สัญญาจ้างให้ตั้งท้องแทน

ภก.วิสุทธิ์ สุริยาภิวัฒน์

สัญญาจ้างให้ตั้งท้องแทน

กฎหมายครอบครัวของไทยกำหนดไว้ว่า “เด็กเกิดจากหญิงใดก็ย่อมเป็นบุตรของหญิงนั้น” แล้วมีการแก้ไขเล็กน้อยในปี พ.ศ. 2551 ว่า “เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” เพื่อเปิดช่องให้แม่ที่มาจ้างแม่อุ้มบุญได้เป็นแม่ที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กนั้น ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางแพทยสภาได้ออกประกาศแพทยสภาอยู่ 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1/2540 เรื่องมาตรฐานการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งมีการกำหนดชัดเจนว่าผู้ที่จะสามารถดำเนินการได้ต้องเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ผ่านการอบรมและรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ และผู้ที่จะได้รับการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จะต้องเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องการมีบุตรยาก ส่วนหญิงที่รับอุ้มบุญจะต้องผ่านการคลอดบุตรมาแล้ว อายุระหว่าง 20-34 ปี มีสุขภาพแข็งแรง เพื่อให้การตั้งครรภ์และคลอดบุตรไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเองและทารกที่จะคลอดออกมา และจะต้องเป็นญาติโดยสายเลือด แต่มิใช่เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีภรรยาที่ประสงค์จะมีบุตร และต่อมาทางแพทยสภาก็ได้ออกประกาศแพทยสภาฉบับที่ 21/2545 เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (ฉบับที่ 2) โดยกำหนดเงื่อนไขว่า การอุ้มท้องแทนกัน (อุ้มบุญ) นั้นจะต้องไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่หญิงที่ตั้งครรภ์แทนในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นการรับจ้างตั้งครรภ์ และหญิงที่ตั้งครรภ์แทนจะต้องเป็นญาติโดยสายเลือดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ปัญหาทางด้านกฎหมายที่ต้องพิจารณาอาจมองได้หลายด้านคือ หากจะมองในด้านของสัญญาจ้างให้ตั้งท้องแทนจะเป็นเรื่องของสัญญาจ้างทำของ เป็นการจ้างที่หวังผลสำเร็จของการตั้งครรภ์ ซึ่งก็คือตัวทารก ในมุมของสัญญาจ้างทำของต้องดูกันที่วัตถุประสงค์ว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ถ้าขัดก็ถือว่าสัญญาจ้างทำของนั้นเป็นโมฆะ เช่น สัญญาที่จ้างให้ฝากเด็กเข้าทำงานโดยทุจริต สัญญาจ้างให้ไปฆ่าคน ย่อมบังคับกันไม่ได้ ปัญหาเรื่องอุ้มท้องแทนกันคือ เมื่อผลิตเด็กทารก (สินค้า) ออกมาได้แล้ว ใครเป็นผู้มีสิทธิในสินค้านั้น ยิ่งหากสินค้าที่ผลิตนั้นไม่ได้คุณภาพหรือมาตรฐานตามที่กำหนด เจ้าของเชื้อและไข่มีสิทธิบอกปัดไม่รับนั้นได้หรือไม่ อีกประเด็นที่เป็นปัญหาคือ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นการหาผลประโยชน์จากเด็กทารกที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นการผิดกฎหมายการค้ามนุษย์ด้วยหรือไม่ จึงเห็นได้ว่าหากมีสัญญาจ้างการอุ้มท้องแทนโดยการชักนำ โดยมีสินจ้างค่าตอบแทน ย่อมเป็นการขัดต่อกฎหมายอันทำให้สัญญาจ้างอุ้มท้องนี้เป็นโมฆะ บังคับตามกฎหมายไม่ได้ ยังผลให้ผู้ว่าจ้าง ผู้ทำการผสมเทียม และผู้รับจ้างมีความผิดต่างกรรมกัน

 

