณสุขอาจเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมเลยก็เป็นไปได้... ทั้งนี้มีคำกล่าวที่น่าสนใจของ Paul Arden ที่เขียนไว้ในปกหนังสือเล่มหนึ่งว่า...

It’s not how good you are, it’s how good you want to be.