ภก.ผศ.ดร.สุภัสร์ สุบงกช

ภก.ผศ.ดร.สุภัสร์ สุบงกช

ประธานวิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย

การบริบาลที่มุ่งเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางโดยมีเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ประสาน

ยามีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ ยาจึงเปรียบเสมือนกับดาบสองคมที่สามารถช่วยชีวิตและทำอันตรายให้ถึงแก่ชีวิตได้ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่รู้จักวิธีการใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ที่สำคัญยาไม่ใช่ขนม การรับประทานยาอย่างถูกต้องและปลอดภัยจึงจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถทางด้านยาโดยเฉพาะมาร่วมดูแล เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสิ่งที่คุณได้รับเข้าไปในร่างกายนั้นมีประสิทธิผลและความปลอดภัยอย่างสูงที่สุด

ด้วยความตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญในคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจากการใช้ยา สภาเภสัชกรรมได้ออกข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยวิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546 และต่อมาได้มีการปรับปรุงในปี พ.ศ. 2551 จัดตั้งวิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย (ว.ท.) หรือ The College of Pharmacotherapy of Thailand (C.Ph.T.) ขึ้นเพื่อจะเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีหน้าที่หลักในการจัดฝึกอบรมและจัดสอบผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาเภสัชบำบัดให้สามารถขึ้นไปปฏิบัติวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยเฉพาะรายหรือผู้ป่วยข้างเคียงร่วมกับแพทย์และพยาบาล เนื่องจากปัจจุบันนี้วิวัฒนาการของโรคต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย และคนไข้อาจจะไม่ได้เป็นโรคใดโรคหนึ่งเพียงโรคเดียว แต่อาจจะมีโรคพื้นฐานอยู่หลายโรค การมีเภสัชกรเข้ามาช่วยในกระบวนการประสานข้อมูลยาจะช่วยให้การทำงานของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์เป็นไปอย่างสะดวก โดยใช้ข้อมูลหลักฐานอ้างอิงทางคลินิก หรือ Evidence-based medicine ในการวางแผนบริบาลผู้ป่วยด้านยา หรือที่เรียกว่าการบริบาลทางเภสัชกรรม รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการประกอบวิชาชีพด้านเภสัชบำบัด ศึกษาวิจัย และเผยแพร่ความรู้ด้านเภสัชบำบัดให้เป็นที่ยอมรับและรู้จัก สิ่งนี้ถือเป็นความคาดหวังที่ ภก.ผศ.ดร.สุภัสร์ สุบงกช ประธานวิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย ตั้งใจที่จะนำพาวิชาชีพเภสัชบำบัดให้ก้าวหน้าต่อไป

ภก.ผศ.ดร.สุภัสร์ สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาเภสัชกรรมคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2537 และสำเร็จการศึกษา Doctor of Pharmacy (Pharm.D.) จาก University of Iowa เมือง Iowa City ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2543 หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อในระดับ Residency/Fellowship ด้าน Hematology/Oncology and Clinical Research ที่ Rush University Medical Center เมือง Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับวุฒิบัตร Board Certified Pharmacotherapy Specialist (BCPS) และ Board Certified Oncology Pharmacist (BCOP) จาก Board Pharmaceutical Specialties ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นยังได้รับอนุมัติบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญด้านเภสัชบำบัดจากวิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทยอีกด้วย

สำหรับจุดเริ่มต้นของการเข้ามาสู่ ว.ท. นั้น ภก.ผศ.ดร.สุภัสร์ เล่าว่า เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ผู้มีคุณูปการในทางเภสัชกรรม ได้แก่ อดีตคณบดีของคณะเภสัชศาสตร์หลายท่าน เช่น ภก.ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ และ ภก.ศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย ได้ก่อตั้งศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) และจัดทำโครงการพัฒนาการศึกษาด้านเภสัชกรรมคลินิกขึ้นและสรรหาเภสัชกรรุ่นใหม่เข้าไปเรียนทางด้านเภสัชบำบัดหลาย ๆ สาขาในต่างประเทศ เพื่อที่จะได้กลับมาพัฒนางานเภสัชกรรมบำบัดและผลักดันให้เกิดวิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทยขึ้น ซึ่งในวาระแรกของวิทยาลัยได้รับเกียรติจาก ภญ.รศ.ดร.เฉลิมศรี ภุมมางกูร เป็นผู้บุกเบิกและเป็นประธานวิทยาลัยในสมัยแรก ผมเป็นหนึ่งในบุคลากรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไปศึกษาต่อต่างประเทศทางด้านเภสัชบำบัดโดยตรงเพื่อที่จะกลับมารับใช้ประเทศชาติ และเป็นสื่อกลางที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการพัฒนาวิชาการหรือวิชาชีพ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาเป็นเภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเภสัชบำบัดทั้งหมด 41 ราย และมีผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาอยู่ในระบบอีก 110 ราย คาดว่าในอนาคต ว.ท. จะเป็นองค์กรที่เป็นศูนย์กลางการติดต่อและแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับเภสัชกรทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเรามีความคาดหวังที่จะเป็นตัวแทนและเป็นผู้ชี้นำพฤติกรรมการใช้ยาที่เหมาะสมของเภสัชกรในประเทศไทย