การอุ้มบุญในมุมของทางการแพทย์

การอุ้มบุญทางการแพทย์มี 2 ชนิด ชนิดแรกคือ “อุ้มบุญแท้” (Full surrogacy หรือ Traditional surrogacy) คือการใช้น้ำเชื้อจากฝ่ายชายของคู่ที่ต้องการมีบุตรผสมกับไข่ของแม่ผู้อุ้มบุญ และฉีดฝังในมดลูกของคุณแม่อุ้มบุญ ซึ่งคุณแม่ผู้อุ้มบุญแท้คือผู้ที่ให้ทั้งไข่และมดลูก อีกชนิดหนึ่งคือ “อุ้มบุญเทียม” (Partial surrogacy หรือ Gestational carrier) คือการนำเชื้อและไข่จากคู่คุณพ่อคุณแม่ที่แท้จริง แล้วจึงฝากไข่ที่รับการผสมเรียบร้อยแล้วเข้าไปในตัวของคุณแม่อุ้มบุญ ผู้จะทำหน้าที่เป็นผู้ตั้งครรภ์แทนจนกว่าทารกจะคลอดออกมา ซึ่งปัจจุบันการอุ้มบุญเทียมเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากกว่าการอุ้มบุญแบบแรก ทั้งสองกรณีนี้ผู้ที่ทำหน้าที่ผสมเทียมให้คือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ไปทำการผสมให้เชื้ออย่างเดียว หรืออาจเป็นทั้งเชื้อและไข่ในมดลูกของหญิงผู้ให้ความยินยอมคนหนึ่ง เพื่อให้เชื้อและไข่นั้นกำเนิดเป็นเด็กทารกในที่สุด แต่จะอย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย “การรับจ้าง” อุ้มบุญถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

การอุ้มบุญนี้มีมานานแล้วในวงการแพทย์และสังคมไทย แต่เริ่มมีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2557 นี้ เมื่อปรากฏเป็นข่าวดังระดับโลกเกี่ยวกับกรณีการอุ้มบุญของหญิงไทยรายหนึ่ง (น้องแกรมมี่) ที่รับจ้างตั้งครรภ์แทนคู่สามีภรรยาชาวออสเตรเลีย ที่หญิงไทยรายนี้ได้คลอดลูกออกมาเป็นทารกแฝดชายหญิง คู่สามีภรรยาชาวออสเตรเลียรับเฉพาะทารกหญิงไปเลี้ยงดูในประเทศตน โดยทิ้งทารกชายซึ่งเป็นดาวน์ซินโดรมไว้ให้แก่หญิงไทยที่รับอุ้มบุญ เป็นการดำเนินการเป็นธุรกิจ ผ่านบริษัทตัวแทนหรือเอเยนซี ข่าวดังกล่าวแพร่สะพัดไปจนสร้างความไม่พอใจไปทั่วทั้งประเทศไทยและออสเตรเลีย จนนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียออกมาแถลงประณามกรณีนี้ แต่ก็ยังมิอาจมีข้อสรุปได้ว่าจะดำเนินการต่อไปให้เสร็จสิ้นกระบวนความได้อย่างไรกับทารกที่เกิดจากการอุ้มบุญนี้ว่าใครกันแน่ที่ต้องรับผิดชอบต่ออนาคตของเด็กคนนี้ ในระหว่างนี้เองก็มีข่าวใหญ่อีกประเด็นหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อชายชาวญี่ปุ่นวัย 24 ปี จ้างให้แพทย์ไทยทำการอุ้มบุญเด็กทารกเป็นจำนวนถึง 10 กว่าคน จึงเกิดความสงสัยว่าชายหนุ่มญี่ปุ่นคนนี้ต้องการเด็กทารกจำนวนมากนี้ไปด้วยวัตถุประสงค์อันใด มองในด้านดีคือเขาเป็นคนรักเด็ก หรือเขาต้องการให้เป็นทายาทเพื่อบรรเทาภาษีมรดกให้น้อยลง หรือมองอีกด้านซึ่งร้ายแรงมากคือเป็นการค้าเพื่อเอาอวัยวะของเด็กหรือไม่ จะมองด้านใดก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมของผู้ว่าจ้าง และผิดจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้รับจ้างอย่างร้ายแรง นอกจากความเสียหายต่อชื่อเสียงของหญิงไทยที่ยอมตั้งท้องเพื่อแลกกับเงินตราเท่านั้น ศักดิ์ศรีของหญิงไทยและศักดิ์ศรีของแพทย์ไทยย่อมทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยเสียหายในเวทีโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อันที่จริงเรื่องธุรกิจอุ้มบุญในประเทศไทยมีมานานแล้ว ที่ร้ายแรงมากคือมีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเปิดรับธุรกิจอุ้มบุญอย่างชัดแจ้ง โดยการเลี่ยงใช้ถ้อยคำที่เป็นการแฝงโฆษณาไว้ทั้งติดเป็นป้าย แผ่นพับ หรือหน้าเว็บไซต์ เป็นการชักชวนเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจให้เข้ามาสอบถามในโรงพยาบาลของตน โดยอ้างว่าเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชน เกี่ยวกับเรื่องนี้ประเทศไทยได้เป็น Hub ของธุรกิจอุ้มบุญมานานแล้ว แม้การรับจ้างอุ้มบุญจะเป็นธุรกิจ (ของสถานพยาบาล) ที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ก็สามารถพบเห็นได้เมื่อค้นหาคำว่า “อุ้มบุญ” ใน Google ที่ประกาศรับสมัครหญิงอุ้มบุญ กำหนดอายุ สุขภาพ กรุ๊ปเลือด สีผิว การศึกษา ภูมิลำเนา และรายละเอียดอื่น ๆ ยิบย่อยไม่แพ้รายละเอียดอย่างการทำประกันชีวิต มีการประกาศให้ค่าจ้างเป็นหลักแสนเป็นการล่อตาล่อใจให้มารับจ้างตั้งครรภ์ ซึ่งอาจมีเงินเดือนให้และจ่ายเงินพิเศษเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่เมื่อฝังตัวอ่อน ครบ 3 เดือน 6 เดือน จนกระทั่งคลอด ผู้รับจ้างทั้งแพทย์และสถานพยาบาล รวมทั้งหญิงที่รับอุ้มท้องต่างก็ได้รับเงินจำนวนงาม ส่วนผู้ว่าจ้างก็เพียงรอเวลาให้ครบ 9 เดือนเพื่อรับสินค้าที่ผลิตออกมาเสร็จเรียบร้อย โดยไม่ต้องเปลืองแรง แต่อาจจะเปลืองเงินบ้างเท่านั้น

