ปวดกล้ามเนื้อ ใครคิดว่าไม่สำคัญ


ปวดกล้ามเนื้อ ใครคิดว่าไม่สำคัญ

หลายคนเมื่อประสบกับภาวะความปวด ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเลือกรับมือกับความปวดด้วยการทน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เดี๋ยวก็หายไปเอง หรือคาดไม่ถึงว่าอาการเจ็บปวดอาจลุกลามไปสู่โรคอื่น ๆ ที่ร้ายแรง หรือถ้าหากปล่อยให้อาการปวดดำเนินอย่างต่อเนื่อง หรือเกิดซ้ำอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลามากกว่า 3 เดือนก็อาจกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังไปได้ ทั้งนี้อาการปวดกล้ามเนื้อก็จะมีตั้งแต่ อาการปวดกล้ามเนื้อเฉพาะจุด (Myofascial Pain Syndrome: MPS) หรืออาการปวดเรื้อรังบริเวณกล้ามเนื้อแบบกระจายทั่วร่างกาย (Fibromyalgia: FMS) ซึ่งในวันนี้เราจะมารู้จักกับสัญญาณของโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงานกัน นั่นคือ อาการปวดตึงบ่า สะบัก ต้นคอ จนบางครั้งอาจทำให้นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท และเมื่อตื่นนอนแล้วก็ไม่สดชื่น มีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ตาพร่ามัว

สาเหตุสำคัญเกิดจากการใช้งานมัดกล้ามเนื้อเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง อาจจะเนื่องมาจากการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ การเล่นกีฬาโดยใช้กล้ามเนื้อเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน เมื่อใช้กล้ามเนื้อเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อจะเกร็งตัวสะสมจนเกิดเป็นก้อนเนื้ออักเสบที่เรียกว่า “ทริกเกอร์ พอยท์” (Trigger Points) อันเป็นตัวการนำไปสู่โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ซึ่งอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังเฉพาะจุดมิได้เกิดกับหนุ่มสาววัยทำงานเท่านั้น แต่เกิดได้กับผู้คนแทบทุกวัยหากทำกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น ขับรถ หรือเล่นกีฬา นอกจากนี้ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจก็ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดด้วย

สำหรับแนวทางการป้องกันและบรรเทา ได้แก่

1. การวางท่าทางให้ถูกต้อง ตำแหน่งที่พบอาการปวดได้บ่อยคือ คอ ศีรษะ และหลัง แนวทางการป้องกันและบรรเทาคือ ให้เลือกท่าที่เหมาะสมที่สุด เช่น นั่งในท่าที่รู้สึกสบาย เพื่อจะได้ใช้กล้ามเนื้อได้นานโดยไม่เมื่อย และอย่าใช้กล้ามเนื้อต่อเนื่องนานเกินไป เช่น ถ้าทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ เมื่อผ่านไปสักหนึ่งชั่วโมง ให้ลุกไปเข้าห้องน้ำ ไปยืดกล้ามเนื้อ ยืดไหล่ หรือบริหารคอเสียบ้าง เพื่อสุขภาพที่ดีของกล้ามเนื้อ

2. ดูแลสภาพร่างกายให้สมบูรณ์เมื่อรู้สึกอ่อนเพลีย หรือเมื่อยล้า แนวทางการป้องกันและบรรเทาคือ ให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้แก่กล้ามเนื้อ และผ่อนคลายความตึงเครียด

3. บำบัดความเครียด ความเครียดเป็นสาเหตุให้เกิดความวิตกกังวล นอนไม่หลับ บางรายอาจเกิดอาการเบื่อ ท้อแท้ ซึมเศร้า หดหู่ แนวทางการป้องกันและบรรเทาคือ ควรทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด เช่น ฝึกสมาธิ นวดแผนไทย เล่นโยคะ หรือทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ เพื่อให้สมองและร่างกายได้ผ่อนคลาย

ความปวดเรื้อรังถือว่าเป็น “ปัญหา” ชนิดหนึ่งที่ไม่ควรละเลยมองข้าม เพราะนอกจากจะบั่นทอนสุขภาพร่างกาย จิตใจ และคุณภาพชีวิตแล้ว แต่ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และการทำงานด้วย