ภก.ผศ.ดร.สุภัสร์ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินงานของ ว.ท. ให้ฟังต่อว่า ปัจจุบันวิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทยมีคณะผู้บริหาร ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 11 ท่าน พร้อมคณะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์จำนวน 6 ท่าน รวมทั้งสิ้น 17 ท่าน ดำเนินการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบ วิชาชีพเภสัชกรรม สาขาเภสัชบำบัด โดยมีสถาบันหลักที่ได้รับการรับรองจากสภาเภสัชกรรมในการจัดฝึกอบรมรวม 6 แห่ง ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมแบ่งออกเป็นวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาเภสัชบำบัด แบ่งเป็นระยะเวลาในการฝึกอบรม 4 ปี ซึ่งวิธีการฝึกอบรมประกอบด้วย ภาคทฤษฎีจำนวน 10 หน่วยกิต ภาคปฏิบัติ ปฏิบัติการและฝึกปฏิบัติงานในสาขาเภสัชบำบัด ในสถาบันฝึกอบรมของสภาเภสัชกรรมจำนวน 91 หน่วยกิต และการทำวิจัยจำนวน 32 หน่วยกิต โดยผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในปีที่ 1 จะได้รับประกาศนียบัตร General Residency in Pharmacotherapy ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในปีที่ 3 จะได้รับประกาศนียบัตร Specialized Residency in Pharmacotherapy และผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในปีที่ 4 จะได้รับประกาศนียบัตร Specialized Fellowship in Pharmacotherapy นอกจากนี้ ว.ท. ยังมีหลักสูตรประกาศนียบัตรการฝึกอบรมระยะสั้น 4 เดือน อีกหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตรบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยมะเร็ง หลักสูตรการบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก หลักสูตรการตรวจติดตามระดับยาในเลือด หลักสูตรบริบาลทางเภสัชกรรมในโรคเอดส์ เป็นต้น สำหรับหลักสูตรวุฒิบัตรได้มีการปรับให้มีความคล่องตัวกับผู้ฝึกอบรมโดยผู้เข้าฝึกอบรมที่ไม่สามารถเข้าฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง สามารถเข้าฝึกอบรมในชั้นปีที่ 1 เมื่อผ่านการประเมินผลจะได้รับประกาศนียบัตร General Residency in Pharmacotherapy และเมื่อพร้อมสามารถกลับเข้ามาฝึกอบรมต่อในชั้นปีที่ 2 และ 3 ได้ โดยจะได้รับประกาศนียบัตร Specialized Residency in Pharmacotherapy ในสาขาที่ฝึกอบรม หากเข้าฝึกอบรมต่อในชั้นปีที่ 4 จะได้รับประกาศนียบัตร Specialized Fellowship in Pharmacotherapy ในสาขาที่ฝึกอบรมและทำวิจัย ดังนั้น ผู้ที่เข้าฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง เมื่อผ่านการประเมินผลทั้งหมดจะได้รับวุฒิบัตรสาขาเภสัชบำบัด โดยสภาเภสัชกรรมได้รับรองให้วุฒิบัตรมีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าปริญญาเอก สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์แต่ไม่สามารถเข้าเรียนในหลักสูตรวุฒิบัตรก็สามารถเข้ารับการประเมินเพื่อขออนุมัติบัตรได้

“ในปัจจุบันจำนวนเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชบำบัดที่เราผลิตได้ในแต่ละปีถือว่าไม่เพียงพอ สาเหตุหลักคืออัตรากำลังเภสัชกรที่ทำงานในแต่ละแห่งยังมีจำนวนน้อยทำให้ไม่สามารถลามาเพื่อศึกษาต่อได้ ซึ่งทางวิทยาลัยเองก็ได้หาหลาย ๆ มาตรการที่จะช่วยทำให้เภสัชกรได้เข้าถึงการเข้าสู่ความเชี่ยวชาญ เช่น พิจารณาขั้นตอนในการลดระยะเวลาในการขอเข้าสอบอนุมัติบัตร สำหรับเภสัชกรที่ไม่สามารถเข้ามาเรียนในหลักสูตรและยังไม่เข้าเกณฑ์การขออนุมัติบัตร วิทยาลัยมีหลักสูตรระยะสั้นเภสัชบำบัดและการบริบาลเภสัชกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้เภสัชกรเข้ามาฝึกอบรมกับวิทยาลัยเป็นระยะเวลา 4 เดือน เพื่อกลับไปเปิดงานบริบาลทางเภสัชกรรมสาขาเน้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่วิทยาลัยพยายามปรับให้เข้ากับรูปแบบของนโยบาย National Service Plan โดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งโรงพยาบาลจะต้องสามารถรองรับการบริบาลโรคเฉพาะทาง 10 สาขา นโยบายนี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ระดับผู้บริหารจะต้องส่งเภสัชกรเข้ามาฝึกอบรมเพื่อให้กลับไปทำงานสาขาต่าง ๆ ทำให้ความต้องการทางด้านนี้มีมากขึ้น และจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วมากขึ้น”