การผูกพันด้วยตัวเงินย่อมไม่สามารถก่อความสัมพันธ์เท่าความผูกพันทางสายเลือดได้ การรับจ้างอุ้มท้องโดยถือว่าเป็นสัญญาว่าจ้างทำของจึงเป็นเรื่องไม่สมควร เป็นการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เหลือเพียงแค่สินค้าชิ้นหนึ่งที่ใครใคร่ผลิต ใครใคร่ซื้อขายก็สามารถกระทำได้ ยิ่งหากปล่อยให้มีการดำเนินเป็นธุรกิจผลิตมนุษย์ มนุษย์พันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นมาในโลกอนาคตก็จะเป็นเพียงสินค้าชนิดหนึ่ง แล้วผลที่ตามมาพร้อมกับปัญหาที่ไม่คาดคิดก็จะตามมาอีกมากมาย จนอาจเป็นการทำลายมนุษยชาติได้ในที่สุด จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สังคมไทยจำต้องหันมาพิจารณาให้รอบคอบระหว่างวิถีชีวิตคนในสังคม 70 กว่าล้านคน ให้ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีอันดีงามของไทยสามารถขับเคลื่อนดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ทั้งนี้อาจอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือทางวิศวกรรมสังคมในการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ การก้าวทันของกฎหมายกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับระบบทุนนิยมในการหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มสร้างความเสียหายต่อวงการสาธารณสุขไทย ซึ่งแน่นอนรวมถึงแพทย์ไทยด้วย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่หลาย ๆ ฝ่ายต้องคำนึงถึงและรู้เท่าทัน เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและบทลงโทษทางกฎหมายที่รัดกุมและเคร่งครัดต่อไป
อะไรคือตัวทำลายจรรยาบรรณวิชาชีพ

กิจการในการขายสินค้า ขายบริการถือว่าเป็นธุรกิจทางพาณิชย์ ดังคำบัญญัติในพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ว่า “ธุรกิจ” หมายความว่า กิจการในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน; สินค้า” หมายความว่า สิ่งของที่อาจใช้ในการอุปโภคหรือบริโภค รวมทั้งเอกสารแสดงสิทธิในสิ่งของ; บริการ” หมายความว่า การรับจัดทำการงาน การให้สิทธิใด ๆ การให้ใช้หรือให้ประโยชน์ในทรัพย์สินหรือกิจการใด ๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงิน หรือผลประโยชน์อื่น ดังนั้น การขายยา การบริการด้านความสวยความงาม การทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ การรักษาพยาบาลบุคคลที่อยู่ในกองทุนบำเหน็จข้าราชการ ประกันสังคม กิจการด้านสถานพยาบาลเอกชน เหล่านี้ล้วนเป็น “ธุรกิจ” ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการทั้งสิ้น ธุรกิจเหล่านี้หากกระทำอยู่ภายใต้กฎหมายและปฏิบัติโดยบุคลากรที่มีคุณธรรม มีจรรยาบรรณที่ดีย่อมจะยังประโยชน์สู่ประชาชนและผู้บริโภคได้ เป็นการบรรเทาทุกข์บำรุงสุขแก่สังคมโดยรวม แต่ด้วยมีคนกลุ่มหนึ่งในระบบทุนนิยมนำข้อได้เปรียบของตนเองไปแสวงหาผลประโยชน์ (บนความทุกข์ของประชาชน) โดยสร้างกลไกเหล่านี้ให้ตกอยู่ภายใต้สภาวะของ “เชิงพาณิชย์” (Commercialization) วางแผนเพียงแต่จะทำกำไรให้สูงที่สุดจากระบบที่ดีอยู่แล้ว ทั้งการขายสินค้าและขายบริการด้วยการโฆษณาชวนเชื่อด้วยการให้ความจริงเพียงด้านเดียว การสร้างกระบวนการด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาหาผลประโยชน์จนเกินงาม นอกจากผู้ใช้สินค้าหรือบริการจะไม่ได้รับประโยชน์อันสมควรแล้ว บ่อยครั้งยังเป็นโทษเป็นภัยต่อผู้ใช้สินค้าและบริการนั้นด้วยซ้ำไป

การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) คือช่วงเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1750-1850 การเกิดอุตสาหกรรมในประเทศอังกฤษจนนำไปสู่การผลิต “เชิงอุตสาหกรรม” (Industrialization) ทั่วทั้งโลก ทำให้มนุษย์มีการล้างผลาญทรัพยากรของโลกอย่างมากมาย จนถึงขั้นล่าเมืองขึ้นเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาตินำไปผลิตเป็นสินค้าป้อนให้แก่ระบบอุตสาหกรรม นอกจากทำลายแหล่งวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ สินแร่ต่าง ๆ แล้ว การผลิตเชิงอุตสาหกรรมยังสร้างมลพิษทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตอย่างร้ายแรง ต่อมาลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มทำการค้าการพาณิชย์ให้เป็น “เชิงพาณิชย์” (Commercialization) ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่พึ่งพาตนเอง (self-sufficient economy) นั้นเปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจที่มีการซื้อขายขึ้นแทนด้วยการใช้เงินตราเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน มนุษย์จึงได้ค้นหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อที่จะแสวงหาความมั่งคั่ง (wealth) สินค้าและบริการทุกอย่างจึงอยู่ภายใต้เชิงพาณิชย์ งานศิลปะ (ดนตรี เพลง บทประพันธ์ ฯลฯ) ด้านการสาธารณสุข (วิธีการรักษาโรค ยาตัวใหม่ ๆ เครื่องมือแพทย์ สถานพยาบาล) การบันเทิง (รายการที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ ข่าวสาร การถ่ายทอดรายการกีฬาเกือบทุกชนิด) สิ่งที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติทั้งหลายล้วนตกอยู่ภายใต้ “เชิงพาณิชย์” ที่ต้องมีค่าตอบแทนจึงจะซื้อหาได้

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและจะรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้ การผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งการผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขมีลักษณะเป็นเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์มากขึ้นและมากขึ้น ทั้งสองตัวการใหญ่นี้จะเป็นตัวทำลายจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ดังที่ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาประสบอยู่ทุกวันนี้ และกำลังลามเป็นมหันตภัยสู่มนุษยชาติทั่วโลก แต่เป็นความโชคดีอย่างมากของประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเตือนสติคนไทยไว้นานแล้วว่า จะดำรงชีวิตบนวิถีแห่ง “เศรษฐกิจพอเพียง” แล้วทุกคนก็จะมีกินมีใช้ มีสุขได้ตามสมควร ส่วนในด้านของวงการสาธารณสุข วงการสาธารณสุขของไทยแม้มีการประกอบวิชาชีพที่ย่างก้าวสู่ “เชิงพาณิชย์” มากขึ้นทั้งในด้านของสถานพยาบาลเอกชนและบุคลากรด้านการแพทย์ แต่ก็ยังมีบุคลากรทางสาธารณสุขอีกจำนวนมากยังคงน้อมรำลึกตระหนักถึงคำสอนของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่พระองค์ท่านเน้นย้ำให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการสาธารณสุขให้ประกอบวิชาชีพอย่างมีความรู้สึกรัก โดยบรรเทาทุกข์บำรุงสุขให้แก่เพื่อนมนุษยชาติ ด้วยโอวาทที่ว่า...

"ฉันไม่ได้ต้องการให้เธอเป็นเพียงหมออย่างเดียวเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้เธอเป็นคนด้วย"

บรรณานุกรม

1. “อุ้มบุญ? อุ้มบาป?”; ลอว์นิวส์ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์; ฉบับที่ 16, 16-31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

2. “ค่านิยมอุ้มบุญผิดกฎหมาย สะเทือนวงการแพทย์ไทย”; ข่าวสภาทนายความ ปีที่ 2 ฉบับที่ 8 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557