ภก.ผศ.ดร.สุภัสร์ กล่าวถึงหัวใจสำคัญของคนที่จะมาทำงานด้านเภสัชบำบัดด้วยว่า อันดับแรกคือ ต้องมี service mind มีหัวใจรักบริการ ชอบงานบริการ ยินดีที่จะทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย และสามารถทำงานเป็นผู้ประสานงานการรักษาได้ดี เนื่องจากเราจะต้องทำงานโดยใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางโดยมีเภสัชกรมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยในกระบวนการรักษา การตัดสินใจและช่วยประสานสื่อสาร ซึ่งเราคาดหวังว่าเราจะเป็น Total Solution ให้แก่ผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล คนไข้ที่ต้องการยาดีมีคุณภาพให้วิ่งตรงมาที่เภสัชกร หรือแม้กระทั่งกรณีมีปัญหาเรื่องยาที่ขึ้นทะเบียนยาใหม่ หรือยาขาด เราไม่ได้แค่ดูแลอยู่ในเฉพาะห้องยา แต่เราควรทำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจว่าได้รับประทานยาอย่างมีคุณภาพ มีวิธีรับประทานยาที่เหมาะสม การันตีได้ว่าหลังจากรับประทานยาแล้วผู้ป่วยต้องมีผลสัมฤทธิ์ของการรักษาที่ดี และหายขาดหรือปราศจากอาการ ผู้ป่วยจะได้ไม่กลับมาหาเราอีกด้วยปัญหาเดิม ถ้าเภสัชกรที่ทำงานทางด้านนี้มีจำนวนมากเพียงพอ ในอนาคตเราก็จะสามารถแบ่งไปตามสาขาเฉพาะทางเหมือนกับวิชาชีพเฉพาะทางสาขาอื่น ๆ นอกจากนี้อีกบทบาทหนึ่งที่แม้ว่าขณะนี้เรายังไม่มีบทบาทมากนักแต่เราก็อยากทำนั่นคือ การจัดกิจกรรมทางสังคม ตอนนี้เราคิดว่าบุคลากรของเราเริ่มมีจำนวนมากขึ้น และเราคิดว่าเราสามารถช่วยในการชี้นำให้ความรู้ ถ้ามีองค์กรวิชาชีพใด ๆ ที่ต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านยาเข้าไปให้ความรู้ในฐานะวิทยากร หรือผู้ฝึกอบรม รวมถึงเข้าไปช่วยจัดตั้งหรือเปิดงานด้านเภสัชกรรมคลินิก วิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทยก็ยินดีที่จะเข้าไปช่วยผลักดันให้งานเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะเราคงไม่ได้ตั้งรับแต่เฉพาะแค่การฝึกอบรมเภสัชกรเพียงอย่างเดียว แต่เรายังอยากเป็นกระบอกเสียงของประชาชน และเป็นตัวแทนของวิชาชีพในแง่ของการชี้นำ การทำให้เกิดมาตรฐานและทำให้เกิดการยอมรับของสังคม ซึ่งผมคิดว่าอาจต้องใช้เวลาหลายปี แต่อย่างน้อยเราก็มีความฝันและเราก็ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์

ภก.ผศ.ดร.สุภัสร์ กล่าวย้ำตอนท้ายด้วยว่า วิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทยเราเน้นที่ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่เราไม่ได้เริ่มต้นด้วยงาน แต่เราเริ่มต้นด้วยผู้ป่วย ทั้งนี้เรายึดผู้ป่วยเป็นหลักคู่ขนานไปกับบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ โดยเราคาดหวังว่าคุณภาพการบริการจะถูกเสริมด้วยเภสัชกรให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการช่วยประสาน ลดความซ้ำซ้อน ลดปริมาณงานของพยาบาล และประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่ทางโรงพยาบาล และผลสุดท้ายที่ได้คือ คนไข้รักษาหายขาด อันนี้คืองานของเรา เป็นงานที่ท้าทาย และสิ่งที่จะทำให้ท้าทายมากกว่านี้คือ การที่จะผลักดันให้เภสัชกรคนอื่น ๆ ออกมาเป็นแนวร่วมกับเราด้วย สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นสิ่งเราจะทำในอนาคต